การต่อสู้ของพลเรือนที่ไม่ยอมขึ้นศาลทหาร ในคดีการเมืองยุคคสช.

25 พฤษภาคม 2557 หลังยึดอำนาจได้ 3 วัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดต่อความมั่นคงของชาติ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของคสช. และประกาศฉบับที่ 38/2557 ให้ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารด้วย ก่อนที่ต่อมาคสช.จะออกประกาศฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้การครอบครองอาวุธบางประเภทเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาโดยศาลทหารในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557
 
เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูล นับจากวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 156 คน เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงานว่า ข้อมูลที่ได้รับจากกรมพระธรรมนูญเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ระบุว่ามีพลเรือนขึ้นศาลทหารทั่วประเทศรวม 1,629 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานครอบครองอาวุธ 
 
จำเลยที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารหลายคนยอมรับชะตากรรมและรับสารภาพต่อศาลด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป จำเลยที่ถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเรียก หรือข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน หลายคนเลือกที่จะรับสารภาพเพราะศาลทหารมีแนวโน้มพิพากษารอการลงโทษจำคุก จะได้ไม่เป็นภาระในการต่อสู้ ขณะที่จำเลยที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หลายคนเลือกที่จะรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษและเพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษหรือขอพักโทษโดยเร็ว
 
แต่จำเลยบางคนยังเชื่อว่าการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารขัดต่อหลักนิติธรรม และเลือกที่จะคัดค้านอำนาจของศาลทหารเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับกระบวนการยุติธรรม แม้จะต้องแลกกับความล่าช้าของการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของจำเลยที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา เช่น สิรภพ หรือ “ทวีสิน” หนึ่งในจำเลยคดีเครือข่ายบรรพต
 
ศาลทหารกับคดีพลเรือน
 
คสช.ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเดินตามโมเดลของคณะรัฐประหารรุ่นพี่หลายๆ คณะ ด้วยการยึดเพียงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจตุลาการ พร้อมทั้งออกประกาศฉบับที่ 5/2557 กำหนดให้ศาลทั้งหลายมีอำนาจพิจารณาคดีตามเดิม รวมทั้งคดีที่เป็นความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช.ด้วย แต่อีก 3 วันให้หลัง เมื่อ คสช.ประกาศให้ความผิดบางประเภทที่จำเลยเป็นพลเรือนอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดฐานขัดประกาศคำสั่งคสช. และคดีเกี่ยวกับอาวุธ เท่ากับว่าอำนาจตุลาการบางส่วนได้ถูกดึงมาไว้กับ คสช.
 
แม้ คสช.จะไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการตัดสินคดีเองโดยตรง และแม้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. จะเคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาคดีของศาลทหารอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกระบวนการยุติธรรม สำหรับผลการพิจารณาคดี ก็ไม่เคยปรากฏพบข้อกังขาใดๆ แต่ก็คงยากที่พลเรือนจะเชื่อมั่นการพิจารณาคดีของศาลทหารได้อย่างสนิทใจ โดยเฉพาะพลเรือนที่เป็นจำเลยในคดีที่ คสช. เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง เช่น คดีขัดคำสั่งรายงานตัว หรือคดีชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร
 
รอลุ้นคณะกรรมการชี้ขาด ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีผลบังคับใช้เมื่อใด
 
บุคคลพลเรือนจะถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร ก็ต่อเมื่อ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามข้อหาที่ระบุไว้ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 , 38/2557  และ 50/2557 และการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ตามหลักการว่า กฎหมายที่ประกาศใช้ไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับจำเลย อย่างไรก็ตามก็มีปัญหาว่า ประกาศทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้เมื่อใด มีผลทันทีในวันที่ คสช. ออกประกาศ หรือมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเหมือนกับกฎหมายอื่นๆ
 
โดยทั่วไป กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันแล้ว กฎหมายบางฉบับอาจระบุเวลาที่ชัดเจนว่าจะให้มีผลบังคับใช้ภายในกี่วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หากกฎหมายใดไม่มีระบุวันเริ่มบังคับใช้ไว้เป็นการเฉพาะก็เท่ากับมีผลในวันถัดจากที่มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ในกรณีของคำสั่งฉบับที่ 37/2557 แม้จะออประกาศทางสื่อมวลชนต่างๆ วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 แต่ตีพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง จึงคัดค้านอำนาจศาลทหารโดยให้เหตุผลว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาของจำเลย ทั้งการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การโพสต์ข้อความชี้แจงเหตุไม่เข้ารายงานตัวในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ล้วนเกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งประกาศ คสช.เรื่องการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารยังไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย
 
ปัจจุบันคดีของจาตุรนต์ยังอยู่ระหว่างรอผลการชี้ขาด โดยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่จะวางแนวทางการตีความเรื่องวันที่ที่ประกาศ คสช.มีผลบังคับใช้
 
คณะกรรมการชี้ขาดแล้ว โพสต์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเป็นความผิดต่อเนื่อง โพสต์เมื่อไรก็ขึ้นศาลทหารได้
 
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลก็ได้วางแนวไว้แล้วว่า คดีความผิดจากการโพสต์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หากข้อมูลยังปรากฏอยู่แสดงว่าเป็นความผิดต่อเนื่องที่การกระทำเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้การโพสต์ข้อมูลจะเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 แต่เมื่อข้อความยังคงอยู่ต่อเนื่องมาหลังการออกประกาศ คดีนั้นก็อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร โดยแนววินิจฉัยนี้อยู่ในคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจศาลในคดีของสิรภพซึ่งออกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558
 
สิรภพถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 บนอินเทอร์เน็ตสามข้อความ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2556, และ 22 มกราคม 2557 หลังถูกจับกุมสิรภพถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมหกผลัด ก่อนจะถูกย้ายไปฝากขังกับศาลทหารในผลัดที่เจ็ดซึ่งเป็นผลัดสุดท้าย เพราะพนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ต่อมาสิรภพให้การปฏิเสธ และแถลงคัดค้านอำนาจศาลทหาร ด้วยเหตุผลว่า ขณะโพสต์ข้อความยังไม่มีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร
 
หลังสิรภพยื่นคัดค้านอำนาจศาล ศาลทหารจึงทำความเห็นไปที่ศาลอาญาระบุว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเพราะการโพสต์ข้อความออนไลน์เป็นความผิดต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ซึ่งข้อความยังปรากฏอยู่ตลอด แม้ศาลอาญาจะโต้แย้งโดยสรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยถือว่าสำเร็จและจบไปแล้วตั้งแต่ข้อความปรากฎบนเว็บไซต์ ไม่ใช่การกระทำต่อเนื่องเพราะจำเลยไม่ได้มีเจตนาให้ข้อมูลคงอยู่ตลอดไป เพียงแต่มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูล แต่ข้อมูลคงอยู่เป็นเพราะสภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ การตีความให้จำเลยต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการตีความในทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลย เมื่อสองศาลมีความเห็นแย้งกัน คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจึงต้องทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด
 
และท้ายที่สุดคณะกรรมวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลก็เห็นพ้องกับศาลทหารในเรื่องเขตอำนาจศาล โดยให้เหตุผลว่า แม้สิรภพจะนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มานานแล้ว แต่ข้อมูลทั้งหมดยังคงเข้าถึงได้จนเจ้าหน้าที่ตรวจพบในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ก็อาจเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีออนไลน์คดีอื่นๆ ด้วย เท่ากับว่า คณะกรรมการฯ ถือว่า การโพสต์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะโพสต์เมื่อใด หากข้อความยังไม่ถูกลบออก คดีนั้นๆ ก็ขึ้นศาลทหารได้
 
สู้ด้วยเรื่องวันเวลา หรือสู้ด้วยเรื่องความชอบธรรม  
 
ที่ผ่านมาแนวทางที่จำเลยหลายคนใช้คัดค้านอำนาจศาลทหารอาจแบ่งได้อย่างน้อยสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การคัดค้านเรื่องวันเวลากระทำความผิดว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาของจำเลยเกิดขึ้นก่อนประกาศฉบับที่ 37/2557 มีผลบังคับใช้ และการคัดค้านเรื่องความชอบธรรมของประกาศฉบับที่ 37/2557 ว่าเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือพิสูจน์ว่าประกาศฉบับดังกล่าวสิ้นผลไปแล้วเมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึก
 
จำเลยในคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดก่อนการออกประกาศในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 สามารถใช้เหตุผลทั้งเรื่องวันเวลาและเรื่องความชอบธรรมในการคัดค้านอำนาจศาลทหารได้ แต่จำเลยในคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นหลังประกาศมีผลบังคับใช้ก็จะเหลือทางเลือกเดียวในการต่อสู้ คือ เหตุผลด้านความชอบธรรมของประกาศฉบับที่ 37/2557 โดยต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ขณะที่บางคดีจำเลยก็เลือกต่อสู้ทั้งสองแนวทางพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตามการต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลไม่ว่าจะด้วยแนวทางใดก็ดูจะเป็นการต่อสู้ที่ชนะยากพอๆ กัน
 
คดีที่จำเลยคัดค้านเรื่องวันเวลากระทำความผิดว่า การกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นก่อนประกาศ ศสช.ฉบับที่ 37/2557 มีผลบังคับใช้ ได้แก่
 
1. สิรภพ ซึ่งถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเว็บไซต์สามข้อความ จำเลยต่อสู้ว่าทั้งสามข้อความโพสต์ตั้งแต่ก่อนการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557
2. คดี “ขอนแก่นโมเดล” ซึ่งจำเลย 24 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และครอบครองอาวุธ จากการมารวมตัวกันที่อพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 จำเลยต่อสู้ว่าการกระทำของคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557
3. จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ปลุกปั่นยั่วยุ ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จำเลยต่อสู้ว่า การกระทำในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ประกาศ คสช.เรื่องการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารจะมีผลใช้บังคับ
 
คดีที่จำเลยคัดค้านเรื่องความชอบธรรมของประกาศฉบับที่ 37/2557 ว่าเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ได้แก่
 
1. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งถูกตั้งข้อหาฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
2. จิตรา ซึ่งถูกตั้งข้อหาฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
3. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ซึ่งถูกตั้งข้อหาฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ยุงยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านการยึดอำนาจของคสช.
4. จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
5. สิรภพ ซึ่งถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเว็บไซต์สามข้อความ
6. คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ซึ่งนักกิจกรรมสี่คนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คดีนี้จำเลยต่อสู้ด้วยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เป็นกฎหมายระดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึก เมื่อกฎอัยการศึกถูกยกเลิก ประกาศฉบับนี้จึงไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป
7. คดีพลเมืองรุกเดิน ซึ่งพันธุ์ศักดิ์ ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามาตรา 116 จากการทำกิจกรรมเดินเท้าคัดค้านการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีนี้จำเลยต่อสู้ด้วยว่า จำเลยเป็นพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร
8. ณัชชชา ซึ่งถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการเข้าร่วมกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ต่อมาคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์, สมบัติ บุญงามอนงค์ และสิรภพ ประสบความล้มเหลวในการโต้แย้งอำนาจของศาลทหาร เพราะศาลทหารมีคำสั่งว่าจะไม่ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ตามคำขอของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) บัญญัติหลักเกณฑฺ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
 
นอกจากนี้ยังมีคดีของรินดา ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท และฝากขังต่อศาลทหาร ต่อมาในชั้นพิจารณา ศาลทหารเห็นว่าข้อความในคดีนี้ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณา จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อัยการโจทก์คัดค้าน ศาลทหารกรุงเทพจึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลอาญาพิจารณา คดีนี้มีความพิเศษ คือ ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลทหารนั้น ศาลทหารเป็นผู้ยกขึ้นมาเองโดยจำเลยไม่ได้ต่อสู้
 
จะเห็นว่า ภายใต้การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ยังมีพลเรือนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับประกาศฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งต่างก็พยายามต่อสู้ด้วยช่องทางต่างๆ เท่าที่กฎหมายจะเอื้ออำนวย และด้วยการยกเหตุผลที่แตกต่างกัน แม้การต่อสู้เพื่อหาความชอบธรรมให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหารในยุคสมัยนี้ ยังดูยากที่จะสำเร็จ แต่ก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยที่จะค่อยๆ ตามมาอีกหลายคดีว่าจะมีบรรทัดฐานทางกฎหมายอะไรไว้ให้ศึกษากันต่อไปบ้าง