เสวนา #ConforAll ปักธง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%

หลังภาคประชาชนร่วมกันลงชื่อสองแสนกว่ารายชื่อ เพื่อเสนอคำถามประชามติ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้ง 100% ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว เส้นทางการทำประชามติยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในทันที แต่นายกรัฐมนตรีกลับตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติขึ้นมาทำงาน 
ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำถามประชามติเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร 9 ธันวาคม 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ #ConforAll จัดวงเสวนา ปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง ชวนคุยถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามประชามติภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รวมถึงฟังความเห็นจากตัวแทนคณะกรรมการประชามติฯ ของรัฐบาล
พูดคุยกับ กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล iLaw แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พงศ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ 

เขียนใหม่ทั้งฉบับ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ระบุว่า การออกแบบหลักการ The King Can Do No Wrong ในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็เพื่อให้พระมหากษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับระบอบได้ ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกแก้ไขหลังทำประชามติ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ อ้างว่าตามข้อสังเกตพระราชทาน ซึ่งมีบทบัญญัติในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ถูกแก้ไขเรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่สามารถบริหารพระราชภาระหรือไม่อยู่ในประเทศ จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ได้ก็ได้ การที่รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขหลังทำประชามติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
กรกชทิ้งท้ายว่า หากคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ จะห้ามไม่ให้ สสร. แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับว่าคณะกรรมการฯ กำลังทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงควรเปิดโอกาสให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำได้ทั้งฉบับ 
พงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ผ่านมา หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ต่างก็เคยถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตลอด และหากดูเนื้อหาในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ก็มีส่วนที่เชื่อมโยงกับหมวดอื่นๆ เช่น คุณสมบัติขององคมนตรี ต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หากองค์กรอื่นในรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไป รัฐธรรมนูญเขียนใหม่ ก็ต้องมีการแก้ไขหมวด 2 เช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ การห้ามไม่ให้ สสร. แตะต้องหมวด 2 ก็อาจจะทำให้เนื้อหาไม่สอดคล้องกับหมวดอื่นๆ ที่ถูกแก้ไขได้

เลือกตั้ง สสร. 100% เปิดพื้นที่ประชาชนออกแบบรัฐธรรมนูญ

แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้บรรจุเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างชัดเจน แต่มีแนวคิดที่สะท้อนการสงเคราะห์ความยากไร้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ต่างก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนเขียนรัฐธรรมนูญ แต่กลับเขียนโดยนักปกครอง
ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเลือกตั้ง สสร. ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีควรให้ประชาชนเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญผ่านการเลือกตั้ง สสร. เพื่อพื้นที่ให้คนที่มีความหลากหลายเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ การกำหนดโควตาของกลุ่มคนแต่ละประเภทโดยอ้างว่า เดี๋ยวคนกลุ่มนั้นๆ จะไม่ได้มีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นวาทกรรมที่ดูถูก ไม่เชื่อในเสียงของประชาชน 
ด้านรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล iLaw เสริมว่า หากเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด ก็ยังมีวิธีการที่จะทำให้กลุ่มคนเฉพาะหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปมีส่วนเขียนรัฐธรรมนูญได้ สองวิธี คือ
1) คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถเป็นอนุกรรมาธิการ
2) สงวนโควตาบางอย่างให้ผู้ที่ทำงานหรือเชี่ยวชาญประเด็นต่างๆ แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

เลือกตั้ง สสร. 100% ทำได้ ต้องออกแบบระบบให้สะท้อนประชาชน

พงศ์เทพ ระบุว่า การทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติ พงศ์เทพเห็นว่าไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องทำและในทางกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ได้ผูกพันรัฐสภา แต่เพราะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตนเสนอว่า ให้รัฐสภาเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ใหม่เข้าไปในรัฐสภาเลย
พงศ์เทพ ยืนยันว่า การเลือกตั้ง สสร. 100% สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบเลือกตั้ง หากใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง อาจได้สสร. ที่ไม่ค่อยมีความหลากหลาย แต่ถ้าใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คนจากจังหวัดไหนก็สามารถเลือกตัวแทนของตัวเอง เลือกตัวแทนที่สะท้อนอัตลักษณ์ สะท้อนปัญหาของตัวเอง เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

คำถามประชามติไม่ดี อาจตกม้ายตายแต่ต้น

รัชพงษ์ ระบุว่า สิ่งที่พอจะเห็นข้อกังวลเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จากรัฐบาล คือ
1) ถ้าไม่ได้เขียนข้อห้าม สสร. แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 ไว้ในคำถามประชามติ เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้ง สสร. เข้าสภา อาจโดน สว. คว่ำ
2) ถ้าเลือกตั้ง สสร. 100% ผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มบุคคลเฉพาะจะเข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
ด่านสำคัญเกี่ยวกับการเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 1) ประชามติ ทำโดยประชาชน 2) รัฐสภา พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ รัชพงษ์แสดงความคิดเห็นว่า แม้สองด่านจะสำคัญ แต่ความสำคัญนั้นไม่เท่ากัน ด่านการทำประชามติที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจมีความสำคัญกว่า 
ในอดีตคนไทยเรามีบทเรียนมาแล้วจากการ “รับไปก่อน แล้วแก้ทีหลัง” หากคำถามประชามติมีการล็อกเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจนำไปสู่การได้คำตอบประชามติที่ไม่ตรงกับเจตจำนงประชาชนและอาจปิดโอกาสที่จะนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากคำถามประชามติเปิดกว้าง รัฐบาลเองก็สามารถเอาผลคำถามประชามติที่ปรากฏชัดมาจากเสียงประชาชน เพื่อยืนยันกับผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้
รัชพงษ์เห็นว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรอาจไม่ใช่ประเด็นหลักในตอนนี้ แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะมีอำนาจในการออกแบบรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งการกำหนดกติกาที่ยุติธรรม คือการตัดสินกันในคูหาเลือกตั้ง
รับชมไลฟ์เสวนาย้อนหลัง https://web.facebook.com/iLawClub/videos/899117655175074/
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป