ส่งเสียงถึงเพื่อนในเรือนจำ นิรโทษกรรมประชาชนเข้าสภา 9 ก.ค. 68

3 กรกฎาคม 2568 เวลา 17.00 น. ที่หน้าประตูเรือนจำคลองเปรม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม “3 กรกฎา มาบอกเพื่อน เรื่องนิรโทษ” หลังวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งและจ่อเข้าพิจารณาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568


ภาพรวมของกิจกรรมจะเป็นการส่งสารผ่านการเขียนจดหมายไปถึงนักโทษคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำว่าวาระนิรโทษกรรมใกล้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาแล้ว ซึ่งจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่ในคดีที่พิพากษาแล้วและที่ยังไม่ได้พิพากษา


นอกจากนี้จะมีการเล่าเรื่องราวของผู้ต้องขังและเหยื่อของคดีความทางการเมืองผ่านห้าบทเพลง นำโดย ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา ธี-ถิรนัย มาย-ชัยพร เจมส์-เจษฎา ศรีปลั่ง และ บู-จิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International ประเทศไทย ที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวของ “ป้าอัญชัญ”


ในส่วนสุดท้ายของกิจกรรมจะมีการร่วมกันเขียนและอ่านจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ นำโดย อานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน, ไม้โมก-ธีรภพ เต็งประวัติ มู่หลาน-ธันยชนก และ บี๋-นิราภร อ่อนขาว จาก Thumb Rights, เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง, ต้นอ้อ-นักศึกษาราม เพื่อนผู้ต้องขังคดี 112 เพื่อส่งเสียงว่าอิสรภาพของพวกเขาใกล้มาถึงแล้ว

เล่าเรื่องชีวิตนักโทษการเมืองหน้าเรือนจำ ในวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าสภา 

วงสนทนา “5 เรื่องราวชีวิตผู้ต้องขังคดีการเมือง” บอกเล่าเรื่องราวหลังเข้าประตูเรือนจำ ตอกย้ำความจำเป็นของการนิรโทษกรรมคดีตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 ในขณะที่พรรครัฐบาลประสานเสียงไม่แตะต้องคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน จึงเป็นความหวังเดียวของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 32 คน และจำเลยในคดีที่กำลังพิจารณาอีกกว่าร้อยคน

วงสนทนาดังกล่าวประกอบด้วย ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ ธี-ถิรนัย และ มาย-ชัยพร ผู้ต้องหาคดี 112 ที่เคยถูกคุมขังและยังคงต่อสู้เพื่อคนที่ยังอยู่ข้างในเรือนจำ เจษฎา ศรีปลั่งหรือเจมส์ จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และจิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International ประเทศไทย ผู้แทนที่คอยสื่อสารกับอัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ต้องโทษนานที่สุด พร้อมการบรรเลงดนตรีโดย อาเล็ก-โชคร่มพฤกษ์

การรักษา-สุขอนามัยในเรือนจำต้องดีกว่านี้: ใบปอ-ณัฐนิชและประสบการณ์ในสถานพยาบาลราชทัณฑ์

การสนทนาเริ่มต้นจากการบอกเล่าเรื่องราวในเรือนจำของใบปอ ที่เล่าถึงประสบการณ์ตรงของตนขณะอยู่ในสถานพยาบาล ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง พร้อมกับเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เสียชีวิตในเรือนจำ โดยก่อนหน้านั้น บุ้งและใบปอได้อดอาหารเพื่อประท้วงถึงสิทธิการประกันตัว ก่อนจะส่งตัวใบปอไปรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำและได้ประกันตัวในภายหลัง ส่วนบุ้งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สถานการณ์ภายในสถานพยาบาลของทัณฑสถานหญิงกลาง มีทั้งนักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์ เด็กเล็ก 1-3 ปี ใบปอบรรยายความรู้สึกว่า ผู้คนเหล่านี้ควรมีสิทธิได้รับการรักษาที่ดีกว่านี้ รวมไปถึงการรับรองสิทธิต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงเรื่องสุขอนามัยที่แยกกันจากการรักษาพยาบาล 

ใบปอเชื่อมโยงถึงประสบการณ์การได้เข้าเยี่ยม ‘บุ้ง’ ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์  ซึ่งคนนอกจะไม่อาจเข้าใจได้หากไม่ได้ประสบด้วยตนเอง ใบปอเห็นว่าถึงแม้คนข้างในเรือนจำจะเป็นผู้ต้องขังที่โดนคดี แต่ก็ยังสมควรได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งคนข้างในเรือนจำสมควรได้รับการรักษาที่ดีขึ้นกว่านี้

เขากลัวอะไรนักหนากับการมีคนมาเยี่ยม: ประสบการณ์เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำของ ตี้-วรรณวลี

ตี้ วรรณวลี ธรรมสัตยา เล่าถึงประสบการณ์ของเพื่อนในเรือนจำทั้งหมดสามคน โดยเธอกล่าวว่าเธอไม่มั่นใจว่าการรวมตัวกันในวันนี้จะส่งเสียงไปถึงเพื่อนในเรือนจำหรือไม่ แต่หากมีใครได้เข้าไปเยี่ยมพวกเขาและนำภาพบรรยากาศเปิดให้ดู พวกเขาคงจะดีใจที่ผู้คนยังไม่ลืมคนที่อยู่ข้างในเรือนจำ

