ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย ดันบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันผู้สูงอายุ

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผู้สูงอายุ หลายคนที่เคยรับราชการอาจมีหลักประกันชีวิตจากเงินบำเหน็จบำนาญ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับราชการแต่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม อาจมีเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ผู้สูงอายุบางส่วนอาจได้รับเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐจ่ายเป็นเงินรายเดือน
ปัญหาของประเทศไทยคือ หลักประกันสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการเป็นหลักประกันทางรายได้และยังมีความเหลื่อมล้ำ คนที่ประกอบอาชีพต่างๆ จะได้รับเงินจากรัฐเมื่ออายุเลยวัยทำงานแล้วในอัตราที่แตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งการจ่ายเงินของภาครัฐยังมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์มากกว่าการเป็น “สวัสดิการพื้นฐาน” ที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ โดยเหตุนี้ ภาคประชาชนจึงใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ) แก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 (พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ) ที่ใช้บังคับอยู่ โดยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ภาคประชาชนเคยเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติต่อสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 แล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี “ปัดตก” ไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้ร่างนั้นตกไป ไม่มีโอกาสเสนอเข้าสภา
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ต่อสภา ได้ทาง https://pension-4all.com/ ตามกฎหมาย ต้องการรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อจึงจะยื่นเข้าสภาได้

ผู้สูงอายุ 60 ปี รับบำนาญรายเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน

ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ หรือชื่อเต็มคือ ร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนผลักดันเพื่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่ใช้บังคับอยู่ โดยไม่ได้เสนอออกกฎหมายฉบับใหม่แยกออกมา และเปลี่ยนชื่อจากพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เป็นพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสำคัญของร่างที่วางระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับผู้สูงอายุ
ร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน กำหนดให้มีการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเป็นรายเดือน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับอัตราเงินรายเดือนนั้นจะเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ ในร่างยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการกำหนดอัตราเงินบำนาญที่จะจ่ายเป็นรายเดือนไว้ ว่าควรมีอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้ในปีก่อนหน้าปีที่จ่าย และให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายทุกสามปี
หากดูข้อมูลใน สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้ ที่จัดทำขึ้นโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 เส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 2,803 บาท

ตั้งกองทุน จัดแจงเงินสำหรับจ่ายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า

สำหรับที่มาของเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุรายเดือน ตามร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” (กองทุนบำนาญ) เป็นอีกกองทุนแยกมาจากกองทุนผู้สูงอายุเดิมที่มีอยู่ โดยกองทุนบำนาญมีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเงินในกองทุนบำนาญ จะใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติสมทบงบประมาณประจำปี
สำหรับที่มาของเงินในกองทุนบำนาญ ประกอบด้วยสองส่วนหลักด้วยกัน คือ
หนึ่ง เงินจากงบประมาณ ภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
  1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  2. เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  3. เงินบำรุงจากภาษีสรรพสามิตสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลง รถ หรือภาษีอื่น รายละเอียดจะเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
  4. เงินที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
  5. เงินบำรุงได้ที่จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตกิจการสื่อสารวิทยุ โทรศัพท์
  6. เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าภาคหลวง (ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการทำเหมืองและขุด ผลิตแร่)
  7. เงินบำรุงที่ได้จากภาษีรถยนต์
สอง เงินจากการบริจาคโดยประชาชนทั่วไป
ในร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุนบำนาญได้ ผู้ที่บริจาคก็จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้หรือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่บริจาค
กองทุนบำนาญ จะจัดแจงและจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุ หากจ่ายล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วนด้วย

ตั้งกรรมการ ออกแบบนโยบายจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรม

ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบาย) แยกออกมาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีอยู่แล้ว
คณะกรรมการนโยบาย ประกอบด้วย
  • นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
  • รองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย รองประธาน คนที่หนึ่ง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองประธานคนที่สอง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองประธาน คนที่สาม
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธาน คนที่สี่
  • กรรมการโดยตำแหน่ง : ปลัดกระทรวงจาก 10 กระทรวง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินห้าคน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง สองในห้าคนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐสวัสดิการ
  • ผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ดำเนินกิจกรรมมาไม่น้อยกว่าสองปี และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เป็นกรรมการด้านละหนึ่งคน
  1. ด้านผู้ใช้แรงงาน
  2. ด้านผู้สูงอายุ
  3. ด้านเด็กและเยาวชน
  4. ด้านสตรี
  5. ด้านชาติพันธ์ุและชนกลุ่มน้อย
  6. ด้านคนพิการ
  7. ด้านเกษตรกร
  8. ด้านผู้ป่วยเรื้อรัง
  9. ด้านชุมชนแอดอัด
  10. ด้านสิทธิมนุษยชน
  11. ด้านกองทุนการออมของชุมชน
  12. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค
คณะกรรมการนโยบาย มีอำนาจหน้าที่ เช่น
  • กำหนดนโยบายการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชาการเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี
  • กำหนดระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
  • ประสานงานเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณบำนาญพื้นฐานแห่งชาติรายปี
  • ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติทุกสามปีเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ได้ทาง https://pension-4all.com