ชำแหละ 5 ปัญหาม. 112 เรียกร้องพรรคการเมืองถกเถียง ทัดทานการตีความมีปัญหาจากฝ่ายศาล

รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องไปให้การในฐานะพยานคดี 112 จำนวนมาก ระบุว่า คดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ได้รับเชิญให้เป็นพยานนั้นแบ่งเป็นสามกลุ่มได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมตามวิชาชีพและคดีในศาลรัฐธรรมนูญ “การกระทำที่เกี่ยวข้องกับ 112 ไม่ได้มีเฉพาะในคดีอาญาที่เข้าสู่กระบวนการ เราอาจจะเห็นกลุ่มใหญ่อย่างที่ตัวเลขรายงานว่า เป็นคดีอาญาจริงๆแต่ตัวเลขนั้นก็คือตัวเลขที่เป็นยอดพีระมิดลงมาแล้วเพราะว่าจะมีคดี 112 ที่เป็นคดีอาญาจำนวนมากกว่านั้นอีกที่อยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวน ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะยุติไปหรือว่าอาจจะยังไม่ได้เดินหน้าต่อไป ในส่วนของที่ผมถูก approach ในฐานะเป็นพยานของฝ่ายโจทก์ พนักงานสอบสวนก็ดี อัยการก็ดี ถ้าพูดตัวเลขกลมๆผมคิดว่าเกิน 90% ส่วนใหญ่แล้วก็ยุติไปตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน หมายถึงว่าให้ความเห็นว่าคดีแบบนี้เนี่ยไม่ได้เป็น [112] เท่าที่เข้าฟีดแบ็กกลับมาส่วนใหญ่มันก็มันก็ยุติไปแบบนั้น” เขาระบุว่า คดีที่ยุติไปในชั้นสอบสวน เช่น คดีที่นักเรียนมีการแปลงเพลงและคดีของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

นอกจากคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ฟ้องเป็นคดีอาญาแล้วยังมีเรื่องจริยธรรมอย่างกรณีของอานนท์ นำภาในสภาทนายความและคดีของช่อ-พรรณิการ์ วานิช และคดีอีกกลุ่มหนึ่งในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคดีการเมืองโดยตรง “การที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ ซึ่งการให้ขอความเห็นทางกฎหมายก็อาจจะแตกต่างกัน” รณกรณ์อธิบายถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มีปัญหาห้าประการได้แก่ การตีความบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง อัตราโทษหนัก การตีความการกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 โดยกว้าง องค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกันแต่กลับวางอัตราโทษเท่านั้นและการปิดช่องไม่ให้วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ในตอนท้ายได้เรียกร้องให้พรรคการเมืองในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติยกปัญหาเหล่านี้มาพูดคุย ทัดทานการใช้มาตรา 112 ที่มีปัญหาของฝ่ายตุลาการ รายละเอียดดังนี้

หนึ่ง มาตรา 112 ตีความขยายการคุ้มครองบุคคล

“ผมคิดว่าหัวใจของเราวันนี้กฎหมายมาตรา 112 ที่เราคุยกันแน่นอนมันคงมีปัญหาอื่นของเมืองไทยแต่ว่าวันนี้ที่เราคุยกันเนี่ยของมาตรา 112 ผมคิดว่ามันมีปัญหาอย่างน้อยๆ สองส่วนคือส่วนของตัวบทมาตราเองก็มีปัญหา ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาผมคิดว่ามาตรา 112 มีปัญหา ถ้าใครบอกไม่มีปัญหาเลยเมื่อก่อนไม่เห็นใช้เลย แต่ตัวมันมีปัญหา ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ทัศนคติในการปรับใช้ หรือว่าการตีความกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีอำนาจก็อันนี้ก็ เราเห็นสะท้อนจากหลายคำพิพากษาก็มีปัญหา ไม่ต้องว่าพูดถึงอัยการตำรวจเลย แม้แต่คนที่ถูกคาดหมายว่าจะต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างพวกศาลก็อาจจะตีความมาตรา 112 ได้อย่างหน้าได้อย่างน่าสงสัยพอสมควร”

