ภาคประชาชนแถลง ออกจากทางตันรัฐธรรมนูญ 60 ต้องเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน

10 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมอลิซาเบธ สะพานควาย องค์กรภาคประชาชนร่วมแถลงถึงปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่แผลงฤทธิ์ให้เห็นผ่านเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แพทองธาร ชินวัตร ด้วยประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรม องค์กรภาคประชาชน ยังชวนสังคมจับตา แสดงพลังส่งเสียงถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างรัฐสภา รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามามีบทบาทผ่านการวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ผลักดันเดินเพื่อออกจากทางตันรัฐธรรมนูญ 2560

สำหรับปัญหาเชิงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) รัฐธรรมนูญ 2560 พูดถึงสิทธิเสรีภาพแต่ก็ถูกกำกับด้วยกฎหมายได้เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  สิทธิที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตประชาชนโดยตรง หายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 สิทธิเสรีภาพหลายประการที่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ ถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ ประชาชนสามารถใช้สิทธินั้นได้ แต่หากเป็นหน้าที่ของรัฐ ประชาชนต้องเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐ

ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน กล่าวถึงประเด็นสิทธิแรงงานในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า มีคำว่า “แรงงาน” ซึ่งเป็นคนส่วนใหย่ของประเทศนี้เพียงสามครั้ง เราต้องการรัฐธรรมนูญที่การันตีการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในที่ทำงาน หวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะรับรองสิทธินี้เพื่อให้สิทธิแรงงานขยับไปได้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw ระบุว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ จงใจออกแบบให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอ่อนและเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เช่น บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี มาตรฐานทางจริยธรรมที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เขียนแต่มาตีความใช้กับองค์กรอื่นด้วย การกำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับนักการเมืองที่ยืดยาว เพื่อจะถอดถอนนักการเมืองได้ ผู้ที่มีบทบาทถอดถอนนักการเมือง ก็คือองค์กรอิสระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้จะชื่อองค์กรอิสระแต่ที่มาไม่อิสระ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง จาก สว. แต่งตั้ง หรือล่าสุดคือจาก สว. สีน้ำเงิน

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวสรุปว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สถาปนาระบอบหนึ่งขึ้นมา โดยระบอบนี้ ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือการลดทอนสิทธิเสรีภาพ เช่น สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน  สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะเดียวกัน ระบอบนี้ก็ทำให้อำนาจประชาชนอ่อนแอ ด้วยการวางกลไกบั่นทอนสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือ คณะรัฐมนตรี ผ่านการตีความ “กฏหมู่” เช่น มาตรฐานจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต หรือ ยุทธศาสตร์ชาติ มาบีบให้การเมืองของประชาชนต้องเจอกับทางตัน

ดังนั้น หากเราต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ประเทศไทยก็ถูกกลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา บีบให้เข้าทางตันอยู่เสมอ มันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องร่างโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง นี่จึงเป็นผลว่า ทำไมเราถึงยืนยันว่า รัฐธรรมนูญประชาชน คือ ทางออก

สุดท้ายนี้ ทางออกนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยพลังของประชาชนในการกดดันทั้งศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการทำประชามติเสียที ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญแค่ยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิมที่ให้ทำประชามติแค่สองครั้ง โอกาสที่เราจะเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จทันภายในปี 2570 ก็อาจจะเกิดขึ้นจริง  

ขณะเดียวกัน เราต้องอาศัยพลังประชาชนในการกดดันรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสภา ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาล มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐสภา ดังนั้น การจะเดินหน้ารัฐธรรมนูญใหม่จึงไม่ใช่เรื่องปัญหาทางกฎหมาย แต่เป็นเจตจำนงของฝ่ายการเมือง

___________________________

ร่วมแถลงข่าวโดย เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) / โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) / มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) / ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR) / เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ / เครือข่ายสลัม 4 ภาค /สมัชชาคนจน / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) / คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) / มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) / เครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ เพื่อความเท่าเทียม (TransEqual) / กลุ่มทำทาง / กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก / สหภาพคนทำงาน / เครือข่ายแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง / แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม / กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) / We Watch / We Fair / ActLab / Secure Renger / Beach for life / Tune & Co / DAYBREAKER NETWORK