สถิติน่าสนใจ เกี่ยวกับการประกันตัวคดี 112 ในยุครัฐบาลคสช.

8 มีนาคม 2559 ฐนกร จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ถูกกล่าวหาว่ากดไลค์เพจหมิ่นและโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลทหารกรุงเทพตีราคาประกันที่ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ โดยก่อนได้รับการปล่อยตัวฐนกรถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วรวม 86 วัน ถือเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 คนล่าสุดที่ได้ประกันตัว ท่ามกลางคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ประกันตัว
ย้อนดูสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิการประกันตัว ของผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ในยุครัฐบาลคสช.
+ ตั้งแต่การรัฐประหาร ตั้งข้อหา 62 คน ได้ประกันตัว 12 คน
เท่าที่บันทึกข้อมูลไว้ ฐนกรเป็นจำเลยคดี 112 ที่ถูกตั้งข้อหาหลังการรัฐประหารแล้วได้รับการประกันตัวคนที่ 12 จากจำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 62 คน
โดยในจำนวน 12 คน จำเลย 6 คนได้ประกันตัวโดยศาลทหารกรุงเทพ 2 คนโดยศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น โดยศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายกับศาลอาญาแห่งละคน และได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน 2 คน
ดูตารางคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมดที่ http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged
+ หลักทรัพย์ประกันตัว สูงสุด 500,000 ต่ำสุด 100,000
ในส่วนของเงินหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัว เท่าทีมีข้อมูลฐนกรเป็นคนที่ต้องวางเงินประกันคิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด คือ 500,000 บาท ซึ่งตอนแรกฐนกรยื่นขอประกันตัวด้วยเงินสด 900,000 บาท แต่เมื่อศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัว ก็สั่งลดราคาหลักทรัพย์ลงมาอยู่ที่ 500,000 บาท
คดีที่ใช้หลักทรัพย์สูงรองลงมาเป็นบัณฑิต, “เนส”, นิรันดร์ คนละ 400,000 บาท ส่วนประจักษ์ชัย จำเลยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตและป่วยด้วยโรคตับ ศาลทหารกรุงเทพกำหนดหลักทรัพย์ต่ำที่สุดเป็นสลากออมสินมูลค่า 100,000 บาท
+ หลักทรัพย์สูงสุดที่ยื่นแล้ว แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว คือ 2.5 ล้านบาท
สำหรับจำเลยอีกอย่างน้อย 48 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ บางคนไม่ได้ยื่นขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์ บางคนยื่นประกันแล้วแต่ศาลไม่อนุญาต โดย โอภาส จำเลยสูงวัยจากคดีเขียนฝาผนังห้องน้ำ ที่มีปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งความดันและโรคตา เคยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทพร้อมยื่นหลักฐานการรักษาพยาบาลประกอบการขอประกันตัวถึง 4 ครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตทั้งสี่ครั้ง
+ คดีที่ขอประกันตัวแต่ศาลปฏิเสธ มากครั้งที่สุด คือ คฑาวุธ ยื่นขอไป 5 ครั้ง 
คฑาวุธ จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นจำเลยที่เคยยื่นประกันตัวมากครั้งที่สุดหลังการรัฐประหารโดยยื่นรวมห้าครั้ง สี่ครั้งยื่นต่อศาลอาญาในชั้นฝากขัง และครั้งที่ห้าที่ศาลทหารกรุงเทพ (คดีของคฑาวุธ ในการฝากขังครั้งแรกฝากขังต่อศาลอาญา แต่ต่อมาคดีถูกย้ายจากศาลอาญาไปศาลทหาร) โดยเคยยื่นเงินประกันสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งศาลไม่อนุญาตทั้ง 5 ครั้ง
หากนับคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐบาลคสช. ด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณซึ่งถูกฟ้องตั้งแต่ปี 2554 เป็นจำเลยที่ยื่นขอประกันตัวมากครั้งที่สุด เท่าที่บันทึกข้อมูลไว้ คือ 16 ครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์สูงสุดเป็นโฉนดที่ดินสองฉบับมูลค่ารวม 3.7 ล้านบาท แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
แม้ว่าโดยหลักการ การประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้ประกันเป็นหลัก กรณีที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นเข้าข้อยกเว้น โดยต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยมีแนวโน้มที่จะหลบหนี หรือมีความสามารถหรืออิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ แต่การพิจารณาคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องคดี 112 ดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเพราะส่วนใหญ่จำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว โดยหลายคดีศาลให้เหตุผลของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวว่า เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ กระทบจิตใจของประชาชน คดีมีอัตราโทษสูง จึงเชื่อว่าหากให้ประกันตัวจำเลยน่าจะหลบหนี

ตัวอย่างเช่น โอภาส ซึ่งเป็นชายสูงอายุ มีครอบครัว มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในประเทศไทย และมีปัญหาสุขภาพจึงไม่น่าจะหลบหนีได้ หรือกรณี “ธเนศ” จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อีเมลส่งลิงค์เว็บไซต์ที่มีเนื้อหมิ่นฯไปให้ชาวต่างชาติ ก็เป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ต้องมีญาติคอยดูแล ทั้งจำเลยและครอบครัวมีฐานะยากจน จึงไม่น่าจะหลบหนีได้

การที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในคดีของ ฐนกร ถือเป็นการประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งควรจะถูกนำไปใช้กับจำเลยหรือผู้ต้องหารายอื่นๆ การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาที่สุดเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
การไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยประกันตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้เปรียบเสมือนการนำผู้บริสุทธิไปคุมขัง ก่อนหน้านี้มีกรณีของ จารุวรรณ อานนท์ และชาติชาย ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเพราะมีข้อความหมิ่นปรากฎบนเฟซบุ๊กของจารุวรรณ ซึ่งเคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวน 85 วันระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2558 ก่อนได้รับการปล่อยตัวเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งสามจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์
หรือกรณีของประจักษ์ชัย, “เนส” และชาติชาย ซึ่งถูกคุมขังอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวภายหลัง โดยเฉพาะในกรณีของ “เนส” ซึ่งสุดท้ายศาลพิพากษาให้รอลงอาญา และกรณีของชาติชาย ที่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เวลาและโอกาสของพวกเขาที่สูญเสียไประหว่างการถูกฝากขังก็ไม่มีผู้ใดสามารถรับผิดชอบได้
หากคดีของฐนกรจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าศาลเห็นความสำคัญของสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากขึ้น และนำไปใช้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 คนอื่นก็น่าจะถือเป็นเรื่องดี