พัฒนาการของความเป็นกฎหมายสูงสุดและประเพณีการปกครองในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่กำลังพูดถึงในปลายปี 2566 เกี่ยวกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 จากรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ได้หรือไม่ ฝ่ายประชาชนที่มีการเสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรี มีความเห็นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นที่จะต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวดดังกล่าวจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อาจทำให้เกิดปัญหาหรือความยุ่งยากในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

จากการศึกษารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปี 2560 รวม 20 ฉบับ ค้นพบว่า มีหลายมาตราที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยมาตราที่จะกล่าวถึงคือมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมาตราที่คนซึ่งติดตามการเมืองได้ไม่นานอาจจะยังไม่ทราบความสำคัญมากนัก แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองมีการพูดถึงมาตราดังกล่าวเพื่อแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองอยู่หลายครั้ง

ม.5 รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด/ไม่มีรัฐธรรมนูญให้ใช้ประเพณีการปกครอง

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 มีเนื้อหาสองส่วน คือส่วนที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับจาก 20 ฉบับ และเนื้อหาที่ระบุเกี่ยวกับการแก้ปัญหาตามประเพณีการปกครองระบุไว้ 10 ฉบับจาก 20 ฉบับ สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติประเด็นดังกล่าวไว้ว่

            “มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้

            เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หน้าที่ของมาตรา 5 คือการบอกถึงสถานะของรัฐธรรมนูญและหาทางออกหรือวิธีแก้ไขในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีช่องทางเอาไว้ โดยในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทย จะมีมาตราที่ทำหน้าที่นี้อยู่เสมอ แต่ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับหน้าตาการเขียนจะไม่เหมือนกัน

แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.5 ถูกแก้ตามข้อสังเกตพระราชทาน

ย้อนกลับไปในยุครัฐบาลทหาร คสช. มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยเนื้อหาในมาตรา 5 ที่ผ่านการทำประชามติได้ถูกแก้ไขใหม่ก่อนจะบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเนื้อหาที่ผ่านการทำประชามติกล่าวว่า

             “มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันบังคับใช้มิได้

             เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

             เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย

            ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

             การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

             คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ

เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติถูกแก้ไขให้คงเหลือไว้เพียงแค่วรรคหนึ่งและสอง โดยตัดอำนาจของประธานศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นผู้นำเรียกประชุมเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีที่ไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ สำหรับการแก้ไขในครั้งนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กล่าวว่ารัชกาลที่ 10 ได้มีกระแสรับสั่งให้แก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์

เริ่มแรกรัฐธรรมนูญไทย กำหนดหลักการรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูดสุดเท่านั้น

ในธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยยังไม่ได้มีการระบุประเด็นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและประเด็นการใช้ประเพณีการปกครองเอาไว้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้บัญญัติไว้ครั้งแรกในหมวด 6 บทสุดท้าย มาตรา 61

โดยมีเนื้อความว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่าบทบัญญัตินั้น ๆ  เป็นโมฆะ” และในมาตราถัดไปได้ระบุไว้ถึงทางออกว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิขาดในการเป็นผู้ตีความรัฐธรรมนู

หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับถัด ๆ มา ก็บัญญัติสิ่งนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญโดยมีเนื้อความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย อย่างการแก้ไขคำในบางฉบับเปลี่ยนตัวละครในการตีความรัฐธรรมนูญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกันไป บางฉบับใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ บางฉบับใช้สภาผู้แทนราษฎร จนถึงว่าในบางฉบับไม่ได้เขียนเรื่องดังกล่าวไว้อย่างอย่างไร เช่นในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาตรา 62 กล่าวไว้ว่า ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้อำนาจนี้กับศาลรัฐธรรมนูญ

เพิ่ม “การวินิจฉัยตามประเพณีการปกครอง” ครั้งแรกหลังรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์

หลังจากที่มีการรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเขียนธรรมนูญชั่วคราว 2502 ขึ้นมาหลังรัฐประหาร ในฉบับนี้ไม่ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจะมีกฎหมายอื่นมาขัดไม่ได้ แต่ในมาตราสุดท้ายมาตรา 20 กลับมีเนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาว่า

        “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบ
ประชา
ธิปไตย

ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มประเด็นการวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2502 เป็นต้นมา การเขียนรัฐธรรมนูญอีก 13 ฉบับ ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณีการปกครองไว้ 9 ฉบับ ถือได้ว่ารัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น

โดยเฉพาะนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2534 มาตรานี้เริ่มถูกเขียนให้อยู่ในมาตราแรก ๆ ของรัฐธรรมนูญ และหลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญ 2540 ข้อความเกี่ยวกับประเพณีการปกครองเริ่มลงหลักปักฐานในรัฐธรรมนูญและได้มีการเพิ่มข้อความที่สำคัญจาก “ระบอบประชาธิปไตย” เป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และใช้ข้อความนี้ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560

เหตุการณ์ขับไล่ทักษิณ เรียกร้องนายกพระราชทาน

ประเด็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของข้ออ้างและความขัดแย้งทางการเมืองช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2549 ที่เรียกร้องให้ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นลาออก มีข้อเสนอเรียกร้องนายกพระราชทานจากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ และพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยยกมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 7 ว่าสามารถทำได้

         “มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนายกพระราชทาน หรือ นายกมาตรา 7 ต้องยุติไป เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่า ท่านไม่สามารถทำได้เนื่องจากผิดรัฐธรรมนูญ โดยพระราชดำรัสครั้งนั้นความว่า

         “…. ยืนยันว่า มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

          ….เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้น … สภามีอยู่ ประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ แล้วรองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น … ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ตอนนั้นเขาไม่ใช่นายกพระราชทาน นายกพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายก เป็นนายกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ ….” 

กปปส. ไล่ยิ่งลักษณ์ ขอนายกพระราชทาน

ต่อมาความพยายามฟื้นนายกพระราชทานเกิดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงการชุมนุมของฝ่าย กปปส. ปี 2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 ซึ่งระบุเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเชื่อว่า ประเทศไทยเคยปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง ฉะนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากฝ่ายรัฐบาล ณ ขณะนั้น คือ ชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็เคยเสนอให้ใช้มาตรา 7 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เพราะรัฐบาลไม่มีทางออก จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าขณะนั้นจะเป็นนายกฯ รักษาการ เนื่องจากอยู่ในช่วงยุบสภาแล้ว

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป