3 ความเป็นไปได้ถ้าเลือกนายกไม่ได้ ระวังได้ชื่อใหม่หรือคนนอกบัญชี

ความเป็นไปได้หนึ่งของการเลือกนายกรัฐมนตรีคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้ง 250 คน ขวางการจัดตั้งรัฐบาล โดยการ “งดออกเสียง” เพื่อไม่ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดได้เสียงถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา การ “บล็อก” นายกรัฐมนตรีนี้ถือเป็นไพ่ใบสำคัญของ ส.ว. ที่จะนำไปสู่สภาวะไร้รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากสภาผู้แทนราษฎร และทำให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทอดเวลาออกไปอีก ซึ่งในช่วงเวลานี้ รัฐบาลรักษาการของประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป

สำรวจความเป็นไปได้ในกรณีที่ ส.ว. เลือกงดออกเสียงจนไม่มีนายกรัฐมนตรี

1. ส.ส. เสียงข้างมากยืนยันเสนอแคนดิเดตนายกคนเดิม

หากลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกผลปรากฏว่าไม่มีแคนดิเดตคนไหนได้รับเสียงข้างมาก ประธานสภาก็จะเป็นผู้นัดวันประชุมใหม่เพื่อลงคะแนนอีกครั้ง โดย ส.ส. เสียงข้างมากอาจจะยืนยันเลือกเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมตามหลักการว่าเสียงข้างมากของ ส.ส. ที่มาจากประชาชนก็เพียงพอแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการกดดัน ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งให้ต้องสนับสนุนผู้แทนที่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อ ๆ ไปก็ยังคงเหมือนเดิม คือ แคนดิเดตที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมาจากสามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่สภาจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งเอาไว้ ดังนั้น หาก ส.ส. เสียงข้างมากจากหลายพรรคการเมืองยังคงแนบแน่น ก็สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมไปได้เรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อ ส.ว. ในขณะที่ประธานสภาก็มีอำนาจในการกำหนดวันลงคะแนนใหม่ โดยสามารถทำได้ตั้งแต่การให้ลงคะแนนในระยะเวลาใกล้กันหรือเว้นระยะเวลาก็ได้

2. เสนอชื่อแคนดิเดตนายกคนใหม่

อีกทางหนึ่งก็อาจจะปรากฏชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นรายชื่อจากพรรคการเมืองจากกลุ่มเสียงข้างมากเดิม แต่มีการเปลี่ยนคนเพื่อการันตีว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือในกรณีที่กลุ่มเสียงข้างมากมีแนวทางที่ต่างกัน ก็อาจจะเกิดการจับขั้วใหม่ของพรรคการเมือง และมีการเสนอชื่อแคนดิเดตคนใหม่ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มพรรคเสียงข้างมากเดิม

หากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรียืดเยื้อจนไม่มีรัฐบาลใหม่ สถานการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามัคคีของกลุ่มพรรคการเมืองเสียงข้างมากว่าจะร่วมหัวจมท้ายเพื่อกดดัน ส.ว. ไปจนสุดทาง หรือหาทางออกด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายรัฐมนตรีคนใหม่

3. ใช้กลไกนายกคนนอก เลือกคนนอกบัญชี

กลไกสุดท้ายที่รออยู่ในกรณีที่เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้คือ “นายกคนนอกบัญชี” มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากจะให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ในวรรคสองยังกำหนดกลไกให้สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในสามรายชื่อตามบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองด้วย โดยมีเงื่อนไขคือสมาชิกกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมตัวกันไม่น้อยกว่า 376 คนเข้าชื่อร่วมกันเสนอต่อประธานสภาให้ยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตตามบัญชี จากนั้นประธานสภาจะเรียกประชุมรัฐสภา และต้องใช้เสียงอย่างน้อยสองในสาม หรือ 501 เสียงเพื่อยืนยันตามมตินั้น

หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ก็สามารถดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา คือ 376 เสียง แต่สมาชิกจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง