ม.112 ใต้สุดแดนสยาม เมื่อ “นักแจ้งความ” 1 คน ทำให้หลายคนต้องเดินทางไกลกว่า 1,200 กิโล

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 คดีแรกของปีนี้ ให้ลงโทษจำคุก ‘กัลยา’ เป็นเวลา 6 ปี ไม่ลดโทษ ไม่รอลงอาญา แต่ให้ประกันตัวทันทีหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จไม่นาน 

“เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวซึ่งแวดล้อมไปด้วยบริบทกระแสข่าวทางการเมืองแล้ว … ข้อความของจำเลยดังกล่าวเป็นการระบุถึงตัวบุคคล โดยไม่ต้องตีความ และเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นความจริงหรือเท็จก็ตาม ที่จำเลยต่อสู้ว่า มิได้ระบุถึงตัวบุคคลและต้องอาศัยการตีความ มิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ขึ้น” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุไว้ 

ในคดีนี้ ‘กัลยา’ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนนทบุรีต้องการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อไป นอกจากเธอต้องเดินทางไกลเพื่อมาต่อสู้คดีนี้ของเธอที่จังหวัดนราธิวาสแล้ว หากศาลอุทธรณ์ยังพิพากาษาให้เธอต้องจำคุก เธอก็จะต้องเข้าเรือนจำที่นราธิวาสด้วย

เนื่องจากข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดในหมวด “ความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งประชาชนคนใดก็ตามที่พบเห็นการกระทำความผิด สามารถริเริ่มคดีได้โดยการไปแจ้งความ หรือการ “กล่าวโทษ” ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใดก็ได้ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบเห็นการกระทำความผิด และเนื่องจากคดีมาตรา 112 ส่วนมากในระลอกนี้เป็นคดีจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ คนส่วนใหญ่ที่พบเห็นข้อความก็จะไปกล่าวโทษต่อตำรวจยังสถานที่ที่ตัวเองสะดวก และตำรวจในพื้นที่นั้นก็ต้องเริ่มกระบวนการดำเนินคดีเหมือนเป็นความผิดในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง ส่วนผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดก็ต้องเดินทางเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในพื้นที่ที่มีคนไปริเริ่มแจ้งความ

กรณีนี้อาจจะเป็น “ช่องว่าง” ที่นานๆ อาจจะมีคดีความทางไกลเกิดขึ้นบ้างทำให้เป็นภาระแก่จำเลยในการต่อสู้คดี แต่ในความเป็นจริงคดีความทางไกลไม่ได้ “บังเอิญ” เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ แต่เกิดขึ้นมากมายอย่างเป็นระบบ โดยมีกลุ่มบุคคลที่ “จงใจ” ใช้ช่องทางตามกฎหมายในประเด็นนี้เพื่อ “กลั่นแกล้ง” ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องเดินทางไกลเพื่อไปต่อสู้คดีความ 

สำหรับที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่สุดเขตชายแดนใต้ของไทย ระยะทางจากกรุงเทพไกลกว่า 1,200 กิโลเมตร มีนักแจ้งความอยู่คนหนึ่ง ชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ขณะที่เริ่มทยอยแจ้งความเขาอายุ 39 ปี เขาบอกกับศาลว่า มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและมีที่อยู่ที่อำเภอสุไกงโก-ลก พสิษฐ์เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) เขาจัดทำเอกสารประกอบการแจ้งความด้วยตัวเอง โดยเขียนคำร้องทุกข์กล่าวโทษในนาม คปส. อ้างว่า เขาเปิดใช้งานเฟซบุ๊ก เข้าถึงโลกออนไลน์ที่อำเภอสุไกงโก-ลก จึงริเริ่มกล่าวโทษให้ดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสุไกงโก-ลก ครั้งหนึ่งตำรวจที่นั่นเคยบอกกับทนายความว่า พสิษฐ์มากล่าวโทษคดีมาตรา 112 ทำนองเดียวกันไว้มากกว่า 20 คดี

ในปี 2565 มีคดีความมาตรา 112 จากสภ.สุไหง-โกลก ที่ริเริ่มโดยพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน และจำเลยต้องเดินทางมาขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส อย่างน้อย 6 คดี ดังนี้

คดีที่หนึ่ง จำเลยใช้นามสมมติว่า ‘กัลยา’ อายุ 27 ปี เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี ทำงานในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า แชร์โพสต์และคอมเม้นต์บนเฟซบุ๊กรวม 2 กรรม “กัลยา” ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่นราธิวาส โดยเธอให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีว่า เธอไม่ได้โพสข้อความเหล่านั้น แต่คดีนี้เกิดจากการกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 ปี

คดีที่สอง จำเลยชื่อภัคภิญญา อายุ 31 ปี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า แชร์โพสต์บนเฟซบุ๊กพร้อมข้อความประกอบรวม 6 ข้อความ ภัคภิญญา ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่นราธิวาส โดยเธอให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีว่า เธอไม่ได้โพสต์ข้อความเหล่านั้น แต่คดีนี้เกิดจากการกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ตุลาคม 2565

คดีที่สาม จำเลยใช้นามสมมติว่า ‘วารี’ อายุ 23 ปี เป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ ทำงานให้กับบริษัทเอกชน ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพการ์ตูนเสียดสีในช่องคอมเม้นต์ของเฟซบุ๊ก “วารี” ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่นราธิวาส โดยเธอให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีว่า เธอไม่ได้โพสต์ข้อความเหล่านั้น แต่คดีนี้เกิดจากการกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 6 ตุลาคม 2565

คดีที่สี่ จำเลยใช้นามสมมติว่า ‘ชัยชนะ’ อายุ 32 ปี อยู่อาศัยในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวแล้วส่งไปยังสภ.สุไหงโก-ลก ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ซึ่งชัยชนะมีบัตรเป็นผู้พิการ และมีใบรับรองแพทย์เป็นผู้ป่วยจิตเภท แต่ตำรวจก็ยังส่งตัวไปฝากขัง ซึ่งศาลให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท 

คดีที่ห้า จำเลยใช้นามสมมติว่า ‘อุดม’ อายุ 33 ปี อยู่อาศัยในจังหวัดปราจีนบุรี ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ 5 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับสถานการณ์การทำรัฐประหาร กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และ 2 ข้อความกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 

คดีที่หก จำเลยชื่อธนพัฒน์ หรือ “ปูน ทะลุฟ้า” อายุ 18 ปี เป็นเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัว ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง จำนวนทั้งหมด 8 ข้อความ

นอกจากการกล่าวโทษข้ามจังหวัดไปไกลถึงนราธิวาสแล้ว ยังมีคดีมาตรา112 ที่ผู้ริเริ่มคดีอยู่คนละจังหวัดกับผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระต้องเดินทางไกลอีกมาก ดูต่อได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1046

‘วารี’ หนึ่งในจำเลยที่ต้องเดินทางไปศาลจังหวัดนราธิวาส และกำลังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา กล่าวกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า วันที่มีหมายเรียกมาถึงบ้านไม่ได้รู้สึกตกใจหรือกลัวอะไร เพราะก่อนหน้านี้เราก็ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 112 มาโดยตลอด เรารู้สึกว่ากฎหมายข้อนี้มันไม่ยุติธรรม โทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี มันหนักหนา ไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เราถูกกล่าวหา อีกอย่างคือทุกคนสามารถแจ้งความได้ เจ้าทุกข์จะเป็นใครก็ได้ จะแจ้งข้อกล่าวหาที่ไหนก็ได้

ด้านภัคภิญญา จำเลยอีกหนึ่งคนกล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้หมายเรียกก็ประหลาดใจนิดนึงว่า มันมาถึงตัวเราด้วย พอมาดูชื่อคนแจ้งความก็พบว่าไม่รู้จักกัน พอมาดูสาเหตุที่แจ้งความก็พบว่าเพราะเราเห็นต่างกับกลุ่มของเขาในเรื่องการเมือง ทั้งๆที่เราไม่เคยไปว่าไปยุ่งกับเขาเลย เราแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของเรา แต่ถูกกลั่นแกล้งในกระบวนการแบบนี้ เราเป็นคนกรุงเทพฯแต่โดนหมายที่สุไหงโก-ลก เหมือนตั้งใจให้เราเดินทางไปไกลๆ ที่โกลกไม่มีเครื่องบินไปลงต้องไปลงที่นราธิวาสแล้วนั่งรถต่อไปชั่วโมงกว่า เครื่องบินมีรอบเดียวและรถมี 2-3 รอบต่อวัน ทุกอย่างมันจำกัดหมดเลย การมาธุระเรื่องนี้หนึ่งครั้งต้องมาขั้นต่ำสามวัน เลี่ยงไม่ได้เลย ตัวเราคนเดียวไม่ลำบากมาก แต่คิดถึงคนอื่นที่โดนแกล้งแบบนี้ก็เห็นใจ