ศาลรัฐธรรมนูญเคาะ! พิธาไม่พ้นตำแหน่ง สส. เหตุ ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว

24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดลงมติคดี “ถือหุ้นสื่อ ITV” ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งถูกต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งกำหนดว่า สมาชิกภาพของ สส. จะสิ้นสุดลงถ้ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 เช่น มาตรา (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8:1 เสียง วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. พิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน พิธาจึงไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส. ของพิธาจึงไม่สิ้นสุดลง โดยตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เห็นว่าสมาชิกภาพ สส. ของพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

สำหรับที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 22 ของพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อกกต. ทำนองว่า พิธาครอบครองหุ้นสื่อ มีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งสส. ตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ระบุทำนองว่า การพิจารณาต้องใช้เวลา “ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงานก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา”

หลังจากนั้น กกต. ใช้เวลาเกือบเดือนในการพิจารณาปัดตกคำร้องของเรืองไกรและคำร้องที่เกี่ยวข้องอ้างเกินระยะเวลาของการร้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งที่หากเกินเวลาแต่แรกสามารถแจ้งผลได้ในทันทีเพราะไม่ได้เป็นการพิจารณาในรายละเอียด ทั้งนี้ได้รับเรื่องเป็นความปรากฏต่อกกต.และจะตั้งคณะกรรมการพิจารณา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนในประเด็นหุ้นไอทีวี กกต. ไม่เคยเรียกให้พิธาไปชี้แจงข้อเท็จจริง

พอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่จะนัดหมายโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสืบสวนฯ ก็รวบรวมข้อเท็จจริงได้มากพอ ทำให้วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 กกต.ประชุมพิจารณาว่า มีมูลพอที่จะส่งหรือไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวพรรคก้าวไกลคัดค้านว่า กกต. ยังไม่เคยเรียกพิธาไปชี้แจงเลย “มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ น่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่” ซึ่งทำให้บ่ายวันนั้นมีรายงานข่าวว่า กกต. เรียกพิธาไปชี้แจงด่วน แต่พรรคก้าวไกลระบุว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกชี้แจง และใน 31 ชั่วโมงก่อนหน้าการโหวตเลือกนายกฯ กกต.ก็มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพิธา

อ่านข่าวต้นทางจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://www.constitutionalcourt.or.th/…/article…