“มาตรา 112 เป็นมาตราที่มีไว้เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ โดยปกป้องบุคคล 4 สถานะก็คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนพระองค์ อันนี้หมายถึงรีเจ้นท์ ในกรณีที่พระองค์ไม่อยู่ในประเทศหรือว่ามีเหตุอะไรต่างๆก็จะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญ ก็คุ้มครองคน 4 คนนี้มากกว่ากรณีการหมิ่นประมาททั่วไปคุ้มครอง 4 คนนี้คุ้มครอง 3 การกระทำ เอาประเด็นเรื่องคนก่อน 4 คนนี้ศาลไทยตีความแทนที่จะตีความอย่างเคร่งครัดว่าคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ราชินีองค์ปัจจุบัน รัชทายาทคนปัจจุบัน หรือรีเจนท์คนปัจจุบัน แต่ศาลพยายามตีความตั้งแต่ปี 56 ซึ่งเป็นคดีแรกที่ผมเข้าใจว่าศาลฎีกาตีความไปไกลถึงขนาดว่าเป็นรัชกาลก่อนๆ เชื่อมโยงกันไปพูดถึงรัชกาลนั้นก็จะไปถึงรัชกาลนี้ ผมว่าอันนี้มีปัญหาพอสมควรในการใช้การตีความกฎหมาย กฎหมายอาญาต้องตีความเคร่งครัด…ถ้าเราจะขยายความไปไกลขนาดนั้น มันจะพัวพันไปไกลมาก”


เขาเทียบให้เห็นว่า การกระทำและกฎหมายไทยนั้นคุ้มครองประมุข ซึ่งหมายถึงประธานาธิบดีและกษัตริย์ต่างประเทศมากกว่ากฎหมายประเทศนั้นคุ้มครองประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ของเขาเอง “[ใน]มาตรา 134 และ 135 สมมติว่าเราไปที่ประเทศอังกฤษ เราจะเห็นเราจะเห็นการพาโรดี้สถาบันฯเยอะมาก คือสถาบันที่อยู่ในใจประชาชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ ที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างประเทศอังกฤษก็จะมีการทำเป็นธีมปาร์ตี้หรือมีของประกอบเป็นแก้วน้ำ เป็นกางเกง เต็มไปหมด ถ้าเกิดเราไปทำอะไรอย่างนี้ที่อังกฤษเราไม่ผิด ถ้าเราพูดถึงคิงชาร์ล ควีนอลิซาเบธตอนนั้น แต่ถ้าเราทำสิ่งนั้นในประเทศไทยเราเป็นความผิดอาญา สมมติว่า เราวิจารณ์โจ ไบเดนก็เป็นความผิดทางอาญา ทั้งที่ถ้าทำในสหรัฐอเมริกาไม่เป็นความผิดแล้วถ้าเราบอกว่า มันขยายไปแม้แต่คนก่อนๆ มันไม่รู้จะขยายไปถึงไหนเลย”

ในทางกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งเลิกใช้มา 66 ปีแล้วเคยคุ้มครองลูกหลานกษัตริย์อื่นๆ แต่กฎหมายมันยกเลิกไปแล้ว หากศาลปัจจุบันกลับไม่เพียงตีความถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น บางครั้งยังมีการบอกว่า รัชทายาทรวมถึงพระโอรส พระราชธิดาของกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมาย

สอง มาตรา 112 กับโทษหนักไม่ได้สัดส่วนความผิด

รณกรณ์กล่าวว่า ที่ต่างประเทศมีมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่โทษไม่ได้เหมือนกับที่กฎหมายกำหนดไว้ในไทย “เมื่อกี้พิธีกรถามว่า ถ้าผู้มีอำนาจฟังอยู่จะสื่อสารอะไรไป นี่คือสิ่งที่ผมสื่อสารและผมได้พูดแบบนี้ทุกครั้งในเวลาที่มีโอกาสไปให้การในศาลและถูกซักถาม จะบอกว่า มาตรา 112 มีปัญหาด้วยตัวมันเองเรื่องระวางโทษ เรามีรัฐธรรมนูญที่บอกว่า ห้ามไม่ให้มีการลงโทษ การทรมานโหดร้าย ทารุณกรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี นิยามคำหนึ่งของโหดร้าย ทารุณกรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีคือ การลงโทษโดยไม่ได้สัดส่วน อันนี้มีคดี Weeks V United kingdom ที่รับรองว่า การลงโทษ การกำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุไม่ได้สัดส่วนกับความผิดใช้เขาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นทำผิดตาม ถ้าผมพูดภาษาไทยคือ ศาลเชือดไก่ให้ลิงดู แทนที่จะลงโทษเขาเพราะสิ่งที่เขาผิด บอกไม่ได้ต้องลงโทษหนักๆ นิติบัญญัติ รัฐสภาบอกไม่ได้ต้องลงโทษหนักๆ คนอื่นจะได้ไม่ทำตาม อันนี้เป็นการลงโทษที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน โหดร้าย ทารุณกรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี”

สาม ศาลตีความองค์ประกอบความผิดที่กว้างไปถึงการไม่เคารพรัก

 
 