ผู้ต้องขังคนแรกที่ตี้เล่าถึง คือ “ลีฟ” หรือวีรภาพ วงษ์สมาน ซึ่งตี้เล่าว่า ลีฟเป็นน้องที่น่ารัก แม้ภายนอกจะดูรุนแรง แต่ลีฟก็เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกครั้งที่ตี้ขึ้นศาล ลีฟจะพยายามมาฟังคำตัดสินในศาลให้ได้ ตี้เล่าถึงความฝันของลีฟว่าอยากเรียนหนังสือ ขายเสื้อผ้าเพื่อหาเลี้ยงตนเองและพ่อเลี้ยง โดยบทสนทนาครั้งท้าย ๆ ลีฟคุยกับตี้ว่าจะร่วมหุ้นทำกิจการด้วยกัน และจะชวนเพื่อน ๆ ที่ไม่มีรายได้มาร่วมด้วย

เธอเล่าถึงการเข้าเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำว่า ถึงแม้จะมีโทรศัพท์ข้างใน แต่ก็พยายามส่งเสียงตะโกนให้ดังที่สุด ส่วนลีฟก็พยายามตะโกนเรียกเช่นกัน เธอเล่าว่า เธอพยายามตะโกนเรียกเพื่อขอเข้าเยี่ยม แต่ก็ไม่สามารถพูดคุยกันได้ เธอพยายามติดต่อเพื่อน ๆ ที่เข้าเยี่ยมว่าให้เพิ่มชื่อของเธอเข้าไปในรายชื่อเยี่ยมของลีฟแต่ถูกกีดกันเสมอมา

อีกครั้งหนึ่งคือ งานรำลึก วาฤทธิ์ สมน้อย ลีฟถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากเข้าไปในสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดินแดง และทำร้ายร่างกาย โดยมีหลักฐานเป็นวีดิโอ แต่เมื่อตี้ถามหาหลักฐานจาก สน. ปรากฏว่า ไม่มีหลักฐาน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดอย่างมาก เธอจึงพยายามที่จะส่งต่อเรื่องราวของลีฟต่อผู้คนมากมายรอบตัว เพราะสื่อมวลชนสำนักใหญ่ไม่พูดถึงเรื่องนี้

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์ คืออีกคนหนึ่งที่ตี้เล่าถึง โดยการปราศรัยของแอมป์ขึ้นชื่อเรื่องการมีลำดับข้อมูลชัดเจน เข้าใจง่าย ทั้งยังไม่ท้อถอย นำข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนที่เข้าเรือนจำไปอีกตั้งไว้ที่สกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันนี้แอมป์ยังคงอยู่ในเรือนจำเช่นกัน โดยสภาพจิตใจของแอมป์ไม่ได้เข้มแข็ง ต้องยานอนหลับตามที่แพทย์สั่ง แต่ถึงอย่างนั้น แอมป์ก็ลุกขึ้นมาทำให้สังคมรับรู้ว่า มีคนอยู่ในเรื่อนจำเพิ่มขึ้นอีกคน

ส่วน บัสบาสหรือมงคล ถิรโชติ ผู้ออกมาเคลื่อนไหวโดยการอดข้าวประท้วงทั้งที่หน้าศาล หน้าเรือนจำ และเกือบจะถูกฝ่ายตรงข้ามทำร้ายร่างกาย ก่อนหน้านี้บัสบาสถูกขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงราย ด้วยโทษหลายกรรมหลายวาระสูงมาก โดยพี่น้องประชาชนร่วมกันไปเยี่ยมตั้งแต่เรือนจำกลางคลองเปรมไปถึงเชียงราย และสุดท้ายบัสบาสถูกย้ายไปที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ในที่สุด

และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ตี้จะเข้าฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาธนบุรีในคดี 112 จากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ตี้ยังมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝากไว้ว่า ถ้าในวันพรุ่งนี้ตี้ถูกคุมขัง ไม่ต้องไปเรือนจำ และไม่ต้องเป็นห่วง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง ก่อนจะจบด้วยบทกวี “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ของวิสา คัญทัพ 

ทำไมคนต้องถูกดำเนินคดี เพียงเพราะอยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลง

ต่อมา ธี-ถิรนัย และ มาย-ชัยพร เริ่มเล่าเรื่องราวด้วยเพลง “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship ต่อด้วยการเรียกร้องนิรโทษกรรมประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ช่วงเวลาที่พวกเขาถูกดำเนินคดีในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนั้น พวกเขายังเป็นเยาวชน ทำไมพวกเขาถึงถูกดำเนินคดี เพียงเพราะอยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลง 

แม้ว่าจะออกจากเรือนจำมาแล้ว ธีและมายยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งยังเรียกร้องให้สังคมนี้สนับสนุนผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และส่งสารไปยังเพื่อน ๆ ผู้ต้องข้งทางการเมืองในเรือนจำ

มาย-ชัยพร กล่าวว่าช่วงที่เขาถูกดำเนินคดี ผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนได้รับการประกันตัวออกมา และได้รับข่าวคราวและกำลังใจจากคนข้างนอก เขายังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าผู้ต้องขังจะเจ็บป่วยอย่างไร ก็ควรมีสิทธิในการรักษาที่ดี รวมถึงอาหารการกิน ที่เขาได้รับการสนับสนุนจากมวลชน 

ธีกล่าวเสริมว่า ระหว่างที่ตนถูกดำเนินคดีตรงกับช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าสู่ประเทศ แต่ไม่เคยมีสักวันที่เขาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่นักโทษคดีการเมือง ยังคงอยู่ในเรือนจำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชน

ส่วนมายกล่าวปิดว่า หลายคนถูกตัดสินเข้าไปในเรือนจำ เสียโอกาสในการศึกษา ไม่ได้เจอหน้าค่าตา หรือแม้กระทั่งสูญเสียคนที่รัก และไม่ได้รับประกันตัวด้วย เพียงเพราะเป็นคดีอัตราโทษสูงและเกรงว่าจะหลบหนี

กลไกรัฐสภา ควรเป็นคำตอบของการปล่อยเพื่อนเรา 

เจมส์ เจษฎา ศรีปลั่งจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เล่าถึงประสบการณ์ของตนว่า ตนเคยตั้งคำถามหลายครั้งว่าประชาชนไม่สนใจการเมืองจริงหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งประชาชนก็แสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพของตน แต่เป็นเพราะกลไกต่าง ๆ ของรัฐต่างหากที่ขัดขวางประชาชน รวมถึงการมีผู้คนที่กล้าพูดในสิ่งที่ประชาชนอยากพูด แต่ก็ถูกดำเนินคดี หลายคนอยู่ในเรือนจำ และหลายคนลี้ภัยไปต่างประเทศ

เขายังกล่าวอีกว่า การดูหมิ่น กับการประทุษร้าย มีความแตกต่างกัน โดยการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่การอยู่เฉยต่างหากที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เลวร้ายลง ท้ายที่สุด เขาเรียกร้องให้รัฐสภาทำหน้าที่รับเรื่องตรวจสอบจากประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง

จดหมายของอัญชัญกับสามี และความหวังที่มีคือ นิรโทษกรรมประชาชน

สุดท้ายจิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International อ่านจดหมายตอบโต้กันของอัญชัญ ปรีเลิศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ป้าอัญชัญ” ผู้ต้องขังการเมืองที่มีอายุสูงที่สุดกับสามีของเธอ ผู้ซึ่งต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

จดหมายสี่ฉบับตอบโต้กันของป้าอัญชัญและสามี สะท้อนให้เห็นถึงความหวัง ความฝันของคนวัยเกษียณสองคนที่จะใช้ชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ และพวกเขาไม่รู้เลยว่าเพียงเพราะการแชร์โพสต์หนึ่งครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ในชีวิตบั้นปลายของคนสองคนถึงเพียงนี้่

“ทำสุขภาพให้แข็งแรงทั้งกายและใจ หากเราได้อยู่ด้วยกัน เราจะได้ไปวัด ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย เราก็แก่แล้วเนอะ ไม่รู้ว่าเราสองคนจะไปไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าอยากให้เราอดทน เข้าใจ และแข็งแรงไปด้วยกัน” อัญชัญเขียนข้อความเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับล่าสุดที่เขียนถึงสามี ณ แดนไกล

จิณห์วรายังกล่าวอีกว่า จดหมายทั้งระหว่างอัญชัญและสามีถูกส่งผ่าน Amnesty International และในขณะเยี่ยม ป้าอัญชัญไม่เพียงแต่จะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของผู้คนเท่านั้น แต่ยังถามถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนอยู่เสมอ และร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นความหวังของป้าอัญชัญ และผู้ต้องขังคดีการเมืองอื่น ๆ ได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติอย่างที่ใฝ่ฝัน ไม่ต้องฉลองวันเกิดในเรือนจำอย่างที่เป็นอยู่

เขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ บอกเล่าเรื่องราวก่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา

สำหรับกิจกรรมชวนอ่านจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ มีผู้ที่มาบอกเล่าเรื่องราวการเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ และอ่านจดหมายเพื่อส่งสารไปถึงผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำว่าสภาผู้่แทนราษฎรกำลังจะพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ประกอบด้วย เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง ไม้โมก-ธีรภพ เต็งประวัติ  จากเครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง (Thumb Rights) บี๋-นิราภร อ่อนขาว Thumb Rights  มู่หลาน-ธันยชนก  อานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน และต้นอ้อ-นักศึกษาราม เพื่อนก้อง-อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล ผู้ต้องขังคดี 112

หวังว่าสภาจะผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จะได้ไม่ต้องเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำอีก

เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมืองคดีมาตรา 112 เล่าว่าตนเริ่มมีความคิดที่จะเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ช่วงปี 2565 จากประสบการณ์ตัวเองที่อยู่ในเรือนจำ เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเลย ไม่รับรู้ข่าวสาร ไม่รับรู้เรื่องราวใดเลย ขณะที่คนอื่นเลือกที่จะเขียนเชิงให้กำลังใจเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ แต่เขาเลือกที่จะเขียนเล่าเรื่องราวสถานการณ์ภายนอกเหมือนรายงานข่าว เช่น ตอนนี้มีคำพิพากษาคดี 112 ใดบ้าง เป็นอย่างไร เพื่อให้คนที่อยู่ในเรือนจำทันสถานการณ์ข้างนอกเรือนจำ

เอกชัยหวังว่า สภาจะผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เขาพูดติดตลกว่าไม่อยากเขียนจดหมายอีกแล้ว กรณีของอานนท์ นำภา ถ้าหากไม่ได้นิรโทษกรรม จะอาจจะในคุกจนแก่

