เลือกนายกฯ ไม่เหมือน ‘ญัตติ’ ทั่วไปตามข้อบังคับฯ โหวตซ้ำกี่รอบก็ได้

 

การเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นับเป็นครั้งแรกที่การเลือกนายกฯ ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีผู้ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล เนื่องจากติดเงื่อนไขได้รับเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทั้งที่ได้เสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
การเลือกพิธาเป็นนายกฯ ครั้งที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ของแปดพรรคเสียงข้างมาก กลับต้องเจอโจทย์ใหม่ที่อาจทำให้การโหวตพิธาเป็นนายกฯ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อวุฒิสภาและฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งเห็นว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่อง ปัญหา หรือประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีความหมายว่า ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายจะให้รัฐสภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส.ว. อ้างข้อบังคับประชุมสภาโหวตพิธาซ้ำไม่ได้

ปัญหาการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ปรากฏอยู่ใน ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 หมวด 2 การประชุมรัฐสภา ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ ความว่า

“ข้อ 41 ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”
จากข้อบังคับนี้ ส.ว.นำโดย สมชาย แสวงการ เห็นว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 กำหนดชัดเจนว่า ญัตติเสนอซ้ำไม่ได้ เว้นแต่เสนอสมัยประชุมหน้า … หากวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ มีการเสนอชื่อญัตติเดิม จะต้องมีการอภิปรายกันว่าดำเนินการไม่ได้ เพราะเกรงว่ารัฐสภาจะดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และถ้าโหวตนายพิธาผ่านก็จะถูกร้องว่าการกระทำนั้นไม่ชอบ”

พรรคข้างมาก-นักวิชาการ ยันโหวตนายกฯ กี่ครั้งก็ได้ ไม่เหมือนญัตติทั่วไป

ผลการหารือของแปดพรรคเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ยืนยันชัดเจนว่ายังคงจะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยในประเด็นที่ ส.ว.อ้างว่าเป็นญัตติซ้ำ ฝากฝั่งพรรคเสียงข้างและนักวิชาการเห็นว่า การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ เป็นญัตติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ใช้ญัตติทั่วไป ดังนั้น การโหวตนายกฯ สามารถโหวตนายกฯ ชื่อเดิมซ้ำกี่ครั้งได้ไม่มีกฎหมายห้ามไว้


ความเห็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ว่า

        “ญัตติมีสองประเภท คือ ญัตติทั่วไปที่เสนอนู่นนี่นั่นและญัตติที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด เช่นการเรื่องนายกฯ เป็นญัตติเฉพาะที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกประธานสภา เป็นญัตติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อะไรที่ถูกกำหนดไว้รัฐธรรมนูญเราก็ถือเป็นญัตติ แต่เป็นญัตติเฉพาะก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ไว้เช่นกันว่า

        “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องญัตติมันเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 159 แล้วก็ มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ … ซึ่งพอไม่ได้เขียนเอาไว้ในมาตรา 272 ว่าจะโหวตได้กี่ครั้ง มันก็โหวตไปเรื่อยๆ โดยที่ มาตรา 272 วรรคสอง บอกว่าถ้าหากว่าโหวตตามวรรคหนึ่งไม่ได้ จะใช้วรรคสองคือใช้ช่องทางคนนอก รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าถ้าหากโหวตครั้งแรกไม่ได้ ให้โหวตให้คนที่สองหรือใช้ช่องคนนอก … เรื่องนี้จบครับ ความจริงไม่ได้ยาก ประธานสภาแค่ชี้ขาดว่า ข้อบังคับเป็นแบบนี้มันไม่ได้เป็นญัตติมันเป็นรัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่เรื่องญัตติปกติ”

ข้อบังคับชัดเจนโหวตนายกไม่เกี่ยวกับญัตติทั่วไป

เมื่อเปิดดู “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563, หมวดที่ 2 การประชุมรัฐสภา, ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ” ตั้งแต่ข้อ 29 – 41 พบว่า การระบุ ถึงญัตติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ประกอบด้วย
– ข้อ 29 ญัตติทั้งหลายที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
– ข้อ 30 ญัตติที่ไม่ต้องมีผู้รับรอง ได่แก่
  • ญัตติข้อให้ประชุมลับ
  • ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่างพ.ร.ป.)
  • ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปของผู้นำฝ่ายค้านฯ
  • ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  • ญัตติขอให้รัฐสภาเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
  • ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
– ข้อ 31 ญัตติขอให้รัฐสภามีมติกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
– ข้อ 32 ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเสนอเป็นหนังสือ เช่น ญัตติขอให้ปรึกษาหรือพิจารณาเป็นเรื่องด่วน / ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นต้น
จากญัตติที่ถูกกำหนดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะเห็นว่า ไม่มีการระบุถึงญัตติที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และมาตรา 272 วรรคหนึ่งเลย ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือนายกฯ คนนอกเท่านั้นที่ต้องเสนอเป็นญัตติ และเมื่อเปิดดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในหมวดที่ 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าต้องเสนอเป็นญัตติเช่นเดียวกับญัตติอื่นๆ ที่ระบุในข้อบังคับหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ เลย
เสนอนายกฯ คนนอก โหวตไม่ผ่าน เสนอซ้ำไม่ได้
ในกรณีเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกฯ ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ข้อ 30 และ 138 ระบุชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่เข้าชื่อสามารถเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้
ในกรณีนี้ถ้ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบนายกฯ คนนอกก็จะทำให้ ในสมัยประชุมดังกล่าวไม่สามารถเสนอญัตติเพื่อเสนอนายกฯ คนนอกได้อีก เพราะเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41
ดังนั้นจึงมีแต่การเสนอญัตติเสนอนายกฯ คนนอก เท่านั้นที่ถือว่าเป็นญัตติที่จะเสนอซ้ำไม่ได้ แต่การเสนอชื่อนายกฯ โดยวิธีการปกติจะเสนอชื่อเดิมซ้ำโหวตกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่