“การกระทำตามมาตรา 112 ดูหมิ่นก็คือไปลดทอนศักดิ์ศรีเขา จากเขาเป็นคนบอกเขาเป็นสัตว์เป็นนู่นเป็นนี่ แต่ศาลฎีกายืนยันมาตลอดว่า การพูดจาไม่สุภาพกูมึงอั๊วลื้อไม่ใช่การดูหมิ่น การพูดจาไม่สุภาพมึงมาพาโวยท้าตีท้าต่อยไม่ใช่การดูหมิ่น แต่ต้องเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา สอง การหมิ่นประมาทก็คือการนินทาไม่ว่าจะจริงหรือเท็จพูดในทางที่เขาเสื่อมเสีย สาม อาฆาตมาดร้ายคือการข่มขู่ว่า ในอนาคตเราจะมาทำร้ายเธอนะ เราจะมาฆ่าเธอนะ ก็คือการข่มขู่ไว้แสดงความเกลียดชังอาฆาตมาดร้าย เราจะเห็นว่าตัวบทพวกนี้มันค่อนข้างชัดเจน แต่ว่าเวลาศาลเอาคำพวกนี้ไปใช้ ศาลหลุดจากคำว่าดูหมิ่นซึ่งใช้กับคนธรรมดามาตรา 393 ศาลหลุดจากคำว่าหมิ่นประมาทที่ใช้กับคนธรรมดามาตรา 326 ศาลหลุดจากคำว่า อาฆาตมาดร้ายซึ่งไม่มีการใช้กับคนธรรมดา โดยศาลไปเข้าใจหรือการตีความว่าแสดงรวมถึงการไม่แสดงความเคารพ ไม่รักไม่แสดงความเคารพอย่างการแต่งกาย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเนี่ยก็คือการพาราดี้ การล้อเลียนแต่มันไม่ได้ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันไม่ได้นินทาว่าร้ายว่าเขาไม่ดียังไง หรือมันไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้ายว่าในอนาคตเราจะมาทำร้ายคุณยังไง อันนี้ผมคิดว่ากฎหมายอาญามันชัดเจนอยู่แล้วว่ามันควรจะจำกัดขอบแบบนี้”

สี่ สามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 ที่โทษไม่ได้สัดส่วน

รณกรณ์อธิบายองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 เทียบเคียงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูหมิ่น กรณีบุคคลทั่วไปมีโทษจำคุกหนึ่งเดือน หมิ่นประมาทประมาณหนึ่งปี ส่วนอาฆาตมาดร้ายไม่มีมาตราเทียบเคียง “ผมงงว่าทำไมการกระทำ 3 อย่างเนี้ยศาลถึงกำหนดหมายถึงว่า ตัวกฎหมายกำหนดโทษเอามาเท่ากันมันควรจะเท่ากันหรอ สามการกระทำเนี่ยจริงๆแล้วเนี่ยผมไม่คิดว่ามันควรจะเท่ากันเลยมันมีความร้ายแรงที่มันแตกต่างกัน เมื่อกี้ทางศูนย์ทนายฯ บอกว่าเดี๋ยวนี้มาตรการลงโทษคือ 3 ปีถึง 5 ปีผมกลับคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ดูหมิ่นมันควรจะน้อยที่สุดเลย โอเคอาฆาตมาดร้ายอาจจะหนัก แต่ว่ามันก็ไม่ควรจะหนักถึง 3 ถึง 15 ปีอย่างที่มันเป็นอยู่”

ห้า บุคคลสาธารณะต้องวิจารณ์ได้ แต่ยังไม่ใช่ที่ไทย

 
 
 

“ประเด็นที่ห้าที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดในทั้งหมดเลยก็คือ เรานินทา เราวิพากษ์วิจารณ์คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ คนที่รับเงินสาธารณะเป็นสิ่งที่มาตรฐานนานาชาติทำได้ มาตรฐานนานาชาติทำได้ ผมเล่าให้ฟังแบบนี้ในคดี Von Hannover v Germany ศาลที่ยุโรปบอกว่า การติดตามถ่ายรูปบุคคลที่เป็นราชวงศ์ของโมนาโคในเยอรมัน สามารถทำได้ไม่เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือว่าการแม้แต่การเผารูปที่สเปน ศาลก็บอกว่าการเผารูปเพื่อแสดงความไม่พอใจ อันนี้สามารถทำได้อยู่ภายใต้กรอบของสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมที่เรียกว่าสังคมประชาธิปไตย ถ้าเราไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ้าเราไม่ได้เสนอความคิดเห็น ถ้าถูกจำกัดความคิดเห็น ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นอยู่ภายใต้กรอบ เราจะพัฒนาประชาธิปไตยเราจะนำเสนอความเห็นต่างได้ยังไง ศาลสิทธิมนุษย์ชนยุโรปก็เลยบอกว่าคดีในสเปนที่ไปตัดสินลงโทษ lese majeste (มาตรา 112) เหมือนกันลงโทษคนที่เผารูป อันนี้ถือว่าเป็นการลงโทษที่ขัด การที่ศาลไปลงโทษถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน”