หวังว่าอานนท์จะได้กลับมากินลาบก้อยซอยจุ๊อร่อย ๆ ใช้ชีวิตอย่างอบอุ่นกับครอบครัว

ไม้โมก-ธีรภพ เต็งประวัติ จาก Thumb Rights เลือกเขียนจดหมายถึงอานนท์ นำภา ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวนเก้าคดี เขาถูกลงโทษจำคุกรวม 24 ปี 33 เดือน กับอีก 20 วัน โทษจำคุกที่อานนท์ต้องเผชิญ มากกว่าอายุของไม้โมกขณะที่อ่านจดหมาย

“พี่อานนท์ครับ ช่วงนี้พี่อานนท์เป็นยังไงบ้าง แม้ว่าเราเพิ่งเจอกันไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผมรู้สึกว่าระยะห่างระหว่างผมกับพี่มันช่างห่างไกลเหลือเกิน 24 ปี 33 เดือน กับอีก 20 วัน มันช่างเป็นเวลาที่นานแสนนานเหลือเกิน นานกว่าอายุของผมในเวลานี้ซะอีก”

ไม้โมก เล่าว่าตอนที่อานนท์ปราศรัยในม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ เขาอายุแค่ 15 ปี เขายังมีโอกาสได้เจออานนท์อยู่เรื่อย ๆ ในจดหมายที่ไม้โมกส่งถึงอานนท์ เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้ล่ารายชื่อ 36,724 คนเพื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าสู่สภา และสภากำลังจะพิจารณาวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หลังจากถูกเลื่อนออกมาเมื่อ 9 เมษายน 2568

“พี่อานนท์ครับ ผมรู้จักพี่อานนท์ จากวันที่พี่ปราศรัยทะลุเพดานในม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ ผมฟังคำปราศรัยของพี่ที่พยายามสื่อสารไปถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรงหลายครั้ง วันนั้นผมแค่อายุ 15 ปี และยังเป็นเพียงเด็กมัธยม  ตัวน้อย พี่ยังจดจำวันนั้นได้ไหมครับ วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน เหมือนกับสายฝนที่ไหลรินลงมาจากฟากฟ้า แต่ไม่นานก็เหือดแห้งไป พี่อานนท์ครับ ช่วงนี้ผมรู้สึกว่าฝนตกลงมาบ่อยเหลือเกิน”

“พี่อานนท์ครับ ทุกวันนี้ ผมยังมีโอกาสได้เจอพี่อานนท์ที่ศาลอยู่เรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจว่าพี่อานนท์จะจำผมได้ไหม แต่ผมยังคงจำรอยยิ้มแบบกวนตีน ๆ ของพี่ และลีลาการว่าความที่ทำให้ศาลนั่งไม่ติดของพี่ได้ เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา ผมกับพี่อานนท์ก็เพิ่งผ่านประสบการณ์ร่วมกัน ในวันที่ศาลพยายามจะอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ที่ใต้ถุนศาล เพื่อกีดกันไม่ให้ประชาชนฟังคำพิพากษา วันนั้นศาลพยายามจะจำกัดผู้เข้าฟังคำพิพากษาให้เหลือเพียงแค่หกคน ไปจนถึงพยายามไล่คนที่มาฟังคำพิพากษาของศาลออกจากห้อง ผมคิดว่าพี่อานนท์จำได้ดี เพราะพี่ เป็นคนบอกกับศาลเอง ว่าให้คนที่มาฟังอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อ และถ้าศาลจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาก็ให้ใส่เหตุผลไว้ด้วยว่าเลื่อนเพราะมีคนมาฟังคำพิพากษาเยอะเกินไป ในโมเมนต์นั้นผมรู้สึกว่า พี่แม่งโคตรเท่เลยว่ะ”

“พี่อานนท์ครับ วันนี้มีผู้ถูกคุมขังจากคดี 112 มากถึง 32 คน และหากรวมคดีการเมืองอื่น ๆ  ก็จะมากถึง 51 คน เป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวใช่ไหมครับ ยังไม่นับว่ามีการนัดฟังคำพิพากษาคดี 112 ในทุก ๆ เดือน และแนวโน้มส่วนใหญ่ไปในทางลงโทษมากกว่ายกฟ้อง และนอกจากนี้ ก็ยังมีการแจ้งความคดี 112 คดีใหม่ ๆ  อยู่เรื่อย ๆ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หลาย ๆ คนก็คงหดหู่และสิ้นหวัง แต่ผมเชื่อว่าพี่อานนท์ไม่ใช่คน ๆ นั้นแน่ ๆ”

พี่อานนท์ครับ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ปี 2567 ราวสี่เดือนหลังจากที่พี่อานนท์กลับเข้าเรือนจำรอบล่าสุด พวกเราได้ล่ารายชื่อ 36,724 คนเพื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าสู่สภา จนตอนนี้เวลาผ่านมาหนึ่งปีกับอีกห้าเดือนแล้วครับ ที่เราพยายามสร้างความหวัง และพยายามสร้างหนทาง ในการพาเพื่อน ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ รวมถึงพี่อานนท์กลับบ้าน

จากวันนั้นถึงวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมของปี 2567 ที่สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ก็สิ้นสุดไปพร้อมกับการถูกโหวตคว่ำข้อสังเกตเรื่อง 112 ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ช่วงเวลานั้น ชูศักดิ์ ศิรินิล เคยบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง กฎหมายนิรโทษกรรม เข้ามาประกบกับร่างทั้งหมดที่มีอยู่ แต่กระบวนการก็ไม่เคยคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งในสมัยประชุมที่แล้ว วันที่ 9 เมษายน 2568 กฎหมายนิรโทษกรรมก็ถูกบรรจุเข้ามาในวาระเร่งด่วนเพื่อให้สภาพิจารณาพร้อมกับกฎหมายคาสิโน แต่ว่ามันก็ถูกเลื่อนออกมาอีก จนกระทั่งมาถึงวันนี้ กฎหมายคาสิโนได้ถูกเลื่อนออกไป และสภากำลังจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ร่าง ในวาระที่หนึ่งสัปดาห์หน้านี้แล้ว

“พี่อานนท์ครับ สถานการณ์ในสภาช่วงนี้ค่อนข้างปั่นป่วนวุ่นวาย พรรคภูมิใจไทยเพิ่งถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ไม่นานนัก ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ก็พากันต่อรองเรียกราคาจากพรรคเพื่อไทย เราจึงคงยังไม่สามารถคาดเดาได้เท่าไหร่นัก ว่าการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมจะไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ เราไม่รู้ว่า การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมมีที่มาจากการกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคหรือไม่ แต่นี่ก็เป็นหนทางในการที่จะทำให้พี่อานนท์ได้กลับมากินอาหารอร่อย ๆ มากินลาบก้อยซอยจุ๊ที่พี่อานนท์ชอบกิน หากว่ากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่รวม 112 สามารถผ่านไปได้ถึงวาระที่สาม ซึ่งผมหวังว่าคงจะเป็นภายในสิ้นปี 2568 นี้และแม้ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะออกมาให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกัน ว่าการนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวม 112 แต่ผมเชื่อว่าเรายังมีแสงสว่างเล็ก ๆ ที่ปลายอุโมงค์”

“หากว่าในสัปดาห์หน้า กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผ่านวาระแรกไปได้ ผมก็คงดีใจเป็นอย่างมาก  ที่คงใช้เวลาอีกไม่นานแล้ว ที่พี่อานนท์จะได้กลับมากินลาบก้อยซอยจุ๊อร่อย ๆ ได้กลับมากอดน้องปราณ กลับมาอุ้มน้องขาล ได้ใช้เวลาชีวิตอย่างอบอุ่นกับครอบครัว แต่ถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนถูกคว่ำตั้งแต่วาระแรก ผมก็อยากจะขอเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ที่อยู่ข้างนอก ให้สัญญาว่าพวกเราจะยังไม่หมดหวัง และไม่ท้อถอยกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้พี่อานนท์และเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ที่ถูกคุมขังจาก 112 ให้ได้กลับบ้านในเร็ววัน และไม่ว่าผลการลงมติของสภาจะเป็นอย่างไร ผมก็หวังว่าพี่อานนท์ และเพื่อน ๆ ในเรือนจำคนอื่น ๆ จะยังรักษาความเข้มแข็งของจิตใจไว้ได้เสมอ”

“ผมขอปิดท้ายจดหมายฉบับนี้ด้วยบทกวีสั้น ๆ ที่ผมตัดมาจากบทกวี “หมดจิตหมดใจจะไฝ่ฝัน” ของยังดี วจีจันทร์ ผมคิดว่าบทกวีบทนี้เข้ากับสถานการณ์นี้ มันให้ความหวังกับทั้งคนที่กำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของผู้ต้องขังคดีการเมืองอยู่ข้างนอก และเพื่อน ๆ ที่ถูกพรากอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ บทกวีบทนั้นมีดังนี้ครับ”

“ความรู้สึกท้อแท้ก่อเกิดได้ และมิใช่ความผิดความคิดต่ำ

ทุกคนเมื่อหนาวเหน็บก็เจ็บจำ ทุกคนเมื่อเจ็บช้ำชักท้อใจ

แต่คนที่ผิดหวังแล้วยังสู้ก็คือผู้ที่โลกพร้อมจะยอมให้

ไม่ใช่คนแปลกประหลาดประการใดและมิใช่มีแต่กลุ้มสุมกมล

จริงอยู่บางครั้งยังเหว่ว้า จริงอยู่หลั่งน้ำตามาหลายหน

แต่ไม่จริงที่ว่าประชาชน จะมีเพียงคนสองคนบนดวงดาว

พี่อานนท์ครับ ผมอยากจะบอกพี่ว่า ผมยังคงคิดถึงพี่เสมอ”

หวังนิรโทษกรรม 112 อายและคุณหมีแคร์แบร์ได้กลับมาพบกัน

บี๋-นิราภร อ่อนขาว จาก Thumb Rights อ่านจดหมาย ถึง อาย-กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ประชาชนและแม่ลูกหนึ่งซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์รวมแปดโพสต์ 

บี๋เล่าว่า รู้จักอายจากการที่อายถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ทางออนไลน์ “พวกเรา (Thumb Rights) ยังเคยเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับพี่อายผ่านเพจเฟซบุ๊คด้วยนะคะ ในคอนเทนต์หัวข้อ items of memories คือพวกเราจะไปสัมภาษณ์คนรอบข้างของพี่อายเกี่ยวกับสิ่งของที่ทำให้คิดถึงพี่อายค่ะ มีคนพูดถึงคุณแคร์แบร์ที่พี่อายชอบสะสมด้วย ทำให้เวลาเราเห็นหมีแคร์แบร์ทีไร ก็จะนึกถึงพี่อายอยู่ตลอด”  

“วันที่เราได้ยินข่าวการพิพากษาของพี่อาย เรามีความรู้สึกหลายอย่างปน ๆ กัน ทั้งรู้สึกโกรธ ทั้งรู้สึกเศร้า ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกว่าประเทศนี้มันบ้ามาก ที่แค่การโพสต์จะทำให้คนเราต้องติดคุกกันเป็นสิบ ๆ ปี บางทีก็คิดว่าเราอยู่ในประเทศแบบไหนกัน”

“จริง ๆ ตัวบี๋เองก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์เหมือนกัน เรายิ่งรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าใจมาก ๆ ถึงความหนักอึ้งของการเป็น “จำเลย” ของกฎหมายมาตรานี้ ยิ่งประโยคที่พี่อายเคยพูดใน Stand Togeter ว่า “การโดน 112 มันเหมือนตายทั้งเป็น เพราะมันทำลายอนาคต ทำลายทุกอย่าง” คำพูดนี้ของพี่อายมันคือสิ่งที่แทนใจและแทนความรู้สึกทุกอย่างของเราด้วยเหมือนกัน  และเราก็เชื่อว่าเหยื่อ 112 ทุกคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน”

“มันเกินไปไหมกับการแสดงความคิดเห็นบางอย่างแล้วต้องถูกกระทำถึงเพียงนี้”

“มิหนำซ้ำตอนนี้จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองก็มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวันทุกวัน จนตอนนี้มีมากถึง 51 คนแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังมาตรา 112 ถึง 32 คน”

“แต่ในคืนมืดมิดก็ยังพอมีแสงดาว ตอนนี้เรามีข่าวที่น่าตื่นเต้นอยากมาบอกพี่อายค่ะ มีข่าวจากทางสภา ว่าในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะมีการนำวาระพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ขึ้นมาพิจารณาแต่ต้องบอกตามตรงว่า ก่อนหน้านี้หลายพรรคฝ่ายรัฐบาลยืนยันที่จะไม่แตะต้องคดีเกี่ยวกับมาตรา 112”

“แต่อย่างไรเสีย เราก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะผ่านการพิจารณา เพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเป็นร่างเพียงฉบับเดียวที่จะมีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ด้วย และเป็นเพียงร่างเดียวที่จะทำให้เพื่อนของเราทั้งหมดเป็นอิสระ ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นไปได้น้อย แต่หนูก็ยังหวัง ต่อไปค่ะ”

“สุดท้ายถ้าผลจะไม่เป็นไปตามที่เราหวัง แต่หนู และพวกเราอีกหลาย ๆ คน ที่อยู่ข้างนอกจะพยายามผลักดันทุกวิถีทางอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้พี่อาย รวมถึงเพื่อนเราทุกคนได้กลับไปหาคนที่รอพวกเขาอยู่ที่บ้าน และให้พี่อายกับคุณแคร์แบร์ได้มาพบกัน”

“ถ้าพี่อายได้ออกมา อย่าลืมมาพบกันบ้างนะคะ”

“จนกว่าจะได้พบกันอีกครั้ง ในเร็ววัน”

หวังว่าเจอได้เจอตัวจริงของ “วุฒิ” ที่ภายนอกเรือนจำ จะได้ร้องเพลงให้ฟัง

ด้านมู่หลาน-ธันยชนก อ่านจดหมายถึง “วุฒิ” ประชาชนผู้ต้องคำพิพากษาคดี 112 โทษจำคุก 18 ปี จากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ มู่หลานอัพเดทให้ “วุฒิ” ฟังว่า สภากำลังจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสันติสุข รวมสี่ฉบับ ร่างแต่ละฉบับมีชื่อและเนื้อหาแตกต่างกัน

“ที่หนูเล่าให้พี่วุฒิฟังวันนั้นว่ากำลังยุ่งกับการสอบปลายภาค หนูบอกพี่วุฒิไปว่าหนูต้องตกเยอะแน่ ๆ เลยเพราะเป็นเด็กเรียนไม่ค่อยเก่ง วันนี้คะแนนสอบออกแล้วนะคะ ก็มีตกบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เกินความคาดหมายคือ หนูสอบผ่านวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ทั้ง ๆ ที่คิดว่าตัวเองจะไม่ผ่านแน่ ๆ ในข้อสอบข้อสุดท้าย เขาถามถึงผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนญ หนูจำคำถามไม่ได้แน่ชัดเจน ที่รู้ ๆ หนูเขียนตอบไปว่าไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าอำนาจของประชาชน ความรู้สึกตอนเขียนข้อนั้นจำได้ว่าหัวใจเสรีโบยบินทั่วห้องสอบ เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน เขียนความหวัง เติมไฟฝันสุด ๆ เดินออกจากห้องสอบด้วยความเหม่อลอย และคิดไว้ว่าคงตกแน่ ๆ ปรากฎว่าแค่ข้อนี้ข้อเดียว หนูได้ตั้ง 18 เต็ม 20 แหนะ”

“ในช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองตอนนี้บอกเลยว่าวุ่นวายมาก แต่ละมื้อแต่ละเดย์มีแต่แนวมาให้คิด ไม่แน่ใจว่าข่าวสารจากข้างนอกส่งถึงด้านในบ้างไหม แต่วันนี้เรื่องของเราได้ถูกพูดถึงอีกแล้วค่ะ วันที่ 9 นี้ รัฐสภามีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วพี่วุฒิ”

“วันที่ 9 นี้จะมีร่าง พรบ เสนอเข้าไปถึงสี่ร่างเลยยยยยยย หนูเลยขออาสาส่งข่าวคราวให้พี่วุฒิถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษทั้งสี่ฉบับที่จะพิจารณากันในวันที่ 9 นี้หน่อยค่ะ”

“ทั้งสี่ฉบับ ได้แก่ ร่างของพรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและ ร่างของภาคประชาชนของพวกเรา”

“โดยแต่ละร่างก็ใช้ชื่อ ไม่เหมือนกัน ร่างที่ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยร่างนี้มีชื่อย๊าวยาว “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเกตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” ส่วนร่างของครูไทยและรวมไทยสร้างชาตินั้น ใช้ชื่อพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข แต่เนื้อหาด้านในเป็นการนิรโทษกรรมคดีการเมืองค่ะ หนูได้ยินครั้งแรกนึกว่าโฆษณา สสส. ค่ะ ส่วนร่างของพวกเราใช้ชื่อว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนค่ะ”

“แต่ละร่างก็จะมีจุดเด่นจุดดับแตกต่างกันออกไป หนูกำลังจะฝอยให้พี่วุฒิฟังดังต่อไปนี้ค่ะ”

“ประเด็นแรกที่จะเล่าให้ฟัง คือ กรอบระยะเวลาของการนิรโทษกรรม ซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายโดยตรง ร่างจากภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลเลือกขีดเส้นให้กว้าง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 หรือ 2549 ก่อนรัฐประหารโน่นเลยค่ะ และสิ้นสุดที่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ ในขณะที่อีกสองร่าง คือจากพรรคครูไทยและรวมไทยสร้างชาติ จำกัดเพียงช่วงเวลาถึงปี 2565 เท่านั้นค่ะ ซึ่งหมายความว่าคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวในยุค คสช. และในปัจจุบัน จะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ถึงแม้โดยเงื่อนไขอื่น ๆ จะเข้าเกณฑ์ตามร่างกฎหมายสองฉบับนี้ก็ตาม ซึ่งทำให้มีคนที่ตกหล่นไปจำนวนมาก เพราะเชื่อมั้ยพี่วุฒิ ทุกวันนี้แม่งก็ยังฟ้องกันอยู่เลย เอาอะไรมาสิ้นสุดแค่ปี 65”

“ในส่วนคดีที่นิรโทษกรรม โดยร่างของครูไทยและร่างของรวมไทยสร้างชาติ นั้น จะมีคดีที่ได้รับการนิรโทษ 20 ฐานความผิดด้วยกัน ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112 อีกทั้งยังจัดว่าเด็ดมากที่หนึ่งใน 20 ฐานความผิดนี้ รวม มาตรา 113 ซึ่งคือเป็นความผิดฐานกบฏด้วย พูดง่าย ๆ เป็นฐานความผิดของไอพวกทำรัฐประหาร ของคนที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เอ้า กบฏคนนี้ ได้เป็นคนดีของเธอซะงั้น”

“ยังไม่พอนะพี่วุฒิสองร่างนี้ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำร้ายผู้ชุมนุมด้วย”

“ส่วนของพรรคก้าวไกลไม่ได้มีการระบุไว้ถึงคดีที่มีการนิรโทษกรรมทันที ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมพิจารณาเป็นรายคดีไป และไม่นิรโทษกรรมคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมและ ม.113 ด้วยค่ะ”

“ในส่วนของร่างตัวตึง ร่างภาคประชาชนของพวกเรา ระบุคดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทันทีไว้ถึงคดีหก ไม่ว่าจะเป็น คดีจากประกาศ คสช. คดีพลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีประชามติ หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรวมถึงคดีมาตรา 112 ของพี่วุฒิกับเพื่อน ๆ ด้วย ซึ่งเป็นคดีที่ถูกมองว่าไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดว่าจะไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุและ ม.113 ด้วย บอกเลยว่าร่างฉบับประชนของพวกเรา แค่รวม 112 ก็ได้เป็นหัวแถวแล้ว”

“อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะเจอกับความจริงที่น่าเศร้าว่ามีแค่ร่างภาคประชาชนร่วมอย่างเดียวที่มีการเขียนอย่างชัดเจนว่าจะมีการนิรโทษกรรมรวมคดีของพี่วุฒิ และเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ อีก 30 กว่าคนด้วย ส่วนร่างอื่น ๆ อ่านแล้วก็ทำให้นึกถึงเพลง เธอปันใจ ของ อัสนีวสันต์ ท่อนที่ร้องว่า “ถ้าจะมาไม่มาทั้งใจ กลับไปเสียดีกว่า ครึ่งกลางค้างคาเอามาให้ใคร“”

“แต่พี่วุฒิไม่ต้องห่วงนะคะ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร หนูจะอยู่กับพี่วุฒิ หนูก็จะยืนหยัดเพื่อคืนสิทธิเสรีภาพให้กับผู้ต้องขัง และคนที่โดนคดีการเมืองทุกคน เพราะหนูยังเชื่อด้วยหลักการเดียวกับที่หนูตอบในข้อสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญว่า “ไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าอำนาจของประชาชน”

“หนูภาวนาให้ทุกอย่างออกมาตามที่คาดหวังไว้ ขอให้ร่างฉบับประชาชนผ่าน หนูกับพี่วุฒิจะได้เจอตัวจริงกันครั้งแรกหลังจากส่งจดหมายหากันมานาน และเมื่อถึงวันนั้น ไม่ว่าเพลงไหนที่พี่วุฒิบอกว่าอยากได้ยินหนูร้องให้ฟัง ตอนนี้หนูซ้อมไว้หมดแล้ว จะรอร้องให้พี่วุฒิฟังทุกเพลงเลยค่ะ ทุกคนคิดถึงพี่วุฒินะ”

“พี่วุฒิส่งเพลงออกมาใหหนูฟังเยอะแล้ว บ่าววีบ้าง โซโลบ้าง วันนี้หนูขอฝากเพลงกลับเข้าไปให้พี่วุฒิฟังบ้างค่ะ ชื่อเพลง สัญญาจากใจ – พงษ์สิทธิ คัมภีร์”

“ใกล้ไกล แค่ไหน ส่งความ รู้สึก ถึงกัน
สัญญา ไม่เคย แปรผัน คืนวัน ไม่อาจ เปลี่ยนแปลง
ฝากฟ้า ฝากดิน ฝากลมหายใจ ชีวิต สิ้นสุด เมื่อใด จะฝัง วิญญาณ ตรงนี้
ฝากถ้อย วจี สัญญา จากใจ จะทุกข์ จะสุข แค่ไหน จะคิดถึง กัน เสมอ
แม้ตาย จากกัน ความฝัน ยังอยู่ ให้รู้กัน เป็นคำ สัญญา จากใจ”

“ขอให้พี่วุฒิมีความสุขในทุกวันนะ บ๊ายบายค่ะ สวัสดีค่ะ”

“มีแค่ร่างภาคประชาชนร่วมอย่างเดียวที่มีการเขียนอย่างชัดเจนว่าจะมีการนิรโทษกรรมรวมคดีของพี่วุฒิ และเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ อีก 30 กว่าคนด้วย ส่วนร่างอื่น ๆ อ่านแล้วก็ทำให้นึกถึงเพลง เธอปันใจ ของ อัสนีวสันต์ ท่อนที่ร้องว่า “ถ้าจะมาไม่มาทั้งใจ กลับไปเสียดีกว่า ครึ่งกลางค้างคาเอามาให้ใคร”

“หนูภาวนาให้ทุกอย่างออกมาตามที่คาดหวังไว้ ขอให้ร่างฉบับประชาชนผ่าน หนูกับพี่วุฒิจะได้เจอตัวจริงกันครั้งแรกหลังจากส่งจดหมายหากันมานาน และเมื่อถึงวันนั้น ไม่ว่าเพลงไหนที่พี่วุฒิบอกว่าอยากได้ยินหนูร้องให้ฟัง ตอนนี้หนูซ้อมไว้หมดแล้ว จะรอร้องให้พี่วุฒิฟังทุกเพลงเลยค่ะ ทุกคนคิดถึงพี่วุฒินะ”

หวังว่าเราจะได้ออกมาเจอกัน เพื่อน ๆ ยังรอว่าที่ทนายก้อง

ต้นอ้อ-นักศึกษาราม เพื่อนก้อง-อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่มทะลุราม ผู้ต้องขังคดี 112 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของจดหมาย ต้นอ้อถามไถ่เรื่องอาหารการกิน เพื่อน ๆ เป็นห่วงไม่อยากให้ก้องกินหวานมากเกินไป ต้นอ้อเสริมว่า ก้องเป็นคนชอบกิน

สำหรับเรื่องประเด็นการสอบของก้อง แม้มหาลัยวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่ให้สอบ แต่มหาวิทยาลัยยังยืนว่าก้องมีสถานภาพนักศึกษาอยู่

“เพื่อน ๆ ยังรอว่าที่ทนายก้องอยู่นะ มันทำร้ายเราได้เท่านี้แหละ ตอนได้ยินข่าวป๋า (ก้อง) โดนย้ายเรือนจำพวกเราโกรธมาก หวังว่าเราจะได้ออกมาเจอกัน ได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกันเร็ว ๆ สักวันหนึ่งเราจะกลับมาพบกันเพื่อนรัก”

หวังว่าสมบัติ ทองย้อย จะได้ออกมาเล่าเรื่องราวงานรำลึกคนเสื้อแดงครั้งต่อไป

อานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน อ่านจดหมายถึงสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดคนเสื้อแดงในการชุมนุมปี 2552-2553 ต่อมาในปี 2563 สมบัติก็ออกไปร่วมชุมนุมของราษฎรในช่วงปี 2563 ในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง และเคยช่วยงานรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมอยู่ระยะเวลาหนึ่งด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะลดบทบาทตัวเองและถอยห่างออกจากการชุมนุม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก 

โดยส่วนหนึ่งของจดหมายที่อานนท์เขียนถึงสมบัติ ระบุว่า “ผมมีโอกาสจัดงานรำลึกคนเสื้อแดงเล็กๆ งานหนึ่ง เรื่องที่พี่เล่า คือเรื่องหนึ่งที่ผมได้เอาไปเล่าต่อในงาน ตอนที่ผมเอาเรื่องของพี่ไปเล่าต่อ ผมก็นึกถึงพี่ขึ้นมาทันที ถ้าพี่อยู่ข้างนอก ผมคงจะชวนพี่มาเล่าเรื่องในปี 53 ด้วยตัวเอง แต่น่าเสียดายที่พี่ยังต้องอยู่ในเรือนจำเพราะคดี 112 ผมเลยต้องเป็นคนบอกเล่าเรื่องของพี่แทน หวังว่าในโอกาสอันใกล้ พี่จะได้กลับออกมาอยู่กับครอบครัว กลับมาใช้ชีวิต และได้มาเล่าเรื่องที่พี่เคยเล่าให้ผมฟังกับคนอื่นๆ ในงานรำลึกคนเสื้อแดงครั้งต่อไป”

RELATED TAGS