5 อันดับ คดีประชาชนที่ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร แต่ถูกยัดให้ขึ้นศาลทหาร

ในยุครัฐบาล คสช. มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงต้องถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ประกาศฉบับนี้ใช้มาเป็นเวลากว่าสองปี และถูกยกเลิกโดย คสช. เองเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559

ตลอดระยะเวลากว่าสองปี คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112, คดียุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, คดีชุมนุมทางการเมือง, คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช., คดีครอบครองอาวุธปืน และคดีอีกจำนวนมากที่พลเรือนถูกกล่าวหา ถูกส่งไปขึ้นศาลทหาร รวมถึงคดีที่พลเรือนไม่ได้กระทำความผิดตามข้อหาเหล่านี้ แต่ก็ถูกตั้งข้อหาเพื่อให้เป็นคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารด้วย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีประชาชนต้องขึ้นศาลทหารอย่างน้อย 1,546 คน ซึ่งบางส่วนเป็นคดีเกี่ยวกับการเมือง บางส่วนไม่เกี่ยว

ในยุคของ คสช. เมื่อทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ทหารมีอำนาจจับกุม คุมขัง สอบสวน เป็นอัยการฟ้องคดี และเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีเอง ระบบแบบนี้ย่อมสะดวกรวดเร็วและถูกใจทหารซึ่งกำลังถืออำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศ จึงมีการพยายามใช้เทคนิควิธีต่างๆ ตีความให้คดีจำนวนมากที่ไม่ต้องขึ้นศาลทหารมาขึ้นศาลทหารจนได้

ไอลอว์ลองจัด 5 อันดับ คดีในความทรงจำในช่วงเวลาสองปีกว่า ที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 แต่ก็ถูกยัดเยียดการตีความให้ขึ้นศาลทหารจนได้

 

5. คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย

ผู้ต้องหา 15 คน ถูกจับหลังเหตุการณ์ระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ โดยตอนแรกกระแสข่าวออกมาว่าเป็นการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับการวางระเบิด แต่ต่อมาตำรวจบอกว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด แต่ถูกจับจากการร่วมกันก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล

ในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ยื่นต่อศาลทหารในคดีนี้ ระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหา คือ มีบางคนนัดคุยกันที่บ้าน บางคนนัดคุยกันที่ร้านอาหาร โดยมีแนวคิดเดียวกัน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ หรือการเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และยังถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ด้วย ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ไม่เคยมารวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยกัน และไม่ได้ชุมนุมเพื่อแสดงออกให้ปรากฏต่อสาธารณะ

ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดนิยามไว้ว่า “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ แต่ในคดีนี้คำว่า “ชุมนุมทางการเมือง” ถูกตีความขยายให้รวมถึงการนัดมาพูดคุยกันตามสถานที่ส่วนตัวด้วย ซึ่งเพราะข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เป็นข้อหาที่ทำให้ผู้ต้องหากลุ่มนี้ต้องขึ้นศาลทหาร

 

4. คดีจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ภาคเหนือ

ผู้ต้องหา 14 คน ที่ประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่นและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกจับกุมและดำเนินคดี จากกรณีที่ตรวจพบจดหมายจำนวนมากส่งไปยังบ้านเรือนประชาชนในจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ

ทุกคนถูกตั้งข้อหาว่า เผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องขึ้นศาลพลเรือน แต่ 13 คน กลับถูกตั้งข้อหาฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทั้งที่ตามเนื้อความในจดหมายนั้นชัดเจนว่า เป็นการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และชวนให้คนไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ไม่ใช่การปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านอำนาจรัฐ เพราะการตั้งข้อหามาตรา 116 เป็นเหตุให้ผู้ต้องหากลุ่มนี้ต้องขึ้นศาลทหาร และเมื่อถูกส่งตัวไปขึ้นศาลทหาร ผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำถึง 24 วัน

 

3. คดีหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์

รินดาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา จะโอนเงินที่ได้มาโดยมิชอบหลายหมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์ การกระทำของเธอเป็นการกล่าวหาตัวบุคคล ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านอำนาจรัฐ แต่รินดาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ทำให้เธอต้องขึ้นศาลทหาร

เมื่อขึ้นศาลทหาร เบื้องต้นศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุผลว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากให้ประกันตัวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน ทำให้รินดาต้องเข้าเรือนจำ 3 วัน ก่อนจะให้ประกันตัวในเวลาต่อมา

ต่อมาศาลทหารกลับสั่งว่า คดีนี้เป็นการหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามมาตรา 116 ให้จำหน่ายคดีออกจากศาลทหารไปดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทที่ศาลพลเรือนแทน

 

2. คดีพัฒน์นรี (แม่จ่านิว) แชทว่า “จ้า”

พัฒน์นรี แม่ของสิรวิชญ์หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกออกหมายจับเมื่อ 6 พฤษภาคม 2559 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และเธอเข้ามอบตัวตามหมายจับ ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า การกระทำที่เธอถูกกล่าวหาคือการแชทคุยกับผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งซึ่งแชทข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่เธอไม่ห้ามปราม กลับตอบรับว่า “จ้า”

การไม่ห้ามปรามผู้กระทำผิดนั้น ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย แต่การตั้งข้อหามาตรา 112 กับเธอก็เพื่อให้คดีนี้ขึ้นสู่ศาลทหาร ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ “จ่านิว” กำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นเรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจล้อ พล.อ.ประยุทธ์ การนำตัวแม่ของนักกิจกรรมขึ้นศาลทหารในช่วงเวลาดังกล่าว จึงทำให้กิจกรรมของจ่านิวลดความร้อนแรงลงได้บ้าง

 

1. คดีทอม ดันดี ปราศรัยผิดมาตรา 112

ธานัท หรือ “ทอม ดันดี” ถูกจับเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ข้อกล่าวหาของเขา คือ การปราศรัยบนเวทีเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ซึ่งการปราศรัยของเขาเกิดขึ้นก่อนการประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ตามปกติแล้วคดีของเขาต้องขึ้นศาลพลเรือน

แต่ธานัทถูกฟ้องที่ศาลทหาร เพราะมีการพยายามตีความว่า มีผู้นำคลิปปราศรัยของเขาโพสต์ไว้บนยูทูบที่ยังสามารถเข้าไปรับชมจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องมาจนถึงหลังการประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร การนำคลิปโพสต์บนยูทูบแม้ธานัทจะไม่ได้ทำเอง แต่เมื่อธานัทเป็นผู้ปราศรัยถือว่าร่วมทำเป็นขบวนการเดียวกับการโพสต์ด้วย แม้ว่าการปราศรัยจะเกิดขึ้นและจบลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 แล้วก็ตาม ธานัทต้องรับผิดชอบการที่มีคลิปอยู่บนยูทูบด้วย และคดีของธานัทก็ต้องขึ้นศาลทหาร

นอกจากนี้ ธานัทยังถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่อศาลอาญาจากการปราศรัยในเวลาไล่เลี่ยกันและมีคลิปอยู่บนยูทูบ แต่คดีที่สองธานัทถูกฟ้องที่ศาลอาญา (ศาลพลเรือน) และศาลก็มีคำพิพากษาแล้วด้วย ซึ่งโดยหลักแล้วคดีลักษณะเดียวกันควรอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียว ไม่ควรอยู่ในเขตอำนาจศาลสองแห่งพร้อมกัน