การเดินทางของผู้ต้องหา 421 คน ในเวลา 1,666 วัน ภายใต้คำสั่ง “ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป”

 

11 ธันวาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ โดยมีสาระสำคัญ คือ การยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมหาเสียงและการเลือกตั้ง ซึ่งในบรรดาประกาศคำสั่งที่ถูกยกเลิกมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. รวมอยู่ด้วย 
ครั้งแรกที่การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนถูกกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาในยุค คสช. คือ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยผลของประกาศ คสช. ฉบับที่ 2557 หลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2558 เมื่อมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ (ยกเว้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชัยแดนภาคใต้) หัวหน้า คสช. ได้อาศัยอำนาจตาม “มาตรา 44” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยมีข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เช่นเดียวกับประกาศฉบับที่ 7/2557 แต่ลดอัตราโทษทั้งจำคุกและปรับลงกึ่งหนึ่ง คือ จากจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เหลือโทษจำคุกหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งมีการเปิดช่องด้วยว่าหากหัวหน้า คสช. อนุญาต ก็สามารถจัดการชุมนุมได้ 
เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีเนื้อหาเหมือนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงต้องถือว่า ฉบับที่ออกใหม่ยกเลิกฉบับเก่าแล้ว ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แม้จะไม่เคยมีการยกเลิกประกาศคสช.ฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการก็ตาม
315 วันที่ประชาชนชาวไทยตกอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และอีก 1,351 วัน ที่อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 รวมแล้ว 1,666 วัน มีเรื่องราวและปรากฎการณ์แวดล้อมต่างๆเกิดขึ้นมากมายซึ่งสมควรถูกนำมาทบทวนไว้ ณ ที่นี้
 
421 คน คือ จำนวนผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานนี้ เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลและยืนยันได้
ในปี 2557 หลัง คสช. เข้ายึดอำนาจและมีการชุมนุมต่อต้านอยู่ทั่วประเทศ มีคดีฐานชุมนุมเกินห้าคนเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 16 คดี
มี 11 คดี เช่น คดีของ ภิณโญภาพ วรภพ และ สุรสิทธิ์ ที่จำเลยให้การรับสารภาพและศาลทหารวางโทษในแนวเดียวกันคือ ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับ 10,000 บาท แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก สามเดือนและปรับ 5,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 
นอกจาก 11 คดีข้างต้น ยังมีหนึ่งคดีของวีรยุทธ ซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้าที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้พลเรือนขึ้นศาลทหารจะมีผลบังคับใช้ จำเลยจึงถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรมตามปกติ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 6,000 บาทก่อนลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 
เท่าที่มีข้อมูลคดีชุมนุมตั้งแต่ห้าคนที่เกิดขึ้นในปี 2557 มีเพียงคดีเดียวที่จำเลยให้การปฏิเสธ คือ คดีอภิชาติชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารและจนถึงบัดนี้ คดีนี้เป็นเพียงคดีเดียวที่มีคำพิพากษาจากศาลชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์สั่งปรับอภิชาตเป็นเงิน 6,000 บาทแต่ไม่ลงโทษจำคุกโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสงบและเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมก็ไม่มีพฤติการณ์ต่อสู้ขัดขืน
ในปี 2558 มีคดีเกิดขึ้นอีกสองคดีที่ก่อนที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จะออกมาบังคับใช้ ได้แก่
1) คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก จำเลยสี่คน คือ อานนท์, พันธุ์ศักดิ์, สิรวิชญ์ และวรรณเกียรติ
2) คดีพลเมืองรุกเดิน ของพันธุ์ศักดิ์ 
เนื่องจากจำเลยของทั้งสองคดีให้การปฏิเสธ คดีของพวกเขาจึงยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารจนถึงปัจจุบัน 
หลังจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 ก็มีคดีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนที่เกิดขึ้นในปี 2558 อีกรวม 8 คดี ในจำนวนนี้มีเพียงคดีเดียวที่สิ้นสุดแล้ว คือ คดีของปรีชา ผู้ถูกกล่าวหาว่า นำดอกไม้มาให้กำลังใจพันธ์ศักดิ์ จำเลยคดี “พลเมืองรุกเดิน” ปรีชาให้การรับสารภาพ ศาลทหารจึงพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท ส่วนคดีที่เหลืออีก 7 คดี มีหนึ่งคดีที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีนักวิชาการ 8 คนจัดแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่เชียงใหม่
ขณะที่คดีของกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมที่จัดการชุมนุมช่วงครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่กรุงเทพ และขอนแก่น และการชุมนุมในช่วงเดือน มิถุนายน 2558 มีคดีเกิดขึ้นอีกชุดใหญ่ ได้แก่
  • คดีของ 7 นักศึกษาดาวดินจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น คดีนี้มีจำเลยสองคนที่ถูกฟ้องต่อศาลทหารแล้วได้แก่จตุภัทร์หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และ ภานุพงษ์ หรือ “ไนท์ ดาวดิน” คดีของจตุภัทร์ศาลทหารขอนแก่นสืบพยานเสร็จแล้วแต่อยู่ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีของภานุพงษ์อยู่ระหว่างการสืบพยาน ส่วนนักศึกษาอีกห้าคนยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล
  • คดีการชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพมีผู้ถุกดำเนินคดีรวม 9 คน สามคนได้แก่ ธัชพงศ์, ณัชชชา และพรชัย ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ส่วนอีก 7 คน ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล 
  • คดี 14 นักศึกษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่กล่าวถึงข้างต้นทั้ง 7 คน และนักกิจกรรม 7 คน ที่ร่วมการชุมนุมที่หอศิลป์กรุงเทพได้ร่วมกันทำกิจกรรมชุมนุมที่กรุงเทพในานาม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” จนเป็นเหตุให้พวกเขาถูกฝากขังในเรือนเป็นเวลา 12 วัน และถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีกหนึ่งคดี อย่างไรก็ตามนับจากการฝากขังพวกเขาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจนเป็นข่าวใหญ่แล้ว คดีนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก 
     

 

สำหรับคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 อีกหนึ่งคดี ได้แก่ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีนี้มีผู้ต้องหารวม 11 คน จำเลยหนึ่งคน คือ ธเนตรให้การรับสารภาพและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา รวมหกเดือนและให้เพิ่มโทษอีก 2 เดือน เนื่องจากธเนตรเคยต้องคำพิพากษาจำคุกในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมช่วงปี 2553 มาก่อน เนื่องจากธเนตรให้การรับสารภาพโทษจำคุกของเขาจึงลดเหลือสี่เดือน ในกรณีของธเนตรศาลมีคำพิพากษาจำคุกเขาโดยไม่รอลงอาญา และเท่าที่มีข้อมูลธเนตรเป็นคนเดียวที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกจริงๆ ในข้อหา “ชุมนุมเกินห้าคน” 
ปี 2559 เป็นปีที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในจำนวนนี้มีข้อมูลว่ามีอย่างน้อย 142 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัด ซึ่งพฤติการณ์ของการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในต่างจังหวัดไม่ได้มีกิจกรรมมากไปกว่าการรวมตัวถ่ายภาพกับป้ายไวนิลที่มีข้อความ “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” น่าจะมีเพียงการเปิดศูนย์ปราบโกงที่ห้างบิ๊กซีลาดพร้าวของแกนนำกลุ่มนปช.เพียงกรณีเดียวที่จะมีการแถลงข่าวหรือมีถ้อยแถลงทางการเมือง ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ มีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือเข้ารับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้คดีเป็นอันเลิกกันไป ส่วนคนที่ไม่เข้ารับการปรับทัศนคติก็จะถูกดำเนินคดี 
คดีเกี่ยวกับศูนย์ปราบโกงประชามติที่ยังคงไม่แล้วเสร็จ มีอย่างน้อยสองคดี ได้แก่ คดีของ 19 แกนนำนปช. ซึ่งอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ และคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งสำนวนยังอยู่ที่อัยการยังไม่ฟ้องต่อศาล 
นอกจากคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติก็ยังไม่คดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อีกสองคดีที่เกิดจากการจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการออกเสียงประชามติ ได้แก่ 

 

 

นอกจากคดีที่เกิดจากกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วปีนี้ก็มีคดีฐานชุมนุมทางการเมืองที่น่าสนใจเกิดขึ้นสองคดี ได้แก่ 
  • คดีปัดฝุ่นประชาธิปไตย ที่นักกิจกรรมนัดรวมตัวเดินเท้าจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขนไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ เนื่องในวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พนักงานสอบสวนเพิ่งออกหมายเรียกนักกิจกรรมเจ็ดคนไปพบเพื่อฟ้องคดีในช่วงปลายปี 2561
  • คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ประชาชน 15 คน หลายคนเป็นผู้สูงอายุ ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์และวางแผนทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมาอัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งหมด
ในปี 2560 มีคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เกิดขึ้นเพียงคดีเดียว คือ คดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเกิดจากกรณีที่มีการติดป้ายเขียนข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เพื่อคัดค้านกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบมาถ่ายภาพและวิดีโอการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุม ในจ.เชียงใหม่ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลแขวงเชียงใหม่ 
ในปี 2561 การตั้งข้อหาประชาชนด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองกลับมาถี่ขึ้นอีกครั้งเนื่องจากตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 มีการจัดกิจกรรมเริ่มจากกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จากกรุงเทพไปขอนแก่น ที่มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี 8 คน และมีกิจกรรมให้กำลังในที่บ้านดอยเทวดา จังหวัดพะเยาซึ่งหลังเผยแพร่ภาพการเดินขบวนในหมู่บ้านออกไปก็มีผู้ถูกตั้งข้อหาอีก 11 คน ต่อมาทั้งสองคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง
ต่อมามีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ผู้เข้าร่วมถูกตั้งข้อหารวมหกครั้ง สี่ครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและสองครั้งในต่างจังหวัด ได้แก่ ที่พัทยาและที่เชียงใหม่
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นรวมหกครั้งก็มีความน่าสนใจเพราะแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหากับผู้กล่าวหาจำนวนมาก ได้แก่ 

 

 

คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนอกจากจะมีความน่าสนใจตรงที่มีการฟ้องผู้ชุมนุมแบบ “ปูพรม” แล้วเจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีแยกการดำเนินคดีระหว่างคนที่เป็นแกนนำ กับคนที่เป็นผู้ร่วมการชุมนุมธรรมดาด้วย โดยผู้ที่เป็นแกนนำจะถุกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมเข้าไป ในจำนวนคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั้งหมด 10 คดี บางคดีอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีไปแล้ว บางคดีก็ยังไม่มีคำสั่งเพียงแต่เลื่อนการสั่งฟ้องออกไปเรื่อยๆ รวมแล้วมีผู้ถูกตั้งข้อหาจากการเรียกร้องเลือกตั้งอย่างน้อย 142 คน หลายคนโดนซ้ำกันหลายคดี
แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกยกเลิกไป เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่อาจหยิบยกมาใช้จัดการกับการชุมนุมได้ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมการชุมนุมสาธาณะ 2558, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) หรือกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เป็นต้น 
ในส่วนของคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือเริ่มกระบวนการทางกฎหมายไปแล้ว คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ก็ระบุว่า การยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ไม่ให้กระทบกับการดำเนินคดี หรือการดำเนินการตามประกาศคำสั่งที่เกิดขึ้นก่อนมีการออกคำสั่งฉบับนี้ ในทางปฏิบัติจึงอาจตีความได้ว่าคดีที่เหตุเกิดขึ้นก่อนมีคำสั่งฉบับนี้ก็ให้ดำเนินต่อไป กรณีที่ยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดก็อาจจะยังจับกุมได้ แต่เมื่อคดีไปถึงชั้นที่ศาลมีคำพิพากษา ก็ต้องรอดูว่า ศาลจะพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคำสั่งที่ระบุห้ามชุมนุมถูกยกเลิกแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ร่วมการชุมนุมแล้วถูกตั้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติม เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานอื่นๆ ก็จะยังจะถูกพิพากษาลงโทษตามความผิดฐานนั้นๆ ต่อไปได้
และท้ายที่สุดแม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จะถูกยกเลิกไป โดยมีผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกจริงๆเพียง 1 คนตลอดเวลาที่คำสั่งนี้ถูกบังคับใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (และประกาศ คสช. ฉบับที่7/2557) ก็ได้ทำหน้าที่ของมัน ในฐานะเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวและสร้างภาระให้กับผู้ที่บังอาจลุกขึ้นมาชุมนุมหรือแสดงการต่อต้าน คสช. สร้างภาพลักษณ์ให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องยากและไกลตัวของประชาชน ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว และแม้คำสั่งฉบับนี้จะถูกยกเลิกไป คสช. กว่าบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะกลับคืนมาสู่สังคมไทย ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกมาก