รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเปิดทางการมีส่วนร่วม ถ่วงดุลอำนาจและตัดวงจรรัฐประหาร

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ลานประชาชน สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาจัดกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยระหว่าง 18.00-19.30 น. มีงานเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ในประเด็นว่าด้วยรัฐธรรมนูญที่คาดหวังนั้น ชวนอ่านความคิดเห็นจากตัวแทนรัฐบาลและฝ่ายค้านดังนี้  

ชูศักดิ์มองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถ่วงดุลอำนาจและปิดทางการรัฐประหาร

รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “รัฐธรรมนูญที่จะยกร่างใหม่ควรจะมีหน้าตาอย่างไร ก็ขอเรียนเบื้องต้นว่า ถ้าเราตั้งเป้าดังที่ผมตั้งเป้าไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ควรจะมีสสร.มายกร่างเพื่อให้เห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและทำเพื่อประชาชนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนถ้าเป็นเช่นนี้แล้วเราคิดว่า เราจะมีสสร.แล้วจะประสบความสำเร็จ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ควรจะเป็นมันก็ขึ้นอยู่กับสสร.ว่า เขาจะยกร่างอย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ถ้ากระบวนการมีสสร.เป็นตัวแทนประชาชนมายกร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ที่พูดเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่า ผู้ที่มาจากประชาชนนั้นก็จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ดีเป็นประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของประชาชนเพราะฉะนั้นเราจึงหวังว่า กระบวนการที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสสร.ก็ควรจะต้องประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายก็พยายามอยู่ถ้าไม่สำเร็จร่างฉบับใหม่ไม่ได้ ผมคิดว่าเราย่ำอยู่กับที่ ใช้รัฐธรรมนูญแบบนี้ไปก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับประชาชน 

อย่างไรก็ตามในความเห็นของผมสิ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องมีที่สำคัญที่สุดเลยที่ต้องมีก็คือว่า จะต้องมีการยกเลิกหรือแก้มาตรา 256 ปัจจุบันนี้เราติดกับอยู่กับมาตรานี้เพราะจะแก้มาตรานี้ทีไรผมกับท่านชัยธวัชใครต่อใครมีประสบการณ์ก็ไปติดอยู่ที่ว่าหนึ่งคุณต้องมีเสียงสว.สนับสนุนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม สองคุณต้องมีฝ่ายค้านเห็นด้วยเท่านั้นเท่านี้ต่างๆ แต่ว่าที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งคือว่า สว.หนึ่งในสามต้องเห็นด้วย ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็แก้ไม่ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาท่านที่เคารพจะสังเกตว่า เรายกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปหลายประเด็น ไม่ว่าจะปิดสวิตช์สว. ไม่ว่าจะทำนู่นทำนี่ ท้ายที่สุดไม่เคยสำเร็จ ไม่สำเร็จเลยสักครั้งหนึ่ง เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ผ่านกระบวนการหนึ่งในสามของสว. ผมเชื่อว่า มาตรานี้ต้องสกัดออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็ให้รัฐธรรมนูญนั้นมันเป็นพลวัตรสามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงทีแก้ไขได้ตลอดเวลา…”

“…ผมเชื่อว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีปัญหาเรื่องของกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาและฝ่ายกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจในเรื่องขององค์กรอิสระเพราะฉะนั้นที่มาขององค์กรอิสระทั้งหลายที่มาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ผ่านมานี่คือปัญหาของประเทศว่า เราไม่ได้รับความเป็นธรรม ท้ายสุดก็ถูกตรวจสอบฝ่ายเดียวไม่สามารถจะตรวจสอบองค์กรอิสระหรือศาลได้ ท่านวินิจฉัยอะไรออกมาท้ายสุดก็คนนั้นพ้นจากตำแหน่ง คนนี้พ้นจากตำแหน่งโดยที่เราไปมอบอำนาจให้เขาจนไม่สามารถจะถ่วงดุลอำนาจกันได้ เพราะฉะนั้นการปรับองค์กรในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่านว่าต่อไปนี้องค์กรอิสระศาลรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมีที่มาจากรัฐสภา”

“ถัดไปครับท่านที่เคารพ ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าเรามีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ มากมายหลายฉบับเกิดจากการรัฐประหาร เกิดจากการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีส่วนน้อยมากกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นรัฐประหารจึงเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ปัญหาใหญ่ของประเทศนี่ก็คือเรื่องการรัฐประหาร การรัฐประหารจึงเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยเราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ต่อไปนี้ ห้ามให้มีการรัฐประหาร ถ้าใครกระทำรัฐประหารไม่มีอายุความไม่มีการนิรโทษกรรม ที่สำคัญที่สุดต้องทำให้ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่สามารถที่จะยอมรับการรัฐประหาร โดยบอกว่าใครรัฐประหารสำเร็จแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์เรื่องนี้ต้องหมดไปและควรจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ”

ราเมศชูตัวแทนสสร.มาจากทุกจังหวัด ห่วงเรื่องการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน

ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนที่ต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ความหมายคืออะไรครับ เพราะว่าที่ผ่านมาเนี่ยเราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ที่ไปที่มาเมันมาอย่างไร มาจากกระบวนการส่งต่อมาจากการยึดอำนาจใช่หรือไม่ อันนี้ก็ใช่ กระบวนการร่างเนื้อหาที่จัดทำมาทุกอย่างเป็นประเด็นสำคัญมีหลายประเด็นที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน เขาไม่ได้ถามประชาชนว่า ขณะนั้นประชาชนต้องการอะไรอาจจะถามบ้างนิดหน่อย อาจมีประเด็นไปสอบถามพี่น้องประชาชนนิดหน่อยแต่ธงที่เขาตั้งมาเนี่ย นั่นคือธงที่ลิดรอนสิทธิของพี่น้องประชาชน ขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะถึงประกาศว่าเราไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เหตุผลเพราะว่า กระบวนการที่บอกว่ามาบอกพี่น้องประชาชนว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันการทุจริตไม่จริงครับ ถ้าเกิดพี่น้องได้ไปอ่านดีๆสั่งนักการเมืองไม่ให้ทุจริตไม่ได้  แถมเขียนเอื้อให้กับนักการเมืองมีการที่จะสมยอมกัน การดำเนินคดีของนักการเมืองให้ปปช.ดำเนินคดีแต่กลับกลายเป็นว่าถ้าเกิดดำเนินคดีปปช.ต้องส่งมาที่สภาแห่งนี้ก่อน แล้วสส.เสียงข้างมากเลือกคนไปนั่งเป็นประธานรัฐสภาประธานรัฐสภาต้องมาวินิจฉัยว่าจะดำเนินคดีปปช.หรือไม่ นี่หรือที่น่าประชาชนต้องกัน ไม่ใช่ครับ”

“กระบวนการในการร่างไม่ชอบธรรมแล้วเนื้อหาไม่ชอบธรรมแล้ว เพื่อนำร่างของที่ร่างไปให้ประชาชนทำประชามติ พี่น้องประชาชนที่แสดงความเห็นคัดค้านกับรัฐธรรมนูญถูกจับไปอีกคน? พี่น้องที่มีความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 60 ถูกจับไปกี่คน..เพราะฉะนั้นแล้วกระบวนการในการดำเนินคดีของผู้ที่เห็นต่างมันจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญปี 60 ได้อย่างไร อันนี้ผมต้องเรียนพี่น้องว่าแต่เมื่อมันบังคับใช้มาประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกคนก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราก็ต้องมาคิดในฐานะพรรคการเมืองว่าแล้วเราจะแก้เมันต้องแก้ยังไง ปัญหาเกิดขึ้นแล้วคือมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผมคิดว่านี่มันผิดเพี้ยนไปทั้งหมด แล้วเราคิดวิธีการแก้ เหมือนที่พูดไว้สักครู่ว่ากระบวนการแก้ไขล็อคไว้อีกครับ ปัญหารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อุปสรรคคือสมาชิกวุฒิสภา การที่จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามามาตรา 256 วาระหนึ่งต้องผ่านให้ได้ก่อน ต้องมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในสาม จำนวนที่ตัวเลขที่ออกมาประมาณ 84 คน แล้วจะผ่านได้อย่างไร ประชาธิปัตย์ถึงยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับแรก แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ง่ายขึ้นโดยแก้ไขมาตรา 256 ให้เสียงในรัฐสภาเสียงที่มาจากพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งรวมกับสว.แล้วมาสู้กัน กำหนดกฎเกณฑ์กติกาว่าจะใช้จำนวนตัวเลขเท่าไหร่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ”

“รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน สิทธิกระบวนการยุติธรรมรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดไว้หลายมาตรามากครับแต่ปี 60 กำหนดไว้เพียงแค่สองมาตรา ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเรื่องของสิทธิชุมชนในเรื่องของที่ดินทำกินในเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ในเรื่องของพี่น้องสื่อมวลชน อันนี้แค่บางส่วน รายละเอียดเหล่านี้ถ้าเกิดมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องไปถามพี่น้องประชาชนว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยากให้รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานพี่น้องต้องการอะไรบ้าง…ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ให้พี่น้องได้มีอำนาจในการเลือกคนที่พี่น้องต้องการที่จะมาดูแลท้องถิ่น รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆมาก ไม่ให้ความสำคัญกับกระจายอำนาจ…ส่วนประเด็นของกรณีกระบวนการแน่นอนว่าต้องเดินควบคู่มากับเนื้อหา ในเรื่องของการที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยให้มาจากทุกจังหวัด กระบวนการในการคิดค้นวิธีการเหล่านี้ผมเชื่อว่ามีข้อเป็นห่วงอยู่นิดเดียว คืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั่วทุกจังหวัดโดยผ่านกระบวนการของสสร. โดยผ่านกระบวนการในการรับฟังความเห็นจากพี่น้องประชาชน แต่ในเรื่องของการมากำหนดกฎเกณฑ์ในการยกร่างว่าจะมีคณะกรรมาธิการมาจากภาคส่วนไหนผมว่าอันนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้เนื้อหามีความรอบคอบมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น”

พริษฐ์มองเขียนรธน.ใหม่มี 2 โจทย์สำคัญคือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบถ่วงดุล

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ รัฐสภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์กันนะครับว่าปัจจุบันข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับปัจจุบันว่าข้อเสนอว่ารัฐธรรมนูญฉบับถัดไปหรือฉบับใหม่ควรจะหน้าตาเป็นอย่างไรมันจะแบ่งเป็นสองหมวดหมู่ หนึ่งจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าข้อเสนอเกี่ยวกับที่มากระบวนการถ้าเราพูดถึงขอวิพากษ์วิจารณ์ที่หลายกลุ่มมีต่อรัฐธรรมนูญ 60  บางคนก็จะมองว่ามันมีที่มาและกระบวนการที่อาจจะขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยแน่นอนในส่วนของที่มารัฐธรรมนูญ 60  ก็ถูกเขียนโดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มีข้อครหาเพราะถูกเขียนขึ้นมาโดยเจตนาที่พยายามสืบทอดอำนาจของบางฝ่ายทางการเมืองแล้วก็แม้มีการผ่านประชามติในปี 59 แต่ก็อย่างที่หลายคนมองว่า ไม่ได้เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล นอกจากฝ่ายที่ออกมารณรงค์คัดค้านหลายคนจะถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วตัวคำถามพ่วงที่นำมาสู่มาตราที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดของรัฐธรรมนูญ 60  ก็คือมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสว.แต่งตั้งไปเลือกนายกฯนั้นก็เป็นคำถามพ่วงที่เขียนในลักษณะที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือว่าหลายคนมองว่าซับซ้อนแล้วก็ชี้นำโดยเจตนา ดังนั้นส่วนหนึ่งคือที่มาและกระบวนการ

ส่วนที่สองเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาถ้าเราไปศึกษา 279 มาตราของรัฐธรรมนูญ 60 เราจะเห็นว่ามีหลายส่วนที่อาจมีความถดถอยทางประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับฉบับก่อนๆ…หรือว่าเปรียบเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากลเวลาเราพูดถึงข้อเสนอเนี่ยผมคิดว่าเราวิเคราะห์ที่มากับเนื้อหาแยกออกจากกันไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้วที่มากระบวนการเป็นเช่นไรก็จะส่งผลกระทบว่าเนื้อหาจะเป็นเช่นไรเหมือนกัน เมื่อสักครู่มีหลายคนพูดถึงเรื่องกลไกของการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแต่ถ้าลงลึกเป็นละเอียดกว่านั้น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อว่าเนื้อหานั้นจะสะท้อนถึงอะไร ถ้าสสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้วเราจะออกแบบเลือกตั้งที่สามารถทำให้กลุ่มคนที่มีชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายทั้งหมดในสังคมนี้เข้ามีตัวแทนในสสร.เราก็จะมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มในสังคม แต่ถ้าเรามีสสร.ที่มาจากกระบวนการแต่งตั้งและมีหนำซ้ำเป็นกระบวนการแต่งตั้งที่อาจจะมีฝ่ายหนึ่งที่สามารถควบคุมและแทรกแซงได้เราก็อาจจะมีเนื้อหา รัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียนเพื่อให้ประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบเป็นต้นดังนั้นวิเคราะห์แยกออกจากกันยาก

แต่ถ้าเราจะพูดถึงเนื้อหาโดยเฉพาะเจาะจงในมุมของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯเราก็เห็นว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาธิปไตยประเทศไทย ถ้าเราตัวชี้วัดล่าสุดจาก Democracy Index ที่วัดความเป็นประชาธิปไตย ล่าสุดประเทศไทยได้คะแนน 6.77 เต็ม 10 ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประชาธิปไตยบกพร่อง แต่ถ้าเราไปดูในรายละเอียดมันจะมีบางด้านที่เราทำได้ดีบางด้านที่เราอาจจะทำได้ไม่ดีนัก ด้านที่เราทำได้ดียกตัวอย่างเช่นด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองเราได้แต่ 8.33 เต็ม 10 อยู่ในท็อป 10 ของโลก แต่สองด้านที่เราอาจจะได้น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยมีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญโดยตรง อย่างที่หนึ่งก็คือเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้วก็อย่างที่สองคือเรื่องของความตอบสนองของสถาบันการเมืองต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้นถ้าถามว่าโจทย์สำคัญหากมีสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โจทย์สำคัญที่เราควรจะตั้งไว้ฟังไว้เพื่อออกแบบเนื้อหามีสองโจทย์ หนึ่ง คือเราจะทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุมขึ้นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเนื้อหาในมาตราเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเนี่ยให้รัดกุมขึ้นเราเห็นว่ามีหลายมาตราในรัฐธรรมนูญ 60 ที่อาจจะเขียนสิทธิบางประการ หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะรัดกุมน้อยกว่านี้อดีตอย่างเช่นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสิทธิบางอย่างที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญก่อนๆอย่างเช่นสิทธิชุมชน สิทธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็หายไปเลยจากรัฐธรรมนูญ 60  ดังนั้นโจทย์ย่อยที่หนึ่ง คือ ภายใต้เรื่องของสิทธิเสรีภาพก็จะเขียนให้มันรัดกุมมากขึ้นได้อย่างไร แต่โจทย์ย่อยที่สอง ภายใต้สิทธิเสรีภาพคือเราจะเขียนเรื่องของเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากลมากขึ้นได้อย่างไร มาตรฐานสากลที่หลายคนยอมรับก็คือว่าแน่นอนถ้าเกิดว่าประชาชนคนหนึ่งไปละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นรัฐมีอำนาจในการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคนนั้น แต่มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ 60  ไปเขียนเพิ่มเติมว่ารัฐสารถเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนๆ หนึ่ง ได้ถึงแม้คนๆนั้นไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นถ้าใช้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย อันนี้เป็นสองคำที่อาจจะถูกตีความกว้างขวางหรือว่าโดยการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางที่ทำให้ไปเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้”

“ส่วนโจทย์ที่สองคือเราจะทำยังไงให้สถาบันทางการเมืองต่างๆภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ถ้าเราลองยกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องของรัฐสภา ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักๆก็จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องอำนาจและที่มาของวุฒิสภา ปัญหาของวุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 มันไม่ใช่เพียงแค่ว่ามาจากการแต่งตั้งหรือมีอำนาจเยอะเพียงอย่างเดียว แต่มันคือความไม่สอดคล้องกันระหว่างอำนาจและที่มา ถ้าสว.มาจากการแต่งตั้งเช่น สหราชอาณาจักรเราจะเห็นว่าอำนาจเขาน้อยเพราะว่าที่มาไม่สอดคล้องกับประชาชนแต่ถ้าสว.จะมีอำนาจเยอะเช่นที่สหรัฐฯ ก็อาจจะพอเข้าใจได้หากสว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจเยอะ แต่ของประเทศไทยนั้น วุฒิสภาไม่ว่าจะเป็นในบทเฉพาะกาลก็ดีหรือในบทหลักก็ดีออกแบบในลักษณะที่มีอำนาจค่อนข้างสูงแต่มีที่มาที่มาจากการแต่งตั้ง หรือบทหลักเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมหรือเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร สอง ในส่วนของคณะรัฐมนตรีหรือว่าคุณสมบัตินายกฯ คิดว่าโจทย์ที่อาจจะต้องมาคุยกันก็คือว่า นายกฯควรจะต้องเป็นสส.หรือไม่แม้รัฐธรรมนูญในการกำหนดว่าอย่างน้อยพรรคการเมืองต้องแสดงก่อนว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯเมื่อเข้าสู่ศึกเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนรู้ตัวตนของคนที่จะเสนอตัวมาเป็นนายกฯ แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าพอนายกฯไม่ได้เป็นสส.อาจจะทำให้หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือว่านายกฯขาดความเชื่อมโยงกับงานฝ่ายนิติบัญญัติ ข้อที่สามคือเรื่องศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระ เป็นองค์กรที่เราคาดหวังให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ตรวจสอบทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น วินิจฉัยอย่างเป็นกลางกับทุกฝ่ายแต่ปัจจุบันอย่างที่อาจารย์ชูศักดิ์พูดกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระผ่านกระบวนการที่หลายคนตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง เพราะจะนั่งในตำแหน่งจะต้องถูกรับรองโดยสว.ซึ่งชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งจากคสช….”

“เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสองโจทย์หลักๆ เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญ คิดว่ามันเป็นโจทย์ที่อยากจะฟังความเห็นของทุกภาคส่วนของสังคมและคิดว่าเป็นโจทย์ที่ต้องมาคิดและหาทางออกร่วมกันคือ หนึ่ง จะทำให้กติกาสูงสุดคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รัดกุมขึ้นได้อย่างไรและ สองคือจะออกแบบสถาบันการเมืองให้มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนและมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้นได้อย่างไร”

ย้อนฟังไลฟ์ในประเด็นอื่นๆได้ที่นี่