4 ปี คสช. เห็นแนวโน้มคดีการเมืองใช้เพียง “ขู่” ให้กลัว ไม่ได้มุ่งจับคนไปติดคุกนานๆ

ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2561 เป็นเวลาสี่ปีพอดีที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการจับกุมและดำเนินคดีประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจำนวนมาก ผู้ใช้อำนาจรัฐยุคนี้ก็มีเครื่องมือทาง “กฎหมาย” หลายข้อด้วยกันให้เลือกหยิบมาใช้จำกัดสิทธิของประชาชนที่มีความเห็นต่างกับ คสช. ได้
คสช. อยู่ในอำนาจมาครบสี่ปี โดยรักษาฐานอำนาจของตัวเองมาได้ด้วยการใช้คดีความต่างๆ เป็นเครื่องมือสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และยืมมือสถาบันตุลาการมาอ้างอิงเพื่อสร้างภาระให้กับคนที่ไม่หยุดเคลื่อนไหว แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า คสช. เองก็ถูกกดดันจากสังคมหรือนานาชาติให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากการดำเนินคดีลงบ้าง หลายคดีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หลายคดีถูกแช่แข็งอยู่ในมือตำรวจ และหลายคดีสถาบันตุลาการก็เริ่มกล้าที่จะใช้ดุลพินิจออกคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ คสช. ทำให้ยิ่ง คสช. อยู่ในอำนาจนานเข้า เครื่องมือทางกฎหมายทั้งหลายก็เริ่มใช้ไม่ได้ผล หากประชาชนติดตามศึกษารู้เท่าทันผลของการตั้งข้อหาแต่ละข้อ ก็จะไม่ต้องกลัวการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป
ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112: ไม่มีการฟ้องคดีเพิ่มในปี 2561
เท่าที่ไอลอว์บันทึกสถิติได้ เวลาสี่ปีในยุค คสช. มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 131 คน โดยแบ่งเป็น การตั้งข้อหาจากการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์ 37 คน และความผิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก 94 คน แบ่งการตั้งข้อกล่าวหาออกตามช่วงเวลา ได้ดังนี้ หลังรัฐประหารในปี 2557 อย่างน้อย 24 คน ปี 2558 อย่างน้อย 37 คน ปี 2559 อย่างน้อย 15 คน ปี 2560 อย่างน้อย 18 คน และปี 2561 ยังไม่มีผู้ใดถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่า ในปี 2561 นั้น การบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น
อีกทั้งคดีที่เกิดขึ้นในหลังวันที่ 12 กันยายน 2559 ก็กลับเข้ามาพิจารณาในศาลพลเรือน แทนศาลทหาร ด้วยผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ส่วนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่ไม่ว่า จะจับกุมตัวจำเลยได้เมื่อไรก็ตาม ซึ่งข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ การนัดหมายคดีเพื่อสืบพยาน ซึ่งศาลทหารใช้ระบบนัดวันพิจารณาคดีไม่ต่อเนื่องกัน เว้นระยะเวลายาวนาน หรือเรียกว่า “นัดแบบฟันหลอ” ทำให้กระบวนการสืบพยานช้ามาก แต่ในศาลพลเรือนนั้นจะใช้ระบบสืบพยานแบบต่อเนื่องกัน เพื่อให้สืบพยานได้ติดต่อกันและเสร็จไปในคราวเดียว สำหรับคดี 112 ที่จำเลยไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ความช้าเร็วของคดีจึงสำคัญมาก
ตัวอย่างเช่น คดีของทนายประเวศ ที่ขึ้นศาลพลเรือน พิจารณาคดีโดยศาลอาญา มีการนัดสืบพยานในคดี 3 วันต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2561 นัดต่อเนื่องกันจนสืบพยานแล้วเสร็จ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 รวมแล้วใช้เวลาประมาณปีเศษก็สืบพยานเสร็จสิ้น เปรียบเทียบกับคดีของสิรภพที่พิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพมาตั้งแต่ปี 2557 จนเมื่อ คสช. อายุครบ 4 ปี ก็เพิ่งสืบพยานได้เพียงสี่ปากเท่านั้น
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงต้นปี 2561 คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ออกระเบียบทางปฏิบัติกำหนดให้คดีมาตรา 112 ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องแต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมในการพิจารณาสำนวนคดี โดยอัยการที่เป็นผู้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนโดยไม่ต้องทำความเห็นต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดทันที ทั้งในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ออกระเบียบนี้ ก็ยังไม่พบการสั่งฟ้องคดีในความผิด มาตรา 112 เพิ่มขึ้นเลย
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2561 มีสัญญาณแสดงถึงความผ่อนคลายอย่างชัดเจนและไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี ในคดีที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกกล่าวหาว่า อภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และ 29 มีนาคม 2561 ในคดีของธานัทหรือ “ทอม ดันดี” คดีที่สี่ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่า กล่าวปราศรัยในลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่จังหวัดลำพูน คดีนี้ธานัทให้การรับสารภาพแต่ศาลอาญาก็พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า การปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
เท่าที่ทราบนับถึงวันครบสี่ปีของ คสช. มีจำเลยในคดีมาตรา 112 ที่ยังอยู่ระหว่างการคุมขังในเรือนจำ อย่างน้อย 59 คน คิดเป็นคนที่รับโทษตามคำพิพากษาอยู่อย่างน้อย 37 คน และคนที่ต้องคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอย่างน้อย 22 คน
ข้อหาขัด พ.ร.บ.ประชามติฯ: ไม่มีใครต้องติดคุกหลังศาลพิพากษา
ในปี 2559 มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ที่จำกัดการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐูธรรมนูญ ทำให้มีคนอย่างน้อย 64 คน ที่แสดงออกอย่างสันติและถูกตั้งข้อหาว่า รก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี
หลังประชามติผ่านไปด้วยความเรียบร้อยในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ช่วงปี 2560 ถึง 2561 ก็เริ่มมีการพิจารณาและพิพากษาคดีเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยคดีแรกมีคำพิพากษาในวันที่ 24 เมษายน 2560 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษายกฟ้อง ลุงสามารถ ที่แจกใบปลิวมีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” โดยศาลให้เหตุผลว่า ใบปลิวไม่อาจโยงถึงการออกเสียงประชามติ เพราะคนมีสิทธิลงคะแนน อายุ 18 ปี มีวุฒิภาวะแล้ว ย่อมตัดสินใจเองได้ และกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัดไม่ใช่จะตีความเพื่อมุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพ
26 กันยายน 2560 ศาลจังหวัดพระโขนง พิพากษายกฟ้อง ปิยรัฐ ที่ฉีกบัตรประชามติ พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง ทั้งระหว่างและหลังการฉีกบัตรการออกเสียงประชามติในหน่วยนั้นก็ดำเนินไปตามปกติ แต่ศาลให้มีความผิดในข้อหาทำลายบัตรลงคะแนนประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 พิพากษาจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ปรับสี่พันบาท ปิยรัฐให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกสองเดือนปรับสองพันบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
7 พฤศจิกายน 2560 ในคดีของ วิชาญ ที่พูดเชิญชวนคนที่ตลาดในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ให้ไปออกเสียงประชามติ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี
29 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยห้าคน ที่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันแจกจ่ายสติ๊กเกอร์เขียนข้อความว่า “Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยศาลให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาที่จะแจกจ่ายเอกสาร และเผยแพร่ข้อความสติกเกอร์ตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยทั้งห้าแจกจ่ายเอกสารต่อบุคคลอื่น ลำพังการที่จำเลยเคยทำกิจกรรมร่วมกันหรือมีแนวคิดเหมือนกันนั้นไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง
และวันที่ 29 มีนาคม 2561 ศาลจังหวัดภูเขียว พิพากษายกฟ้อง จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน และวศิน จากกรณีที่เดินแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ที่ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยศาลให้เหตุผลว่า การแจกเอกสารดังกล่าวไปเป็นโดยการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เข้าข่ายการปลุกระดม ให้ประชาชนเกิดการลุกฮือ เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้
จากการพิพากษาของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งห้าคดียังไม่มีใครต้องติดคุกเพราะคำพิพากษาของศาลเลย ถือว่า ในคดีเกี่ยวกับประชามตินั้นมีแนวโน้มไปในทางที่ดี ผลของคดีความที่เกิดขึ้นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2559 กำลังค่อยๆ ถูกลบล้างไป และแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันตุลาการที่เริ่มเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจจับกุมดำเนินคดีด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคของ คสช.
ข้อหา “ชุมนุมเกิน 5 คน”: ใช้เป็นเพียงเครื่องมือ “ขู่ให้กลัว” ป้องกันคนไปร่วมชุมนุม
ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2561 มีคนถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ไปแล้วอย่างน้อย 390 คน อันเป็นข้อหาฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หากนับเฉพาะปี 2561 นั้นมีคนถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างน้อย 114 คน จากเหตุการณ์ที่สำคัญคือ กิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ และกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ติดต่อกันหลายครั้งหลายสถานที่ ทั้งบริเวณหน้าห้างมาบุญครอง, ถนนราชดำเนิน, หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้าห้างเซ็นทรัลพัทยา และหน้ากองทัพบก
คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ช่วงปี 2557 ส่วนใหญ่มาจากการทำกิจกรรมต่อต้านการยึดอำนาจ ซึ่งแม้จะถูกจับไปขึ้นศาลทหาร แต่ทุกคดีเมื่อจำเลยรับสารภาพผลที่ต้องรับก็ยังไม่เลวร้ายจนเกินไป ศาลทหารพิพากษาเหมือนกันทุกคดีให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี ซึ่งถึงวันที่ คสช. อยู่ครบสี่ปี ทุกคนก็พ้นจากระยะเวลาการรอลงอาญาหมดแล้ว จึงถือว่า ไม่มีคดีติดตัว แต่อาจยังมีบางคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี คดีก็ยังคงค้างการพิจารณาอย่างช้าๆ อยู่ที่ศาลทหาร
ในช่วงปี 2558 มีกระแสจากการจัดกิจกรรมต่อต้าน คสช. ของกลุ่มนักศึกษา ทั้งกลุ่มดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเหตุให้มีนักกิจกรรมถูกจับและตั้งข้อหานี้เพิ่ม แต่ถึงวันที่ครบสี่ปีของ คสช. คดีความของกลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ก็ยังไม่เดินหน้าไปถึงไหน จำเลยส่วนใหญ่ยังไม่ถูกส่งฟ้อง คดีที่คืบหน้ามากที่สุด คือ คดีชูป้ายต้านรัฐประหารของจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ดาวดิน” เนื่องจากจตุภัทร์ถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นด้วย คดีนี้จึงเดินหน้าไปก่อนและสืบพยานไปหลายปากแล้วที่ศาลทหารขอนแก่น ส่วนคดีที่มีชื่อเสียงของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือกลุ่ม “14 นักศึกษา” ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวและยังไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาล
การดำเนินคดีต่อกลุ่มนักวิชาการ กรณีแถลงข่าวประเด็น มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ที่จังหวัดเชียงใหม่ อัยการทหารก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ส่วนอีกคดีหนึ่งที่คล้ายกัน กรณีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็เลื่อนการฟังคำสั่งอัยการมาหลายครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะไม่ฟ้องคดีอีกเช่นกัน
คนที่ถูกตั้งข้อหาคดีนี้ที่ผ่านมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด ด้วยหลักทรัพย์ระหว่าง 10,000-40,000 บาท ในปี 2561 เมื่อคดีไม่ต้องไปขึ้นศาลทหารแล้ว ศาลพลเรือนหลายคดีพิจารณาไม่อนุญาตให้คุมขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาคดี หรือบางคดีตำรวจก็พิจารณาไม่ใช่อำนาจจับกุมตัวจำเลย จำเลยจึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์เพื่อประกันตัว มีเพียงคดีกิจกรรม We walk ที่ดอยเทวดา จังหวัดพะเยา ที่ศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 5,000 บาท ไม่มีใครต้องถูกฝากขังหรือได้นอนในคุกด้วยเพียงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
มีข้อสังเกตว่า ในปี 2561 เมื่อมีการนัดหมายชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้งและมีคนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก การกำหนดวันนัดหมายคดีโดยตำรวจหรืออัยการเกี่ยวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น หลายครั้งเลือกวันนัดหมายในวันที่ใกล้เคียงกับวันที่มีนัดหมายการชุมนุม หรือใกล้กับวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองเสมอ แสดงให้เห็นว่ากลไกในการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้เป็นเพียงการทำให้นักกิจกรรมมีภาระในทางคดีมกาขึ้น และมีโอกาสใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ยากลำบากขึ้น เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งหวังประโยชน์อย่างอื่นจากกระบวนการ ไม่ได้มุ่งหวังเพียงเพื่อลงโทษทางอาญาเท่านั้น
ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116: ใช้ข่มขู่ผู้แสดงความเห็นต่อต้าน แต่ผลคดีไม่ร้ายแรงจริง
ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2561 มีคนถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ไปแล้วอย่างน้อย 78 คน จาก 31 คดี ความผิดในข้อหานี้ก่อนรัฐประหาร ปี 2557 มีการใช้น้อยมาก ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงก่อนรัฐประหารปี 2557 มีการดำเนินคดีประมาณ 7 คดี เท่านั้น และทั้งหมดเป็นการดำเนินคดีต่อผู้จัดการชุมนุมขนาดใหญ่ ไม่ใช่ดำเนินคดีกับผู้ที่เพียงแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์
ในยุคของ คสช. มาตรา 116 ถูกนำมาใช้กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นไปในทางต่อต้านหรือวิจารณ์รัฐบาล ซึ่งคดีความจำนวนมาก เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาแล้วทางฝ่ายทหารและตำรวจก็จะแถลงข่าวต่อสาธารณะเพื่อกระจายความหวาดกลัวออกไป หลังจากนั้นหลายคดีก็ค้างอยู่ในชั้นตำรวจและอัยการ เช่น คดีของประวิตร นักข่าวจากข่าวสดอิงลิช ที่แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งคดีความก็ค้างอยู่ในชั้นตำรวจ ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2560 และไม่มีความเคลื่อนไหวทางคดี หรือคดีของ สิทธิทัศน์ ที่โปรยใบปปลิวต่อต้านเผด็จการตั้งแต่ปลายปี 2557 จนผ่านมาเกือบสี่ปีก็ยังไม่ได้เริ่มการสืบพยาน
ขณะที่คดีมาตรา 116 อีกส่วนหนึ่งมีผลคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้วในทางที่เป็นคุณกับจำเลย เช่น คดีของรินดา ผู้โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์พล.อ.ประยุทธิ์ ซึ่งศาลทหารวินิจฉัยว่า ไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 จึงให้จำหน่ายคดีและไปฟ้องคดีต่อศาลพลเรือน ต่อมาศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง หรือคดีของปรีชา ผู้เอาดอกไม้ไปมอบให้กำลังใจระหว่างกิจกรรมเดินเท้าถามหาความยุติธรรม ซึ่งต่อมาศาลทหารพิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 116 หรือคดีของ “แจ่ม”  ผู้แชร์แผนภาพเกี่ยวกับข่าวลือการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งต่อมาอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องในข้อหามาตรา 116
จากสถิติหลังการรัฐประหารมีเพียง 1 คดีเท่านั้นที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดตามมาตรา 116 และให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกจริงๆ คือ คดีของชญาภา ที่ถูกฟ้องว่า โพสต์ข่าวลือเรื่องรัฐประหารซ้อน ซึ่งคดีนี้มีความพิเศษเพราะจำเลยถูกฟ้องพ่วงกับความผิดตามมาตรา 112 ด้วยและถูกตัดสินพร้อมกันทุกข้อหา ในส่วนของคดีอื่นอีก 30 คดีที่เหลือ ยังไม่มีผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินว่าผิดแม้แต่คนเดียว
การใช้มาตรา 116 ในยุคของ คสช. จึงเป็นเพียงใช้เพื่อข่มขู่ประชาชนให้กลัวที่จะแสดงความเห็นวิจารณ์ คสช. แต่ถ้าหากถูกดำเนินคดีจริง แม้ว่า กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกินเจ็ดปี แต่ก็ยังมีโอกาสน้อยที่จำเลยจะต้องเผชิญหน้ากับโทษจำคุกจริงๆ
ข้อหาไม่มารายงานตัวต่อ คสช.: แทบไม่ได้ใช้แล้วหลังปี 2557
ความผิดฐานไม่มารายงานตัว เป็นความผิดพิเศษที่ คสช. กำหนดขึ้นโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่หลังรัฐประหาร  22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2561 มีผู้ถูกเรียกรายงานตัวโดย คสช. อย่างน้อย 1,138 คน หลายคนในจำนวนนี้ไม่ได้ไปรายงานตัว ซึ่งภายหลังมีคนถูกจับกุมได้และถูกตั้งข้อหานี้อย่างน้อย 14 คน
จนถึงครบรอบ 4 ปี ที่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ มี 12 คดีที่สิ้นสุดแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้องหนึ่งคน คือ คดีของจิตรา ที่ศาลทหารเห็นเองว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะไม่มารายงานตัวแต่ติดธุระอยู่ที่ต่างประเทศ ศาลพิพากษาจำคุกแต่รอลงอาญาโทษจำคุกสิบคน และอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดีหนึ่งคน เนื่องจากจำเลยเดินทางมารายงานตัวเองเพียงแต่มาช้ากว่ากำหนด และมีอีกสองคนที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี คือ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่คดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารในขั้นตอนของการสืบพยานจำเลย และคดีของจาตุรนต์ ฉายแสงที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลเห็นว่า คดีของเขาอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมจึงให้จำหน่ายคดีจากศาลทหารซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม
ในความผิดข้อหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในสี่ปีที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการตัดสินให้มีความผิดถึง 10 คดี แต่ทุกคดีศาลก็ให้รอลงอาญาไว้ อัยการสั่งไม่ฟ้องหนึ่งคดี และคดีที่ค้างอยู่ในศาลก็ไม่มีความเคลื่อนไหวไปแล้วหนึ่งคดี เหลือเพียงคดีเดียวที่ยังอยู่ในขั้นตอนสืบพยานจำเลย ซึ่งในปีที่ 4 ไม่มีคนถูกตั้งข้อหานี้เพิ่มอีก และมีแนวโน้มว่า ข้อหานี้จะหมดยุคสมัยไม่อาจถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนได้อีกแล้ว