จากฟ้องทางไกลสู่การคุกคามประชาชน งาน Stand Together ครั้งที่หนึ่งก่อนถึงวันพิพากษามาตรา 112

 

เดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนที่มีการพิจารณาคดีการเมืองมากที่สุดเดือนหนึ่งหลังการเลือกตั้ง 2566 โดยเฉพาะการนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึง 15 ครั้ง ไม่รวมคดีการเมืองอื่นๆ อย่าง การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การหมิ่นอำนาจศาล และคดีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

วันที่ 8 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00-17.00 น. iLaw จึงได้จัดงาน “Stand Together: ส่งใจให้ผู้ต้องหาก่อนเผชิญคำพิพากษา 112 ในเดือน ตุลาคม 2566” โดยมี สหรัฐ สุขคำหล้า ผู้ต้องหาจากคดีปราศรัยการชุมนุม “บ๊ายบายไดโนเสาร์” มงคล ถิระโคตร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ผู้อดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว และ แบมบู ภัคภิญญา ผู้ถูกแจ้งความเอาผิดทางไกลถึงจังหวัดนราธิวาส แม้จะทำงานอยู่ที่กรุงเทพ เป็นผู้ร่วมวงเสวนา

เมื่อเริ่มวงเสวนา มงคลเล่าถึงการโดนดำเนินคดีมาตรา 112 ของตัวเองที่มากถึง 29 กรรม ขณะนี้คดีกำลังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เหตุเพราะการเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจนทำให้ถูกนำข้อความกว่า 27 โพสต์ไปแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 112 ซ้ำร้ายยังถูกพิจารณาเป็นการลับ ห้ามกระทั่งการให้ทนายจดเรื่องราวในศาล อย่างไรก็ตาม มงคลระบุว่าผู้พิพากษาแต่ละคนแต่ละที่มีมาตรฐานพิจารณาคดีไม่เท่ากัน เช่น บางคนกดดันให้ยอมรับโทษเลย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มี “มวลชนอาสา” ที่ช่วยในการตามถ่ายรูปเขาไปดำเนินคดี และยังมีกลุ่มที่คอยคุกคามคนรอบตัวของเขาอีกด้วย

ต่อมา มงคลได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นการอดอาหารหน้าศาลอาญา รัชดา โดยมีที่มาจากการระลึกได้ว่าตัวเขาเองก็เป็นเหยื่อของมาตรา 112 เช่นเดียวกับ อานนท์ นำภา ที่เพิ่งถูกตัดสินคดีความไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 จึงต้องการช่วยขับเคลื่อนจากนอกเรือนจำ และเริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา  

มงคลปิดท้าย เรียกร้องให้นักกฎหมายมีความกล้าหาญทางวิชาชีพ ขณะเดียวกันก็กล่าวย้ำว่าคดีมาตรา 112 บางคดีไม่สมควรจะถูกดำเนินคดีแต่แรก จึงอยากให้สังคมช่วยกันคนละไม้คนละมือให้ความสนใจปัญหาของมาตรา 112 และผู้คนที่อยู่ในเรือนจำมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองมากนัก ขอให้พักจนกว่าจะมีพลังกายใจ จนพร้อมที่จะขับเคลื่อนทางการเมืองต่อไปในอนาคต

แบมบู เล่าถึงการถูกร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดนราธิวาส โดยถูกกล่าวหาว่าแชร์ข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์จนถูกอัยการฟ้องทั้งสิ้นหกกรรม โทษจำคุกเก้าปี การถูกดำเนินคดีที่จังหวัดนราธิวาสแบมบูถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการรับฟังข้อกล่าวหาก็ต้องไปรับฟังถึงอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งต้องเดินทางออกจากเมืองไปอีกร่วมหนึ่งชั่วโมง รวมแล้วต้องใช้เวลาเดินทางทั้งขาไปและขากลับมากถึงประมาณสามวันในการไปเข้ากระบวนการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง 

อย่างไรก็ตามแบมบูกล่าวว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ เนื่องจากศาลจังหวัดนี้มีคดีมาตรา 112 มาถึงเก้าคดี ทุกคนต่างไม่รู้จักกันและได้รับความลำบากเช่นเดียวกันทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหาสำคัญนอกจากการถูกฟ้องทางไกลแล้ว แบมบูระบุว่า ผู้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นเป็นประชาชนทั่วไปที่แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 เป็นประจำ สังเกตได้ว่ามีขั้นตอน มีแบบฟอร์ม และรู้ว่าจะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษแบบใดตำรวจจึงจะรับคำร้อง จุดนี้สะท้อนเรื่องการนำมาตรา 112 มาเป็นอาวุธทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

แบมบูกล่าวว่า ตัวเองมีโอกาสที่จะไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และพยายามจัดการจิตใจให้ปลอดโปร่งก่อนวันพิพากษา ทั้งยังย้ำว่าหากต้องถูกจำคุกอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสก็ไม่อยากให้ทุกคนต้องเดินทางไปเยี่ยมเพราะเข้าใจว่าการเดินทางมีความลำบาก

ต่อมาสหรัฐเป็นผู้ปิดท้ายวงเสวนา เขาเล่าถึงการนำประเด็นข้อเรียกร้องและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นหนึ่งในหัวข้อการปราศรัย ควบคู่ไปกับการพยายามปฏิรูปศาสนาให้ตัดขาดออกจากรัฐ จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 พร้อมทั้งยังถูกมหาเถรสมาคมขับออกจากศาสนจักรอย่างไม่เป็นธรรม ถูกคนไม่หวังดีติดตามไปคุกคามครอบครัว และถูกพยายามกดดันให้มหาวิทยาลัยไล่เขาออก สะท้อนให้เห็นว่ามาตรา 112 เป็นหนึ่งในปัญหาที่คุกคามชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาสหรัฐเล่าถึงประชาชนทั่วไปผู้ที่ให้ความร่วมมือกับตำรวจในการเป็นพยานฝ่ายโจทก์ เขาระบุว่าพยานไม่มีความเป็นกลาง แม้ว่าเขาจะไม่เคยเกรงกลัวผู้มีอำนาจคนใด แต่การที่ประชาชนทำร้ายกันเองเช่นนี้เป็นสิ่งที่เขากลัวมากที่สุด และไม่ต้องการที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

วงเสวนาเข้าสู่ช่วงแลกเปลี่ยนกับผู้ฟังเสวนา “หยก” ผลัญชัย เยาวชนนักกิจกรรม แลกเปลี่ยนว่า การถูกคดีมาตรา 112 ทำให้มีผู้ตามไปคุกคามครอบครัวและไปหาหยกถึงโรงเรียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีหมายศาลมาถึงตัวหยกอีกด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ประสบเช่นเดียวกัน การคุกคามทางกฎหมายมักตามมาด้วยการคุกคามสมาชิกในครอบครัวบ่อยครั้ง

วงเสวนาวันนี้ปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดย ชลธิชา แจ้งเร็ว และปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล ผู้เคยผ่านการถูกกฎหมายคุกคามสิทธิเสรีภาพ ไม่ให้สิทธิในการประกันตัว และประสบปัญหาความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมมาแล้วเช่นกันในอดีต รวมทั้งพูดถึงความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรมต่อไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *