#Attitude Adjusted?: เรียกนักข่าวประชาไทจิบกาแฟหลังเผยแพร่การ์ตูนเกี่ยวกับม.112

นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2547 สำนักข่าวประชาไทเป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่ฝ่ายความมั่นคงต้องสนใจจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดทุกยุคทุกสมัย เพราะประชาไทเป็นสำนักข่าวที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ โดยเฉพาะผู้เห็นต่างกับรัฐบาลทหาร อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นที่สำนักข่าวประชาไทรายงาน เช่น ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยประกาศคำสั่งคสช.และการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความเปราะบางในสายตาฝ่ายความมั่นคง
แม้ว่า ในยุค คสช. สำนักข่าวประชาไทจะยังทำงานได้โดยไม่ถูกปิดหรือถูกดำเนินคดี แต่ก็ปรากฎว่ามีผู้สื่อข่าวของประชาไทอย่างน้อยหนึ่งคนที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกให้ไป ‘พูดคุย’ จากการนำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง “สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง” ซึ่งรวบรวมการกระทำที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากหลายคดีมาทำเป็นภาพการ์ตูนประกอบบทความ โดยทหารให้เหตุผลในการเชิญไปคุยว่า ต้องการทำความเข้าใจ เพราะภาพประกอบในบทความดังกล่าวมีการลดทอนข้อมูลจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามมาตรา 112
บทสนทนากับโทรศัพท์ลึกลับ
ในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ทวีพร คุ้มเมธา ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทยภาคภาษาอังกฤษ (Prachatai English) เผยแพร่บทความชื่อ “สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง” บนเว็บไซต์ประชาไท  โดยรายงานดังกล่าวมีภาพการ์ตูนแสดงการกระทำตามที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 หลายๆคดี และข้อความสรุปสาระสำคัญแต่ละคดี พร้อมทั้งลิ้งก์ที่จะเข้าไปดูรายละเอียดแต่ละคดีบนเว็บไซต์ประชาไท ในรายงานชิ้นนี้ทวีพรใส่ชื่อตัวเองในฐานะผู้เขียนด้วย
ในวันที่ 22 ตุลาคม หนึ่งวันหลังรายงานถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท ทวีพรได้รับโทรศัพท์จากบุคคลลึกลับคนหนึ่่งซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากบุคคลดังกล่าวพูดเร็ว ทวีพรจึงจับใจความไม่ได้ว่าเขาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
บุคคลลึกลับที่ปลายสายไม่ได้แจ้งชื่อกับทวีพร เขาเพียงแต่แสดงความไม่พอใจว่า รายงานของทวีพรอาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า ทำอะไรก็อาจติดคุกด้วยมาตรา 112ได้ เขายังบอกทวีพรด้วยว่าให้ไปพบที่กรมทหารสื่อสาร ย่านเกียกกาย ในวันที่ 26 ตุลาคม โดยไม่ได้แจ้งว่าให้ไปพบบุคคลใด ทวีพรพยายามขอให้ส่งอีเมลรายละเอียดหรือส่งจดหมายให้มีหลักฐานเป็นหนังสือมาด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธ เธอจึงแจ้งว่าจะไม่ไปพบ คู่สนทนาของเธอถามย้ำสองครั้งทำนองว่า แน่ใจแล้วใช่ไหมที่จะไม่ไป ก่อนจะวางหูไป
 ‘เกาะติดชีวิตนักข่าว’ กับประสบการณ์เป็นบุคคลเป้าหมายของ ‘คสช.’
หลังทวีพรแจ้งว่าจะไม่ไปเข้าพบกับบุคคลทางโทรศัพท์ ก็เริ่มมีปรากฎเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้น ทั้งที่บ้านของเธอและที่สำนักงานของประชาไท ช่วงวันที่ 23 – 25ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวมีเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบขับรถทหารวนเวียนอยู่บริเวณหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของทวีพรตั้งแต่ช่วงเช้าและกลับไปในช่วงเย็นโดยปฏิบัติลักษณะเดียวกันติดต่อกันสามวัน ทวีพรไม่ได้เห็นเหตุการณ์เองแต่มาทราบเรื่องภายหลังจากรปภ.ของหมู่บ้าน แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าไปแสดงตัวที่บ้านของทวีพร
ในวันที่ 26 ตุลาคม มีโทรศัพท์น่าสงสัยโทรมาที่สำนักงานของประชาไท อ้างว่าโทรมาเร่งรัดหนี้และสอบถามว่า ทวีพรจะเข้ามาที่สำนักงานหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบก็วางสายไปทันที จากนั้นในช่วงเที่ยงก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสามนายเข้ามาวนเวียนอยู่บริเวณสำนักงานของเธอ ซึ่งหนึ่ีงในนั้นทวีพรจำได้ว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยติดตามผู้สื่อข่าวของประชาไทอีกคนหนึ่ง
ทวีพรระบุด้วยว่า ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในเครื่องแบบรวมหกนายเดินทางไปที่บ้านตามภูมิลำเนาของเธอ และแจ้งกับพ่อของเธอว่ามาเชิญตัวทวีพรไปพูดคุยกับนายทหารระดับสูงที่กรมทหารสื่อสาร เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งกับพ่อของเธอด้วยว่า หากไม่ไปตามคำเชิญอาจจะให้อัยการทหารออกหมายจับ ทวีพรจึงให้หัวหน้างานที่สำนักข่าวประชาไทประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทหารว่า จะเดินทางไปพบในวันที่ 27 ตุลาคม ในช่วงบ่าย เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องการไปพบเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง เจ้าหน้าที่ซึ่งไป ‘เยี่ยมเยียน’ พ่อของเธอจึงเดินทางกลับ ทวีพรเล่าด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารยังได้ปริ้นท์รายงานชิ้นที่มีปัญหาไปให้พ่อกับแม่ของเธอดูด้วย
บทสนทนากับชายในเครื่องแบบที่เปิดเผยชื่อไม่ได้
ในวันนัด ทวีพรพร้อมกับบรรณาธิการบริหารของประชาไทเดินทางไปที่กรมทหารสื่อสารตามที่นัดหมายเอาไว้ ทวีพรระบุว่า ก่อนเวลานัดหมายมีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของเธอด้วยเพื่อให้บริการ ‘รับ-ส่ง’ แต่ในเวลานั้นตัวเธอออกจากบ้านแล้ว เมื่อไปถึงจุดนัดพบ ทั้งทวีพรและหัวหน้างานของเธอต้องกรอกประวัติส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร และถูกแจ้งไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องประชุม พร้อมทั้งกำชับไม่ให้เปิดเผยชื่อ ‘นายทหารระดับสูง’ ที่กำลังจะเป็นคู่สนทนาด้วย
ทวีพรเล่าด้วยว่า ก่อนจะเข้าไปคุยในห้องประชุมอย่างเป็นทางการ นายทหารยศพลโทซึ่งต่อมาจะเป็นประธานในที่ประชุมพูดกับเธอในทำนองว่า ตัวเธอมีประวัติที่ดี ได้เกียรตินิยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝ่ายข่าวของทหาร “ทำการบ้าน” เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของเธอมาเป็นอย่างดี
เมื่อถึงเวลาพูดคุยนายทหารยศพลโทนั่งหัวโต๊ะในฐานะประธาน พร้อมตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกสทช. อยู่ในที่ประชุมด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาพูดคุยมีเพียงนายทหารยศพลโทที่เป็นคนพูดส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นเพียงแต่ทำหน้าที่แนะนำตัวและสังเกตการณ์
นอกจากตัวแทนฝ่ายรัฐที่เข้าพูดคุยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารก็อนุญาตให้บรรณาธิการบริหารของประชาไท และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่งเข้าไปสังเกตการณ์การพูดคุยด้วย ทวีพรระบุว่า เมื่อฝ่ายทหารทราบว่า มีตัวแทนของศูนย์ทนายฯ เข้ามาร่วมฟังด้วยก็แสดงความรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ไม่ได้สั่งห้ามการสังเกตการณ์แต่อย่างใด ด้านเจ้าหน้าที่ทหารยังได้เชิญตัวแทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือแห่งประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในที่ประชุมตัวแทนคนดังกล่าวย้ำกับนายทหารยศพลโทว่า ว่าสำนักข่าวประชาไทไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม
นายทหารยศพลโทชี้แจงกับทวีพรด้วยความสุภาพถึงเหตุผลที่ คสช. จำเป็นต้องยึดอำนาจ และระบุว่า การเชิญตัวครั้งนี้ไม่ใช่การข่มขู่แต่เป็นการทำงานตามขั้นตอนของ คสช. เป็นเพียงการตักเตือนเท่านั้น หลังจากนั้นจึงชี้แจงว่า ภาพประกอบรายงานของทวีพรอาจทำให้คนเข้าใจประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิด พร้อมทั้งเตือนว่าหากทวีพร “ทำผิด” อีก ทางเจ้าหน้าที่ีก็จะต้องดำเนินการตามลำดับ นายทหารคู่สนทนายังยกตัวอย่างกรณีการเชิญตัวประวิตร โรจนพฤกษ์อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสของเดอะเนชันไปปรับทัศนคติให้ทวีพรฟังด้วย
ด้านหัวหน้างานของทวีพรพแย้งถึงวิธีการทำงานของทหารว่า ไม่เหมาะสม หากทหารพบปัญหาในรายงานข่าวที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท ก็ควรติดต่อมาที่สำนักงานประชาไท ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวและเป็นนายจ้างของทวีพร ไม่ใช่โทรไปเรียกตัวนักข่าวเป็นรายบุคคล แต่ทางฝ่ายทหารก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบประเด็นนี้ ก่อนเดินทางกลับนายทหารยศพลโทก็พูดว่า จะให้คนคอยติดตามดูพฤติกรรมของทวีพรต่อไป
สร้างสรรค์บรรยากาศแห่งความกลัว
แม้ว่าในการพูดคุยครั้งนี้ทวีพรจะไม่ต้องลงนามในข้อตกลงใดๆ และไม่ต้องถูกกักขังข้ามวัน แต่เธอก็รู้สึกได้ว่าการทำหน้าที่ในฐานะ “สื่อมวลชน” จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว โดยทวีพรยอมรับว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอเซ็นเซอร์งานเก่าๆ ของตัวเองที่เขียนเกี่ยวกับมาตรา 112
ทวีพร เล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยเขียนรายงานข่าวเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีเนื้อหาเข้มข้นมาก่อน แต่ก็ไม่เคยมีปัญหา เธอประเมินว่า เธอถูกเรียกตัวในครั้งนี้เพราะงานชิ้นนี้เป็นภาพการ์ตูนที่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่า  ทวีพรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังเผยแพร่งานชิ้นนี้เธอถูกกลุ่มผู้เห็นต่างล่าแม่มด และคนกลุ่มนี้อาจรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ทหารเจ้าหน้าที่ทหารจึงเชิญตัวเธอไปพูดคุย
ในปี 2559 ทวีพรยุติบทบาทในฐานะผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไท เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่ระหว่างที่อยู่ที่อังกฤษนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านเพื่อสอบถามหาตัวเธอกับพ่อและแม่สองครั้ง