ข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อหาหนักหน่วงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชาชนอย่างน้อย 95 คนถูกจับกุมและดำเนินคดีโดยอำนาจของทหาร บางรายต้องขึ้นศาลทหาร และเผชิญกับโทษจำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2550 และต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
ปัญหาความน่ากลัวของ “มาตรา 112” ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากตัวบทกฎหมายเองที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้าง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากบรรยากาศทางการเมืองที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดคู่ขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองสูง ตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
แม้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมุ่งเอาผิดเฉพาะกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคลสี่คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เราก็เคยเห็นคำพิพากษาของศาลหลายคดีที่ลงโทษการแสดงความคิดเห็นที่ใช้ลักษณะการเปรียบเปรย ไม่เอ่ยชื่อบุคคล หรือใช้ชื่อสมมติแทน โดยศาลตีความถ้อยคำอย่างกว้างให้หมายถึงบุคคลหนึ่งในสี่ที่กฎหมายคุ้มครองได้ เช่น คดีของสมยศ คดีของยศวริชญ์ คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ฯลฯ และยังมีคดีที่ตีความกว้างจนไปตั้งข้อหากับคนที่เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กระทั่งมีคดีที่ศาลพิพากษาให้การเอ่ยถึงรัชกาลที่ 4 ก็เป็นความผิด
ในยุคสมัยที่การกล่าวถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอ่อนไหวอย่างสูงสุด เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งผู้พิพากษาต่างก็มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติ ในหลายกรณีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หากพยายามต่อสู้คดีว่า เนื้อหาที่ได้พูดไปนั้นไม่เข้าข่ายความผิด แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชนะคดี เนื่องจากหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างแคบที่สุดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แทบจะไม่ถูกใช้กับคดีลักษณะนี้
แต่อย่างไรก็ดี แนวทางการตีความกว้างขวางเพื่อเอาผิดกับจำเลยนั้นเปลี่ยนไปแบบพลิกโฉม “หน้ามือเป็นหลังมือ” ตลอดปี 2561
สัญญาณการพลิกโฉมการตีความเริ่มขึ้นครั้งแรกในคดีของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ถูกตั้งข้อหาจากการอภิปรายในเวทีวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็กพระนเรศวรมหาราช หรือที่เรียกกันว่า “คดีหมิ่นพระนเรศวรฯ” ซึ่งเกือบจะกลายเป็นคดีที่ต้องตีความมาตรา 112 ให้กว้างที่สุดย้อนหลังไปถึงกษัตริย์ในสมัยอยุธยา แต่เมื่อ 17 มกราคม 2561 อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเพียงว่า หลักฐานไม่เพียงพอ
ตามด้วยคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก คือ คดีของนูรฮายาตี หญิงตาบอดที่ถูกศาลจังหวัดยะลาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 จากการแชร์บทความบนเฟซบุ๊กของเธอ เธอขึ้นศาลและรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษให้ต้องจำคุกน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับความผิดฐานนี้ แต่หลังคดีนี้กลายเป็นข่าวดังได้ไม่นาน 23 มกราคม 2561 ทนายความเปิดเผยว่า นูรฮายาตี ได้รับการปล่อยตัวโดยทางครอบครัวได้รับโทรศัพท์จากทางเจ้าหน้าที่ศาลให้ไปรับตัวผู้ต้องขัง โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำเรื่องขอประกันตัว และไม่ทราบว่าประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงินเท่าไร แต่ต่อมาก็มีข่าวว่า เธอถูกดำเนินคดีใหม่ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียว
หลังจากนั้นสัญญาณการพลิกโฉมก็ชัดเจนขึ้นอีกในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดอกกแนวปฏิบัติสำหรับคดี มาตรา 112 โดยเฉพาะ ให้ทุกคดีต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น
ในปี 2561 เท่าที่มีข้อมูลว่า ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ไปอย่างน้อย 7 คดี ซึ่งศาลพิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด ได้แก่
ธานัท หรือ “ทอม ดันดี” อดีตนักร้องดังถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2557 และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวมสี่คดี ซึ่งสองคดีแรกศาลพิพากษาให้ลงโทษไปแล้ว รวมสองคดีต้องโทษจำคุก 10 ปี 10 เดือน สำหรับอีกคดีหนึ่งที่ถูกฟ้องจากการปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณตลาดจตุจักร ในอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อปี 2554 ธานัทให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลเพียงว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามฟ้องจริง
อีกคดีหนึ่งของธานัท หรือ “ทอม ดันดี” เขาถูกกล่าวหาว่า กล่าวปราศรัยในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สวนสาธารณะอนุสรณ์สถานเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี 2553 ธานัทให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาอีกเช่นกัน และศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำตามบรรยายฟ้องโจทก์ยังไม่แจ้งชัดพอที่จะรับฟังได้ว่า การปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง
หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องธานัททั้งสองคดีในปีนี้ ธานัทก็ยังคงต้องรับโทษอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อตามคำพิพากษาคดี 112 อีกสองคดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้
ทนายประเวศ เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยต่อสู้คดีให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ก่อนมาตกเป็นจำเลยเองจากการโพสต์เฟซบุ๊ก เขาถูกฟ้องว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่ผิดมาตรา 112 จำนวน 10 ครั้ง และผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 อีกสามครั้ง ในคดีนี้ทนายประเวศใช้วิธีพิเศษในการต่อสู้คดี เขาปฏิเสธอำนาจศาล ไม่ยอมให้การ ไม่ถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ ไม่หาพยานจำเลยมานำสืบหักล้างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ลงชื่อในเอกสารใดทั้งสิ้น ขณะที่ศาลไม่ให้ประกันตัวและสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับไปฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาให้ ประเวศมีความผิดตามอาญามาตรา 116 สามกรรมพิพากษาจำคุกกรรมละห้าเดือนรวม 15 เดือน และมีความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ พิพากษาจำคุกหนึ่งเดือน รวมจำคุก 16 เดือน ไม่ปรากฎว่า ศาลกล่าวถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในคำพิพากษาเลย
“เค” เป็นนามสมมติของวัยรุ่นในจ.ชลบุรี ที่โพสต์ภาพเหรียญหลายชนิดและประกาศขายในราคาเดียวกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับข่าวเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีกลุ่มประชาชนบุกไปทำร้าย “เค” ถึงหอพักจนเป็นข่าวดัง ต่อมา “เค” ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ขายเหรียญดังกล่าว ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือนฐานนำเข้าข้อมูลเท็จตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ศาลจังหวัดชลบุรี อธิบายเหตุผลในการยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันมีคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ ทรงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องและพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม และราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการ เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศนับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบจนปัจจุบัน พระเกียรติยศของพระองค์ท่านรวมทั้งความรักเคารพเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านจจึงไม่แปรผันไปตามมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง
ในปี 2560 มีข่าวจับกุมกลุ่มวัยรุ่น 8 คนและผู้ใหญ่อีกหนึ่งคน รวมเป็น 9 คน ฐานเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่หลายอำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทั้งหมดถูกดำเนินคดีแยกเป็นอย่างน้อยสามคดีในข้อหาอั้งยี่, ซ่องโจร, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และข้อหามาตรา 112 จากการเผาแต่ละจุดแตกต่างกัน จำเลยแต่ละคนถูกดำเนินคดีในจำนวนไม่เท่ากัน ทั้งหมดให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาในแต่ละคดีให้จำเลยแต่ละคนต้องจำคุกไม่เท่ากัน อยู่ระหว่าง 2 ปี 6 เดือน ถึง 6 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจำเลยบางคนยื่นอุทธรณ์
18 กันยายน 2561 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า แม้จำเลยทั้งหกจะให้การรับสารภาพ แต่พิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ซุ้มประตู ไม่ปรากฏว่า มีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และให้ลงโทษในความผิดฐานซ่องโจรและวางเพลิงเผาทรัพย์แทน ซึ่งศาลได้กำหนดโทษให้น้อยลงมา
สกันต์ เป็นนักโทษคดีเตรียมการวางเพลิงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อรับโทษครบเขาถูกอายัดตัวมาดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อทันที เขาถูกฟ้องจำนวนสามกรรม จากการกล่าวถ้อยคำจำนวนสามครั้งขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีอดีตเพื่อนนักโทษเป็นพยาน สกันต์เริ่มจากปฏิเสธว่า เขาถูกใส่ร้ายโดยนักโทษที่ไม่พอใจเนื่องจากเขาได้เป็นผู้ช่วยผู้คุม แต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ จนกระทั่ง 14 พฤศจิกายน 2561 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความที่อัยการระบุว่าจำเลยได้พูดในเรือนจำฯ จำเป็นต้องตีความและในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใครอย่างชัดเจน
อานันท์ วัย 70 ปี ถูกฟ้องว่า กล่าวพาดพิงสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ตั้งแต่ปี 2555 แต่คดีค้างอยู่ในชั้นตำรวจ คดีกลับมาเดินหน้าในยุคของ คสช. ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาให้ยกฟ้องตามมาตรา 112 เพราะไม่ใช่การหมิ่นบุคคลที่กฎหมายคุ้มครอง แต่ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 326 ทั้งที่ยังมีปัญหาในทางกฎหมายว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาต้องให้ผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์และดำเนินคดีเอง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้งหมด
นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาลฎีกาพิพากษาให้ จําเลยมีความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี รวม 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้ปรับกรรมละ 20,000 บาทรวมเป็น 40,000 บาท
การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อพิจารณาว่า การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายว่าจะต้องเป็นความผิด แม้จะเลยรับสารภาพศาลก็พิพากษายกฟ้องได้ เป็นการใช้อำนาจโดยชอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในคดีส่วนใหญ่ หากจำเลยรับสารภาพศาลก็มักไม่ค่อยใช้ดุลพินิจเช่นนี้มากนัก และยิ่งในคดีมาตรา 112 ที่ก่อนปี 2561 ศาลมักตีความอย่างกว้าง การที่ศาลหลายแห่งต่างใช้ดุลพินิจยกฟ้องมาตรา 112 ทั้งที่จำเลยรับสารภาพ จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจ
อย่างไรก็ดี ในหลายคดี เช่น คดีของทนายประเวศ คดีของ “เค” และคดีของอานันท์ เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 112 แล้วก็กลับลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่น ซึ่งในความผิดฐานอื่นศาลยังคงใช้วิธีตีความอย่างกว้างเพื่อลงโทษจำเลย ซึ่งบางคดีฝ่ายจำเลยก็พร้อมใช้สิทธิอุทธรณ์ และในทางหลักการกฎหมายยังเป็นข้อน่ากังขาที่ควรหยิบยกมาพูดถึงกันให้มากขึ้นต่อไป
สำหรับปรากฏการณ์การตีความ “มาตรา 112” แบบพลิกโฉมที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยตลอดปี 2561 หากเป็นไปเพื่อรักษาหลักการทางกฎหมายโดยศาลและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องถือเป็นสัญญาณอันดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย แต่หากเป็นปรากฏการณ์ที่แปรผันไปตามบรรยากาศทางการเมืองมากกว่าหลักการทางกฎหมายก็ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า เมื่อปี 2561 สามารถพลิกโฉมไปเช่นนี้ได้แล้วจะมีปีพ.ศ.ใดที่จะพลิกโฉมไปทางใดได้อีก