เปิดคำสั่งศาล ให้เว็บ Change.org “ฆ่าไม่ตาย” กลับมาใช้งานได้

เปิดคำสั่งศาลอาญา หลังกระทรวงดีอีขอปิดเว็บรณรงค์ Change.org ทำให้เข้าถึงไม่ได้ทั้งเว็บตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2563 แต่ศาลก็ให้กลับมาเปิดได้แล้วในเดือนมีนาคม 2564 โดยศาลระบุว่า คำสั่งก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้อง กระทรวงดีอีไม่ได้บอกว่าจะขอปิดทั้งเว็บ ศาลเข้าใจว่าปิดเฉพาะเนื้อหาบางส่วน
ศาลอาญามีคำสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ Change.org เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นคำร้องโดยอ้างว่า เว็บไซต์มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภายหลังทาง change.org ยื่นคำร้องคัดค้านและศาลได้คำสั่งยกเลิกการระงับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2564 ทำให้เว็บไซต์กลับมาใช้งานได้ตามปกติในวันที่ 22 เมษายน 2564
Change.org เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการลงชื่อเพื่อเข้าร่วมแคมเปญรณรงค์หรือสนับสนุนประเด็นต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเปิดโอกาสบนพื้นที่สังคมออนไลน์ให้ประชาชนสามารถนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนคนอื่นได้รับรู้ในวงกว้าง ทำให้ประเด็นต่างๆได้รับความสนใจและพูดถึง ในปี 2564 ก็มีแคมเปญชวนคนมาลงชื่อที่เป็นเรื่องร้อนหลากหลาย เช่น เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ลาออก http://chng.it/rdck5RkFVd หรือเรียกร้องให้ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนอาวุธสงคราม เป็นอาวุธป้องกันเชื้อโรค http://chng.it/wQhbg6KWNm
หลังจากที่เว็บไซต์สามารถกลับมาใช้ได้ตามปกติแล้วนั้น เพจเฟซบุ๊กของ Change.org ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ผู้ใช้งานเว็บไซต์แจ้งว่าเมื่อเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์แล้วพบข้อความปรากฎว่า “เนื้อหานี้ถูกระงับ เนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” และไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆภายในเว็บไซต์ได้
โดยสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นคำร้องโดยอ้างว่าเว็บไซต์ Change.org มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม มีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และศาลได้ทำการไต่สวนฝ่ายเดียวไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 (ระหว่างที่มีการชุมนุมใหญ่ และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง) ก่อนจะมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์ กระทรวงฯจึงได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งศาลดังกล่าว ปิดเว็บไซต์ Change.org ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม ทาง Change.org ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วยการแต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ศาลไต่สวนเพื่อเพิกถอนคำสั่งระงับเว็บไซต์ ซึ่งหลังจากที่ศาลได้ทำการไต่สวนแล้วก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่ โดยระบุว่า
 “…ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้เผยแพร่หรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์และมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติระบุว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายถึง ข้อมูล ข้อความ…ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาลห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิด ตามมาตรา 20 (1) – (3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ 
ดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของ URL ที่ 2. www.Change.org ซึ่งเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ www.Change.org  ทั้งเว็บไซต์ โดยที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนในชั้นไต่สวนว่าเป็นการขอปิดเว็บไซต์ทั้งเว็บไซต์ ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้องเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่ละเมิดต่อกฎหมาย คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง”
ดูรายละเอียดคำสั่งศาล (ฉบับถอดความ) ได้ตามไฟล์แนบ
ไฟล์แนบ