เคอร์ฟิว! มาตรการใหม่หน้าเก่า กับสิทธิพลเมืองของคนในสามจังหวัดภาคใต้

13 กุมภาพันธ์ 2556 แม่ทัพภาคที่สี่ประกาศเคอร์ฟิว 6 ตำบลในภาคใต้เป็นเวลา24ชั่วโมง หลังเกิดเหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มติดอาวุธ 

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายออกมาแสดงคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการเคอร์ฟิว ฝ่ายที่เห็นด้วยเชื่อว่าการประกาศเคอร์ฟิวน่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาเพราะผู้ปฏิบัติการของอีกฝ่ายจะทำงานได้ไม่สะดวก ขณะที่ผู้เห็นค้านก็มองว่าการประกาศเคอร์ฟิวยิ่งเติมเชื้อไฟและทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
ไม่ว่าความจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากการประกาศเคอร์ฟิวก็ตาม แต่ที่แน่ๆ คือสิทธิคนในพื้นที่ที่เดิมถูกเบียดบังจนเหลือน้อยนิดอยู่แล้วด้วยกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ก็ต้องหดหายไปอีก 
เคอร์ฟิวคืออะไร?
การประกาศเคอร์ฟิว คือ การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน การประกาศเคอร์ฟิวลิดรอนเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของพลเมืองโดยตรง เพราะคนในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกเคหสถานได้  ขณะเดียวกันการประกาศเคอร์ฟิวก็กระทบถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบด้วย เพราะเมื่อพลเมืองไม่สามารถออกนอกเคหสถานได้ก็ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ 
การประกาศเคอร์ฟิวจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอื่นๆ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่นอยู่ในภาวะสงครามหรือมีเหตุกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีเนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองอย่างรุนแรง จึงควรเป็นมาตรการที่หยิบออกมาใช้ในฐานะตัวเลือกสุดท้าย (The last resort) ทั้งนี้ การคงอยู่ของเคอร์ฟิวก็ควรจะสั้นที่สุดเพื่อให้กระทบต่อเสรีภาพของพลเมืองให้น้อยที่สุด
ประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจแก่รัฐในการประกาศเคอร์ฟิวอยู่หลายฉบับ เช่น 
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา11(6)
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ตามมาตรา 9(1)
เหตุแห่งการประกาศเคอร์ฟิว
ข้อสังเกตจากการประกาศเคอร์ฟิวของไทยในอดีตที่ผ่านมา อาจแบ่งประเภทตามเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การประกาศออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การประกาศเคอร์ฟิวอันเป็นผลสืบเนื่องการทำรัฐประหาร การประกาศเคอร์ฟิวอันเนื่องมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการประกาศเคอร์ฟิวอันเนื่องมาจากปํญหาด้านความมั่นคง
การประกาศเคอร์ฟิวอันเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐทำประหาร เช่น
การประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่เป็นผู้นำ(ตามคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 9 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก) ห้ามประชาชนในท้องที่กรุงเทพมหานครออกนอนเคหสถาน การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
การประกาศเมื่อวันที่ 20ตุลาคม2520 โดยคณะปฏิวัติที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ (ตามคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ประกาศโดยไม่อ้างอิงกฎอัยการศึก) ห้ามประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังคณะทหารทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร
การประกาศเคอร์ฟิวอันเนื่องมามากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เช่น
การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 โดยนายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูร ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และ 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 (ต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548)
ที่มาภาพ ilamont.com
การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาประมาณสามเดือน ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 (1) ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้ไม่เพียงบังคับใช้ในกรุงเทพมหานครแต่คลอบคลุมจังหวัดอื่นๆ ที่มีการชุมนุมทางการเมืองคู่ขนานไปกับการชุมนุมในกรุงเทพมหานครด้วย
ที่มาภาพ null0
การประกาศเคอร์ฟิวในสองประเภทแรกดูจะเป็นการประกาศเคอร์ฟิวที่ต้องเผชิญการคัดค้านและแรงต้านอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิวหลังการรัฐประหารและการประกาศเคอร์ฟิวเนื่องจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการกดทับสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างกับผู้มีอำนาจอย่างเห็นได้ชัด การประกาศเคอร์ฟิวของคณะรัฐประหารอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารย่อมปิดกั้นเสรีภาพของผู้ที่ต้องการออกมาชุมนุมคัดค้านการทำรัฐประหารอย่างฉับพลัน ขณะที่การประกาศเคอร์ฟิวเนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองย่อมกดทับเสรีภาพในการแสดงออกของผู้มีความเห็นต่างและต้องการแสดงออกทางการเมืองโดยการมาร่วมชุมนุม
การประกาศเคอร์ฟิวในประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นการประกาศเคอร์ฟิวเนื่องมาจากปัญหาด้านความมั่นคงนั้น ไม่ต้องเผชิญแรงต้านเท่าการประกาศใช้เคอร์ฟิวในสองประเภทแรก ขณะเดียวกันก็เป็นที่รับรู้และจดจำของสังคมทั่วไปน้อยกว่า เช่น 
การประกาศเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 โดยแม่ทัพภาคที่สี่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ในเขตท้องที่ อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หลังจากมีเหตุลอบวางระเบิดและลอบยิงประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าข่ายปํญหาด้านความมั่นคง การลอบวางระเบิดและการสังหารชีวิตผู้คนแสดงให้เห็นว่าพลเมืองในพื้นที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต กล่าวคือ ใครจะตกเป็นเหยื่อเมื่อใดก็ได้ การอ้างเหตุสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อประกาศเคอร์ฟิวจึงเกิดขึ้น แม้การประกาศเคอร์ฟิวจะกระทบต่อเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (freedom of movement) ของพลเมืองในพื้นที่แต่หลายฝ่ายก็ยอมรับได้ว่า เป็นราคาที่ต้องจ่ายไป (is a price to pay) เพื่อให้รัฐสามารถพิทักษ์ชิวิตพลเมืองได้ 
ในปัจจุบัน สิทธิพลเมืองของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกลิดรอนเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอยู่แล้ว ในทางทฤษฎี กฎหมายเหล่านั้นเมื่อประกาศแล้วควรใช้ให้สั้นที่สุดและยกเลิกให้เร็วที่สุดเพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิพลเมือง ทว่าในทางปฎิบัติ กฎหมายพิเศษเหล่านั้นได้รับการต่ออายุมากว่า 9 ปีแล้ว จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่จะบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่ “ไม่ปกติ” อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมิได้คำนึงว่าการใช้ชีวิตอยู่ใต้กฎหมายที่ให้อำนาจเต็มกับทหารตลอดเวลาได้บั่นทอนสิทธิพลเมืองของคนในพื้นที่ไปมากน้อยเพียงไร 
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการประกาศเคอร์ฟิว ก็มิได้ทำให้การก่อเหตุในช่วงเวลาตามประกาศหมดไป นอกจากนี้ยังกระทบกระเทือนความรู้สึกของพลเมืองในพื้นที่ที่ต้องออกไปใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ประกอบศาสนกิจ กรีดยาง หรือทำภารกิจต่างๆ ของตัวเองด้วย การประกาศเคอร์ฟิวดูจะไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทว่าฝ่ายรัฐเองก็ดูจะไม่มีมาตรการอื่นใดที่ทำได้ดีไปกว่านี้ 
ล่าสุด หลังมีการปะทะเดือดในช่วงตีหนึ่งของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 แม่ทัพภาคที่สี่ตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลา24ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา6โมงเช้าของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ถึง 6 โมงเช้าของวันถัดไป คลอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานีโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
หากการประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันได้แล้ว จะเป็นเหมือนการเปิดกล่องแพนโดราที่ทำให้การประกาศเคอร์ฟิวถูกนำมาใช้เป็นมาตรการ “ปกติ” ในการจัดการกับปัญหาชายแดนภาคใต้หรือไม่ และการประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้ จะได้รับความชอบธรรมให้ต่ออายุออกไปอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วหลังการประกาศเคอร์ฟิวคือ เสรีภาพที่หลุดลอยไป   
อ้างอิง:
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 27 สิงหาคม 2457 (อ้างอิงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556)
พระราชกำหนดการบริหารราชการใรสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 16 กรกฎาคม 2548 (อ้างอิงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556)
ประกาศคณะปฏิรูป 6 ต.ค. 2519. ราชกิจจานุเบกษา 6 ตุลาคม 2519 (อ้างอิงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2556) 
ประกาศคณะปฏิวัติ 20 ตค 2520. ราชกิจจานุเบกษา 20 ตุลาคม 2519 (อ้างอิงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2556)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน. ราชกิจจานุเบกษา 8 มีนาคม 2495 (อ้างอิงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2556) 
ศอฉ.ประกาศเคอร์ฟิวกทม.2ทุ่ม-6โมงเช้า. Sanook 19 พฤษภาคม 2553 (อ้างอิงเมื่อ13 กพ 2555)
เคอร์ฟิวส์! ยะหา-บันนังสตา คุมชายแดนใต้. Sannook 15 มีนาคม 2550 (อ้างอิงเมื่อ13 กพ 2555)
5เหตุผลที่"เคอร์ฟิว"ไม่ตอบโจทย์ดับไฟใต้. อิศรา 7 กุมภา 2556 (อ้างอิงเมื่อ13 กพ 2555)