“ผมกำลังจะกลับมาบอกว่าจริงๆแล้วประเทศไทยมีมาตราหนึ่งที่อาจจะใช้ได้คือมาตรา 329 คือแน่นอนการดูหมิ่นเนี่ย ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ได้อนุญาตให้คุณดูหมิ่นได้เพราะว่ามันเป็นมันเป็นการพูดโดยไม่มีสาเหตุเป็นการแสดงความเกลียดชัง อันนั้นก็คงจะอ้างยาก อาฆาตมาดร้ายก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่มันเป็นตรงกลางคือการหมิ่นประมาท หมิ่นประมาทคือการพูดจาในทางลบ การวิพากษ์วิจารณ์ กฎหมายไทยอนุญาตให้คุณวิพากษ์วิจารณ์คนทั่วไปบุคคลสาธารณะได้ อาจารย์มหา’ลัยสอนไม่ดี นายกฯบริหารประเทศไม่ดี…อันนี้สามารถทำได้ตราบใดที่เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะเราเชื่อว่าเรื่องนั้นเรื่องจริงต่อให้มันไม่ใช่เรื่องจริงก็ตามคือเราไม่ได้เมคเรื่องไม่ได้สร้างเรื่องขึ้นมา ในสิ่งที่วิญญูชนคนทั่วไปพึงกระทำ 329(3) เราควรจะเอาข้ออ้างเข้าไปอนุญาตให้สามารถทำได้แต่ปัจจุบันนี้ศาลตัดเลย ศาลตัดสารบบ 329 ออกไปเลยทั้งที่อยู่ในประมวลด้วยกันเพราะศาลมองว่ามาตรา 112 เป็นเรื่องความมั่นคง ห้ามพูดถึงในทางวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น”

“ซึ่งอันนี้ถ้าเราอยากอยู่ในโลกที่มันได้มาตรฐานนานาชาติ อันนี้คือผมไม่ได้พูดว่าเราจะต้องเจริญก้าวหน้าเป็นผู้นำโลก ผมพูดถึงว่าเราอยู่มาตรฐานขั้นต่ำเพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกัน ถ้าเราอยากเป็นรัฐที่บอกชาวโลกได้ว่าเรามีประชาธิปไตย เราเคารพสิทธิมนุษยชนผมคิดว่าเรื่องพวกนี้อย่างแย่ที่สุดพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีความกล้าหาญที่จะต้องเอาข้อเสนอสี่ห้าข้อนี้จริงๆ บางคนอาจจะบอกว่าเฮ้ยเอาแบบเยอรมันไหม ถ้าจะฟ้องจะต้องให้คนนั้นคนนี้เท่านั้นฟ้อง อันนั้นผมไม่แน่ใจ แต่ว่าสี่ห้าข้อที่ผมเสนอ ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนที่ในระบบประชาธิปไตย แย่ที่สุดก็จะต้องเอาเรื่องพวกนี้มาพูดคุยกันว่า ตกลงเราจะมีการแก้ไขพวกนี้หรือไม่”

“ถ้าศาลใช้กฎหมายตีความกฎหมายเกินกว่าตัวบท มุ่งเน้นแต่สิ่งคุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า วัตถุประสงค์นู่นนี่นั่นจนเกินเลยกว่าตัวบท นิติบัญญัติก็ต้องตอบโต้ฝ่ายตุลาการด้วยการแก้กฎหมายให้มันชัดเจนแน่นอนรัดกุมมากขึ้น อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างที่ผมบอก คนเราตีความมาตรา 112 อย่างกว้างๆเนี่ย นอกจากมันกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนหลายประการสิทธิไม่ถูกทรมานสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มันยังไปกระทบเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพเพราะไปกระทบในการประกอบวิชาชีพทนายความ ประกอบวิชาชีพนักการเมือง รวมไปถึงสิทธิความเป็นพลเมืองเพราะเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองอีกมันมันกว้างมากๆ…เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าดีที่วันนี้เนี่ยเราได้มาได้มาคุยกันได้มาแลกเปลี่ยนกัน เราก็เราก็อาจจะนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต”