สำรวจนิรโทษกรรมในอเมริกาใต้! รัฐบาลพลเรือนทำอะไรได้บ้างเพื่อคืนความเป็นธรรม

ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินคดีการเมืองด้วยการใช้มาตรา 112 มาตรา 116 ไปจนถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกดำเนินการจนส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังในคดีการเมืองยังคงพุ่งสูง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน ทิศทางของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยังคงไม่ชัดเจนและสถานการณ์ยังไม่ไปในทางที่เป็นคุณกับผู้ต้องหาคดีการเมือง

การออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ให้แก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเป็นทางออกเพื่อทำให้สภาพสังคมหลังผ่านความขัดแย้ง (Post-conflict Society) กลับสู่เส้นทางปกติให้ได้ไวที่สุด แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ทั้งยังมีบาดแผลทางการเมืองที่เกิดจากการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2556

อย่างไรก็ดี การศึกษาตัวอย่างการนิรโทษกรรมของต่างประเทศน่าจะช่วยให้เห็นแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่หลายประเทศมีการเปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการสู่ยุครัฐบาลพลเรือนโดยใช้การนิรโทษกรรม ซึ่งบทเรียนของบรรดาประเทศในอเมริกาใต้น่าจะเป็นโมเดลให้สังคมไทยได้ถกเถียงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการนิรโทษกรรมได้อย่างดี

อาร์เจนตินา: ประเทศแรกของภูมิภาค ที่นำผู้ทำรัฐประหารขึ้นศาลและจำคุก

ประเทศอาร์เจนตินาเริ่มต้นความขัดแย้งขนาดใหญ่หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 1976 จนเกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้างภายใต้เหตุการณ์ที่เรียกว่าปฏิบัติการปฏิรูปประเทศ (Process of National Reorganization) หรือ “Dirty War” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตโดยประมาณระหว่างปี 1976 ถึงปี 1983 อยู่ที่ 9,000-15,000 คน ในจำนวนนี้มีการถูกบังคับสูญหายควบคู่กันไปด้วย และมีผู้ถูกคุมขังอีกอย่างต่ำ 30,000 คน รวมทั้งกว่าอีก 500,000 คนต้องการเป็นผู้ลี้ภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงในปี 1983 คณะรัฐประหารได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่สัปดาห์ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ถูกเรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ” (Law of National Pacificication) ที่นิรโทษกรรม “ผู้กระทำอาชญากรรมที่มีเจตนาหรือความมุ่งหมายเพื่อการก่อการร้ายและการล้มล้างระบอบการปกครอง ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 1973 จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 1982” ซึ่งดูเหมือนจะมีเจตนาในการนำกลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลับเข้าสู่สังคม ทว่าในความเป็นจริงกลับมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ เนื่องจากผู้ควรได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่เสียชีวิตหรือลี้ภัยไปหมดแล้ว 

ขณะเดียวกันในบทต่อขยายของกฎหมายก็ระบุให้มีการนิรโทษกรรมการละเมิดกฎหมายเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ถูกละเมิดหลายแสนชีวิต

เมื่อการเลือกตั้งมาถึงการพยายามแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ ต่อมาเมื่อ ราอูล อัลฟอนซิน (Raúl Alfonsín) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาได้เสนอกฎหมายแก้ไขความคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในยุคก่อนหน้า โดยแบ่งผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1) ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ 2) เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติตามคำสั่งผิดกฎหมายด้วยความโหดเหี้ยม และ 3) เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งอัลฟอนซินระบุให้มีการดำเนินคดีกับเพียงเจ้าหน้าที่รัฐสองกลุ่มแรกเท่านั้น ขณะที่กลุ่มสุดท้ายจะยังได้รับการนิรโทษกรรมต่อไป เช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ยังคงอยู่ในประเทศ

เดือนธันวาคมปี 1983 กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ถูกยกเลิกได้สำเร็จ ตามมาด้วยการก่อตั้ง “คณะกรรมการว่าด้วยผู้ถูกบังคับสูญหายแห่งชาติ” (the National Commission on the Disappearance of Persons) เพื่อแสวงหาความจริงของผู้ถูกบังคับสูญหายในยุคเผด็จการทหาร และสามารถนำผู้นำกองทัพเก้าคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งต่อมามีผู้นำกองทัพจำนวนถึงห้าคนถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยในจำนวนผู้ถูกตัดสินโทษเหล่านั้นมีถึงสองคนที่ได้รับคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ถือว่าเป็นการดำเนินคดีต่อผู้นำทหารครั้งแรกของทวีปละตินอเมริกา

ชิลี: นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และการระบุผู้เสียหายเพื่อจ่ายเงินเยียวยา

ประเทศชิลีถูกรัฐประหารภายใต้การนำของ “เอากุสโต ปิโนเช” (Augusto Pinochet) เมื่อปี 1973 ทำให้ในปีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตและถูกบังคับสูญหายถึง 1,200 คน และยังมีการคุมขัง ซ้อมทรมาน อีกเป็นจำนวนมาก การบังคับสูญหายเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 1977 ขณะที่การซ้อมทรมานและการลอบสังหารกว่าจะยุติลงก็ต้องรอให้ถึงปี 1990 ที่มีความพยายามเปลี่ยนผ่านกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย

ปิโนเชออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1978 ให้แก่ “ผู้กระทำความผิดในขณะที่รัฐประกาศใช้สถานการณ์เข้าควบคุมพื้นที่ (State of Siege) ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 1973 จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 1978” ซึ่งกล่าวอ้างเพื่อความปรองดองของชาติคล้ายกับที่รัฐบาลทหารอาร์เจนตินาทำ ซึ่งผู้ต่อต้านอำนาจรัฐและผู้ถูกอำนาจรัฐละเมิดกลับไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะส่วนมากเสียชีวิตหรือลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้ว

เดือนสิงหาคมปี 2003 ได้มีการพยายามออกกฎหมายเพื่อแก้ไขการนิรโทษกรรมตัวเองของปิโนเชอีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือบังคับสูญหาย และเจ้าหน้าที่ผู้ที่เพียงปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น เข้าสู่กระบวนการสอบสวนที่มีโอกาสทำให้ถูกยกเว้นการดำเนินคดีตามหลัง มีการย้ายคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดออกจากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน และตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการสืบสวนกรณีซ้อมทรมานในยุคทหารขึ้น กระบวนการข้างต้นไม่รวมกลุ่มบุคคลที่มีส่วนในการตัดสินใจ สั่งการ หรือวางแผนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นกระบวนการนิรโทษกรรมในยุคของรัฐบาลพลเรือนที่ตามหลังมาจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการปกป้องผู้กระทำผิดหรือปกปิดอาชญากรรมโดยรัฐ แต่เป็น “นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข” ที่มุ่งค้นหาความจริง จนทำให้เดือนพฤศจิกายน 2004 สังคมชิลีสามารถระบุผู้ถูกทรมานในยุคดังกล่าวได้มากถึง 27,000 คน และนำมาสู่ข้อเสนอในการจ่ายเงินเยียวยาต่อไป

เอล-ซัลวาดอร์: บทบาทขององค์กรต่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาสังคมเฉพาะหน้า

ประเทศเอล-ซัลวาดอร์ มีสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งสูงระหว่างปี 1980 ถึงปี 1991 ระหว่างกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายและกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล ความขัดแย้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยประมาณมากถึง 75,000 คน

ความขัดแย้งนี้ทำให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนสำคัญในการตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิรูปกองทัพ และการค้นหาความจริงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในปี 1992 คณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ต่างชาติจำนวนมาก และมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงท่ามกลางความขัดแย้งตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

จากการเข้ามามีส่วนร่วมของสหประชาชาติส่งอิทธิพลให้รัฐสภาเอล-ซัลวาดอร์ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1992 เช่นเดียวกัน การนิรโทษกรรมครั้งนี้มีผลต่อผู้ที่กระทำอาชญากรรมทางการเมือง ผู้ที่ทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง และผู้ที่กระทำความผิดทั่วไปต่อผู้อื่นอย่างต่ำ 20 คน การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมผู้ที่ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดสมบูรณ์ (Convicted by Juries) และผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะกรรมการค้นหาความจริง เท่ากับว่าผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในการกล่าวหาหรือสืบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

ต้นปี 1993 คณะกรรมการค้นหาความจริงได้เผยแพร่รายงานฉบับสุดท้าย ซึ่งมีรายชื่อของผู้มีอำนาจในกองทัพและชื่อของประธานศาลฎีการวมถึง 40 คนอยู่ในรายงานดังกล่าว ทำให้รัฐบาลที่ต้องการลดการถูกคุกคามจากกองทัพตัดสินใจขยายขอบเขตของการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมกลุ่มคนดังกล่าว

นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวส่งผลให้การย้อนกลับไปสืบสวนหรือจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างเป็นทางการไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าการนิรโทษกรรมฉบับนี้ทำให้สังคมเอล-ซาวาดอร์ เริ่มเข้าสู่กระบวนการปรองดองระดับชาติก็ตาม ด้วยเหตุนี้ภาคประชาสังคมจึงยังคงเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวต่อไป

กัวเตมาลา: นิรโทษกรรมที่ไม่รวมการสังหารหมู่ ซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหาย

ประเทศกัวเตมาลามีการรัฐประหารครั้งใหญ่ในปี 1954 จนนำมาสู่การกดขี่และสงครามกลางเมืองรัฐบาลตอบโต้กลุ่มติดอาวุธด้วยการกำจัดพลเรือนที่สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ ด้วยเหตุนี้จึงมีการคุกคามสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้าง มีพลเรือนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากถึง 200,000 คน ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตของชาวพื้นเมืองหลายหมื่นคนที่ถูกนานาชาติระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ

ปี 1994 มีความพยายามในการยุติความขัดแย้งดังกล่าวด้วยการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำความรุนแรงต่อประชากรแห่งกัวเตมาลา ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากสหประชาชาติ และทำให้เกิดการสืบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน ฆาตกรรม และการบังคับสูญหายขึ้นเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1996 ที่ครอบคลุมทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงกันข้าม อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้แบ่งผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1) อาชญากรรมทางการเมือง เช่น การกบฎ หรือการกระด่างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐ 2) อาชญากรรมทั่วไปที่เชื่อมโยงไปถึงสงครามกลางเมืองภายใต้ความเชื่อทางการเมือง และ 3) อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหาย ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมให้เพียงอาชญากรรมกลุ่มหนึ่งและกลุ่มสองเท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่สามยังสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้อยู่

นอกจากนี้ยังทำให้คดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลทหารถูกย้ายมาสู่ศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ต้องส่งเอกสารคดีทั้งหมดไปให้คณะกรรมการค้นหาความจริงด้วย ขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ถูกคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมือง ยังคงสามารถถูกดำเนินคดีได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม องค์กร Human Rights Watch รายงานไว้ในปี 2008 ว่า รัฐบาลกัวเตมาลาไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและองค์กรอื่นมากนักในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้พิพากษา อัยการ และพยาน ที่เกี่ยวข้องกับคดีสำคัญทางการเมือง ทำให้จำนวนคดีสังหารหมู่ถึง 650 คดีเป็นอย่างต่ำมีการดำเนินคดีไปอย่างยากลำบาก

อย่างไรก็ตามยังคงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้กองทัพโปร่งใสและเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ

อุรุกวัย: การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ประนีประนอมกับกองทัพ 

ประเทศอุรุกวัยเกิดรัฐประหารในปี 1973 ถึงแม้จะไม่ได้มีกรณีบังคับสูญหายเป็นจำนวนมากแบบประเทศอื่น แต่มีการซ้อมทรมานและคุมขังเป็นจำนวนมาก โดยประชากรทุกๆ 50 คน จะมีประชากรหนึ่งคนที่เคยถูกจับกุม สอบสวน และซ้อมทรมาน อย่างไรก็ตามกรณีของประเทศอุรุกวัยนั้นทหารเป็นผู้ริเริ่มในการเปลี่ยนผ่านและหาทางลงจากอำนาจ จึงทำให้พวกเขายังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

ด้วยเหตุนี้ทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยประเทศอุรุกวัยไม่ได้ริเริ่มที่จะขุดหาความจริงในอดีตเพื่อเล่นงานผู้นำกองทัพ ยกเว้นกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงเท่านั้น โดยการเปลี่ยนผ่านครั้งแรกเริ่มจากการนิรโทษกรรมในปี 1985 ที่มุ่งปล่อยนักโทษในคดีการเมืองออกจากเรือนจำ คืนอสังหาริมทรัพย์และค่าปรับต่างๆ ให้แก่ผู้เสียหาย ความก้าวหน้าสำคัญ คือ การนิรโทษกรรมในหมวดหมู่นี้ไม่นับรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

การนิรโทษกรรมครั้งนี้นำมาสู่การตั้ง “คณะกรรมการว่าด้วยการสูญหายของบุคคล” ในปี 1985 ซึ่งคณะกรรมการนี้สามารถระบุกรณีบังคับสูญหายได้ถึง 164 กรณี แต่การสืบสวนครั้งนี้ไม่นับรวมกรณีการทรมานและการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศอุรุกวัย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ปี 1985 มีคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมากเหนือความคาดหมาย ขณะเดียวกันกองทัพก็ปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการสืบสวนต่างๆ และเริ่มส่งสัญญาณข่มขู่ว่าจะก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพลเรือนเคยสัญญากับผู้นำกองทัพแล้วว่าพวกเขาจะไม่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 1984 ด้วยเหตุนี้จึงเกิดนิรโทษกรรมฉบับที่สองตามมาในปี 1986 ที่หลีกเลี่ยงคำว่า “นิรโทษกรรม” ในตัวบทกฎหมาย และขยายความคุ้มครองเพื่อประนีประนอมกับผู้นำกองทัพให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองดำเนินต่อไปได้ โดยคุ้มครองการละเมิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเพราะสาเหตุทางการเมือง การทำตามหน้าที่ และการทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแต่เพียงเท่านั้น

ปี 1989 ภาคประชาสังคมรวบรวมรายชื่อประชาชนขอทำประชามติเพื่อยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับปี 1986 แต่แพ้ไปด้วยคะแนนร้อยละ 57.53 ต่อ 42.47 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2000 ได้มีการริเริ่มแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสืบหาชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายระหว่างปี 1973 ถึงปี 1985 และประธานาธิบดีอุรุกวัยประกาศในปี 2003 ว่า จะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมในยุคดังกล่าว

ที่มา:

  1. Louise Mallinder. 2009. Global Comparison of Amnesty Laws. The International Institute of Higher Studies in Criminal Sciences. 
You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