“เราช่วยรัฐ แล้วรัฐช่วยอะไร?” | ส่องข้อเรียกร้อง ‘ปัญหาปากท้อง’ จาก 6 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19

“เราช่วยรัฐ แล้วรัฐช่วยอะไร?”

ส่องข้อเรียกร้อง ‘ปัญหาปากท้อง’ จาก 6 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและแพร่กระจายเป็นวงกว้างหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม 2564 ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตการควบคุมพฤติกรรมของประชาชนอย่างเข้มงวดอีกครั้ง ตามข้อกำหนดเพิ่มเติมฉบับที่ 16  https://media.thaigov.go.th/uploads/public_img/source/16-030164.pdf

มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มกราคม 2564 สำหรับจังหวัดที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด https://media.thaigov.go.th/uploads/public_img/source/1-2564.pdf

และกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืน คือ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.          ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่โรงเรียน สถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนหรือทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

2.          ห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น การประชุม สัมมนา การจัดเลี้ยง

3.          ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ

4.          ร้านอาหาร เครื่องดื่มให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการตามแนวปฏิบัติและแนวทางป้องกันโรค

5.          ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

6.          ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, ซูปเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์ประชุม ให้เปิดได้ตามปกติภายใต้มาตรการควบคุมโรค

ถึงแม้ว่าจะมีประกาศข้อกำหนดเพิ่มเติมฉบับที่ 18 ออกมาผ่อนคลายการคุมเข้มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา แต่มาตรการคุมเข้มกว่า 28 วันรวมถึงผลกระทบจากมาตรการโควิดในรอบก่อนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ร้านค้า นักเรียน นักศึกษา ลูกจ้าง และแรงงานหาเช้ากินค่ำต่างได้รับผลกระทบจากปัญหากันถ้วนหน้า อาทิเช่น รายได้ที่ลดลง, การถูกเลิกจ้าง, การเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ, ความลำบากในการเลี้ยงดูบุตรหลานที่ไม่ได้ไปโรงเรียน, ภาวะจำเป็นที่ต้องหยุดกิจการ เป็นต้น  จึงทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยมามีกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ออกมาส่งเสียงเรียกร้องการเยียวยาแก้ปัญหาจากภาครัฐเป็นจำนวนมาก

1.เสียงของแรงงาน: พักงาน เลิกจ้าง เสี่ยงอันตราย

ตลอดเดือน มกราคม จนถึงต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2564 มีกลุ่มแรงงาน, ผู้ทำงานโรงงาน, กลุ่มพยาบาล, และอีกหลายกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ออกมาเรียกร้องยื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยเยียวยาแก้ปัญหาปากท้องอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

  • เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวเรียกร้อง 3 ครั้ง ในวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล, 26 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล, 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน้ารัฐสภา (เกียกกาย)
  • กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล

ปัญหาของกลุ่มแรงงานผู้ออกมาเรียกร้องมีหลายประการ ดังนี้

ปัญหาจากการจ้างงาน

1. การถูกลดเงินเดือนจากการประกาศพักงานของนายจ้าง โดยนายจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ

2. การถูกเลิกจ้าง

3. หญิงมีครรภ์ที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกกดดันให้ออกจากงาน

ปัญหาความปลอยภัยและสุขอนามัย

1. การเปลี่ยนอาชีพมาทำงานรับจ้างอิสระที่ไม่มีความมั่นคงและไม่มีสวัสดิการ

2. บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก และเสี่ยงอันตราย

3. ความเสี่ยงในการติดโรคจากที่ทำงาน

4. ความต้องการทำแท้งปลอดภัยเพราะไม่สามารถแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรได้

ปัญหาภาระในชีวิตส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น

1. การทำงานที่บ้านไปพร้อมกับการดูแลบุตรหลานที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้

2. ภาระหนี้สิน กับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

โดยการยื่นหนังสือของกลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ มีข้อเรียกร้องสำคัญๆ ดังนี้

เยียวยาค่าใช้จ่าย

1. เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาแรงงานถ้วนหน้าทุกภาคส่วนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนจนถึงช่วงรับวัคซีน เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็

2. สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราว ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน สำหรับสถานประกอบการที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างแค่ 75% นั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%

3. อุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบการที่สั่งงด เช่น ผับ บาร์ โรงมหรสพ โรงละคร ในช่วงการใช้มาตรการโควิด 3 เดือน

เร่งออกมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย

1. รัฐบาลต้องจัดหาอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสากลในการป้องกัน Covid-19 ให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง และต้องจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น หน้ากากอนามัย ให้กับประชาชนทุกคนอย่างเพียงพอ โดยรัฐบาลต้องจัดส่งให้ประชาชนถ้วนหน้า

2. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับลูกของคนงานในย่านอุตสาหกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษา อุปกรณ์ และอาหาร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิดศูนย์เลี้ยงเด็กระหว่างมีโรคระบาด Covid-19

3. มาตรการทำแท้งปลอดภัยภายใต้สถานการณ์โควิดด้วยการให้บริการการทำแท้ง ผ่านระบบการปรึกษาทางไกล

4. ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล

5. ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด (essential workers) ในระหว่างที่มีการระบาดของโควิด-19  โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจส่งอาหารตามสั่ง ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม (platform business) ที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงของการระบาดฯ แต่แรงงานกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงในการทำงาน เป็นแรงงานรับจ้างทำงานรายชิ้นที่บริษัทเรียกอย่างผิดๆ ว่า “พาร์ทเนอร์” จึงไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่ธุรกิจร่วมจ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ

ทั้งยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลลดงบประมาณภาครัฐในส่วนอื่นๆ เช่น งบประมาณกองทัพ หรืองบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อนำมาจัดสรรเยียวยาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน

#ข้อมูลประกอบ

ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี

ผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 แล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมด้วยตัวเองแทน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน  อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 จึงไม่มีนายจ้างแต่ก็ประกอบอาชีะและมีรายได้จึงต้องการเป็นสมาชิกในระบบสวัสดิการ ผู้ที่จะสมัครประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี

2.เรียนออนไลน์หน้ากระทรวง: ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเรียนออนไลน์

หนึ่งในมาตรการควบคุมโรคตามข้อกำหนดฉบับที่ 16 ข้อที่ 1 คือ การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมรวมตัว ซึ่งต่อมาผ่อนคลายลงในหลายสถาบันการศึกษา ภายใต้การที่ต้องเรียีนหนังสือจากที่บ้านมีข้อกังวลด้านความพร้อมของอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่บ้านที่เอื้อต่อการเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ

วันที่ 8 มกราคม 2564 เวลา 16.00-18.00 น. นักเรียนเลว จัดกิจกรรมเรียนออนไลน์หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสะท้อนปัญหาจากการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิดและการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของระบบการศึกษาที่ไม่อำนวยให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินกิจกรรมเป็นการเรียนออนไลน์ในวิชาต่างๆ โดยการฉายโปรเจคเตอร์วีดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์และเทปบันทึกการสอนไปที่กำแพงบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และมีนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมนั่งเรียนโดยมีการเว้นระยะห่าง มีทั้งอาจารย์ นักกิจกรรม เป็นผู้ให้ความรู้ และยังมีกิจกรรมที่เชิญชวนผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยนำชอล์กเขียนระบายความในใจลงบนพื้นถนนบริเวณหน้ากระทรวง เช่น “ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเรียนออนไลน์”

3. สวัสดิการชิงโชค: ‘คนละครึ่ง’ ที่ไม่ใช่ของทุกคน

22 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยได้นัดทำกิจกรรมหน้ารัฐสภาเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรช่วยส่งเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด-19 ถึงรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โปรยกระดาษจากกล่อง “สวัสดิการชิงโชค” สะท้อนถึงปัญหาของโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เยียวยาไม่ทั่วถึง

โครงการคนละครึ่ง คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าซื้อสินค้าให้ 50% ของมูลค่าสินค้า แต่ไม่เกินวันละ 150 บาท และตลอดทั้งโครงการให้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และในเฟส 2 เพิ่มวงเงินเป็น 3,500 บาทต่อคน ผู้ต้องการรับสิทธิต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ และใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ในโทรศัพท์มือถือเป็นรูปแบบเงินอิเล็กทรอนิก

หลังจากmujการเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนก็เกิดปัญหาจำนวนมากเกิดขึ้นกับผู้ลงทะเบียน อาทิเช่น การกดรับสิทธิไม่ทัน, ปัญหาของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ล่าช่าในการส่งรหัสยืนยัน หรือ “OTP”, อุปสรรคของผู้สูงอายุที่ไม่การใช้งานแอพพลิเคชั่น, การเข้าไม่ถึงสิทธิของคนที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

โดยกลุ่มนักศึกษาได้ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าโครงการนี้เป็นการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ขาดแคลนอุปกรณ์และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี พร้อมอ่านแถลงการณ์โดยมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการเงินเยียวยา ดังนี้

1. ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเสมอภาค และมีความรวดเร็วในการดำเนินการ

2. การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจะต้องเป็นเงินสด ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อบรรเทาตามความเดือดร้อนของทุกคน

หลังการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษา สมบูรณ์ อุทัยเวียงกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ออกมารับหนังสือจากกลุ่มนักศึกษาพร้อมทั้งกล่าวว่า ประธานสภาเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน และขอบคุณนักศึกษาที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนจะนำข้อเรียกร้องไปเสนอถึงประธานสภาได้รับทราบต่อไป

4. ประชาชนเบียร์: มาตรการควบคุมโรคแต่กระทบธุรกิจแอลกอฮอล์

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สมาคมคราฟท์เบียร์และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 30 คนนัดรวมตัวที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยื่นหนังสือขอให้ สคบ. ร้องขอให้รัฐผ่อนคลายมาตรการให้สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบนั่งดื่มที่ร้านได้ หลังจากได้เข้ายื่นหนังสือครั้งแรกที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มกราคม 2564 โดยครั้งนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การเทเบียร์หมดอายุเพื่อสื่อถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ

ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้าคราฟท์เบียร์เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการโควิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 16 ที่มีข้อห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน, การสั่งปิดสถานบริการผับ, บาร์ และกฎหมายที่ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้คำสั่งดังกล่าว ทำให้ร้านคราฟท์เบียร์ไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ รายได้ลดลงกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากรายได้หลักของผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์มาจากการบริโภคภายในร้านเป็นหลัก ในขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลง ผลกระทบดังกล่าวนี้ส่งผลต่อร้านคราฟท์เบียร์ไม่น้อยกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ และมีผู้ประกอบการ รวมทั้งพนักงานที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 5,000 คน

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญคือ

1. คราฟท์เบียร์สดเป็นสินค้ามีอายุการเก็บรักษาน้อย ประมาณ 2-3 เดือน ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้าไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สดได้ทัน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูง ต้องภาษีในอัตราสูงและมีอายุสินค้าสั้น

2. ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตมาตรา 157 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ผลิตสุรา หรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2

3. ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ ตามประกาศของสำนักนายกฯ ออกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เนื่องจากมีการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์มากขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกโดยอ้างว่า “ยากที่จะเข้าไปดูแลให้การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบ” กฎหมายนี้มีปัญหาที่ความคลุมเครือ ไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

4. มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ห้ามมิให้โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทาง Social Media รวมไปถึงการเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยได้เข้าร้องทุกข์เพื่อเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟเบียร์หลายครั้งตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้โดยมีข้อข้อเรียกร้องหลักๆ คือ

1. ขอผ่อนปรนให้ขายเบียร์แบบนั่งรับประทานในร้านได้ถึงสามทุ่มอย่างมีเงื่อนไข เช่น ออกกฎหมายห้ามแชร์แก้วเบียร์ดื่ม การเว้นระยะห่างของโต๊ะ-ที่นั่ง การจำกัดคนเข้า
2. ทบทวนมาตรการผ่อนปรนการขายออนไลน์เฉพาะช่วงเวลานี้ โดยเสนอว่า แอพพลิเคชันสมัยนี้มีระบบคัดกรองอายุ ตรวจสอบบัตรประชาชน รวมถึงการกำหนดเวลาซื้อ-ขาย ซึ่งตอบโจทย์ความมุ่งหมายภาครัฐที่ไม่อยากให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายเกินไปได้ ทั้งยังสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะคนไม่ต้องขับรถออกมาหาที่นั่งดื่ม

ต่อมารัฐบาลผ่อนคลายให้ร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินเวลา 5 ทุ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป แต่ไม่ได้มีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษย้อนหลังให้กับผู้ประกอบการ

5. นักร้อง นักดนตรีอิสระ: ขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมี

กลุ่มนักร้อง นักดนตรีอิสระรวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิและการเยียวยาจากรัฐที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลปรับมาตรการและเยียวยานักร้อง นักดนตรีอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงานในช่วงการระบาดระลอกใหม่จากมาตรการการปิด ผับ บาร์ และการจำกัดเวลานั่งทานอาหารในร้านอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างปกติ

ทั้งยังพบปัญหาเงินเยียวยาผ่านแอพลิเคชั่นไม่ตอบโจทย์ค่าใช้จ่ายต่อเดือนซึ่งจะหนักไปที่ค่าเช่าที่พักอาศัย ซึ่งไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้แอพลิเคชั่นจ่ายได้ โดยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน 2 ครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2564 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

มีข้อเรียกร้องคือ

1. ขอให้รัฐบาลเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน และเยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือนหากสถานการณ์โรคติดต่อยังไม่ดีขึ้น

2. ขอพักชำระหนี้ต่างๆ ทั้งไฟแนนซ์ ที่อยู่อาศัย โดยขอให้รัฐบาลออกหนังสือรับรองให้เป็นบุคคลกรณีไร้รายได้ฉุกเฉิน เนื่องจากการถูกสั่งไม่ให้ทำงานเพราะสถานที่ทำงานเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคจึงถูกปิด และให้สามารถพูดคุยกับผู้ประกอบการสถานที่เช่าพักอาศัยเพื่อขอลดราคาค่าเช่า โดยการตกลงยินยอมทั้งสองฝ่ายทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าโดยมาตรการรับรองจากรัฐบาล

3. ขอผ่อนปรนใบอนุญาตการแสดงดนตรีของสถานประกอบการให้ร้านอาหารสามารถทำการแสดงดนตรีได้ตามมาตรการควบคุมโรค

4. ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือการจัดจ้างงานให้กับกลุ่มอาชีพนักร้องนักดนตรีซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการแสดงดนตรีกับองค์กรหรือผู้บริหารที่สนใจจะนำการแสดงดนตรีไปส่งเสริมการขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคธุรกิจขายสินค้า ห้างร้านต่างๆ หรือหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการใช้แสดงดนตรีในการสนับสนุนหรือรณรงค์เรื่องต่างๆ ด้วย

6.กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน: คืนเงินสมทบชราภาพก่อนไม่มีโอกาสได้ใช้

กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน คือกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตาม มาตรา 33, 39 และ 40 และผู้ประกันตนที่มีเงินสะสมในเงินสมทบชราภาพในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากข้อบังคับของประกันสังคม นำโดย น.สพ.บูรณ์ อารยพล หรือ ‘หมอบูรณ์’

มีข้อเรียกร้องหลัก คือ

1. รณรงค์เรียกร้องกดดันให้ภาครัฐปรับสิทธิประโยชน์จาก พ.ร.บ.ประกันสังคม คืนเงินสมทบชราภาพ 30-50%

2. แก้ไขกฎหมายให้สามารถเบิกเงินสมทบชราภาพออกมาได้ ก่อนอายุ 55 ปี

3. เงินสมทบชราภาพ ต้องเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ

เงินสมทบกรณีชราภาพมาจากส่วนหนึ่งของเงินประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจะถูกหัก 5% ของอัตราเงินเดือนที่ได้รับในทุกๆ เดือน ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนคือ 1.) เงินสมทบกรณีรักษาพยาบาล 1.5% 2.) เงินสบทบกรณีว่างงาน 0.5% 3.) เงินสบทบกรณีชราภาพ 3% ของเงินเดือน โดยเงื่อนไขของการได้เงินสมทบกรณีชราภาพนั้นผู้ประกันตนจะสามารถใช้ได้ต่อเมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในรูปแบบของเงินบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น

กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานมองว่า ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจมาก บางคนลำบากถึงขั้นอาจจะอดตาย ดังนั้น ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะขอนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ก่อนไม่เช่นนั้นอาจจะอดตายก่อนถึงวันได้ใช้สิทธิที่ตนควรจะได้รับ ทั้งยังมองว่าการที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสบทบกองทุนชราภาพมีปริมาณมหาศาลแต่ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นตกถึงประชาชนจริงหรือไม่ กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานได้เดินหน้าเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก
ล่าสุดในวันที่ 22 มกราคม 2564 สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงกรณีที่กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานเข้าร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่า สำนักงานประกันสังคมกำลังดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องเร่งด่วนทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น

https://www.matichon.co.th/politics/news_2543396

ข้อมูลการชุมนุมจาก https://www.mobdatathailand.org/