นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งปี ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 250 คนก็จะหมดอายุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สว. จะหายไปจากการเมืองไทย เพราะจะมี สว. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งมีทั้งความเหมือนและความต่างจาก สว. ที่เรารู้จักในหน้าข่าวตลอดเกือบห้าปีที่ผ่านมา
สว. ใหม่ 200 คน
สว. ชุด 250 คน เป็นเพียงชุด ‘ชั่วคราว’ ตามบทเฉพาะการณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น เมื่อครบอายุห้าปีตามรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการปรับเปลี่ยนกลับไปใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภาตามปกติของรัฐธรรมนูญ 2560
สว. ชุดใหม่จะมีสมาชิกเหลือ 200 คน และแทนที่จะมาจากการแต่งตั้งของคณะทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมเหมือนชุดที่ผ่านมา จะมีที่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้สมัครนั้นเลือกกันเองและข้ามกลุ่มกัน เช่น กลุ่มข้าราชการอาจจะต้องไปเลือกตัวแทนจากกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม เป็นต้น ลำดับการเลือกนั้นก็จะทำเป็นตั้งแต่ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพกลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 200 คน
สำหรับกลุ่มอาชีพทั้ง 20 ประกอบไปด้วย
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
- กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
- กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง
- กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ
ผู้ที่จะสมัครเป็น สว. นั้นจะต้องมีอายุอย่างน้อย 40 ปี และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือมีลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ ข้อสำคัญก็คือใครก็ตามที่มีคุณสมบัติครบก็สมัครได้ แม้ว่าสุดท้ายอาจจะไม่ได้รับเลือกให้เป็น สว. แต่การสมัครเป็น สว. ก็จะทำให้ผู้สมัครได้รับ ‘คะแนนเสียง’ ในการเลือกผู้สมัครคนอื่นที่เห็นว่ามีคุณสมบัติทัศนคติเหมาะสม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเลือก สว. ที่เราอยากเห็นต่อไป
รอสองเดือนได้ สว. ชุดใหม่ อย่างเร็ว ก.ค. 67
สว. ชุด 250 คน จะหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 โดยขั้นตอนหลังจากนั้นคือการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ ซึ่งสามารถประเมินระยะเวลากว่าที่จะมี สว. ชุดใหม่ได้ดังนี้
- 11 พ.ค. 2567 สว. แต่งตั้งโดย คสช. หมดอายุ
- อย่างเร็ว 12 พ.ค. 2567 ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่
- ภายใน 17 พ.ค. 2567 กกต. ประกาศวันรับสมัครและวันเลือกในทุกระดับ
- ภายใน 27 พ.ค. 2567 เปิดรับสมัครผู้มีความประสงค์จะเป็น สว.
- 27 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2567 ระยะเวลารับสมัคร
- ภายใน 22 มิ.ย. 2567 วันเลือกระดับอำเภอ
- ภายใน 29 มิ.ย. 2567 วันเลือกระดับจังหวัด
- ภายใน 9 ก.ค. 2567 วันเลือกระดับประเทศ
- อย่างเร็ว 14 ก.ค. 2567 กกต. ประกาศผลการสรรหา สว. ในพระราชกิจจานุเบกษา
ดังนั้น กระบวนการสรรหา สว. ตั้งแต่เริ่มประกาศพระราชกฤษฎีกาจะใช้เวลาอย่างมากที่สุดประมาณ 64 วัน ทำให้คนไทยจะต้องรออย่างน้อยกว่าสองเดือนกว่าที่ สว. ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยในระหว่างกระบวนการสรรหานี้ สว. 250 คนชุดแต่งตั้งโดย คสช. ก็จะยังรักษาการณ์ต่อไป
เมื่อได้ สว. ชุดใหม่มาแล้ว ก็จะมีอายุห้าปีนับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศผลการคัดเลือก ส่วน สว. ชุดเก่า จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งทางการเมืองสองปี เว้นแต่จะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เลือกนายกไม่ได้แล้ว แต่ยังมีอำนาจอื่นอีกเพียบ
ความแตกต่างในอำนาจของ สว. ชุดใหม่คือจะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. เหมือนกับชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. แล้ว อย่างไรก็ดี อำนาจในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญก็ยังคงอยู่ ได้แก่
1. อำนาจพิจารณากฎหมาย สว. จะมีอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างกันขึ้นอยู่กับประเภท สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สว. จะเข้ามามีบทบาทเมื่อร่างได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดย สว. ไม่มีอำนาจในการปัดตก ทำได้เพียงยับยั้งเอาไว้ 180 วัน หลังจากนั้น สส. ก็สามารถเอาลงคะแนนใหม่ได้ หรือถ้าเห็นว่าควรแก้ไขก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาเพื่อพิจารณา สำหรับกฎหมายประเภทอื่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จะต้องใช้มติของทั้งสองสภา หมายความว่า สว. จะมาร่วมลงคะแนนด้วย
2. อำนาจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องใช้การประชุมร่วมของสองสภา โดยนอกจากจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งแล้ว ในวาระที่หนึ่งและสาม ยังต้องใช้เสียงของ สว. อย่างน้อยหนึ่งในสามร่วมเห็นชอบด้วย เท่ากับว่า หากมี สว. ชุดใหม่ 200 คน จะต้องได้เสียง สว. ที่เห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง แม้ว่า สส. จะลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ แต่หากไม่มี สว. เห็นชอบถึงหนึ่งในสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็จะตกไป ที่ผ่านมา เงื่อนไขนี้ถูกใช้โดย สว. ที่แต่งตั้งโดยคสช. ในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในหลายครั้ง สส. จะเห็นด้วยอย่างท่วมท้นก็ตาม
3. อำนาจให้ความความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดย สว. จะตรวจสอบประวัติและให้ความเห็นชอบของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้จะคณะกรรมการสรรหา นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น อัยการสูงสุด
4. อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร ในฐานะหนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติ สว. ยังสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ผ่านกลไกการตั้งกระทู้ถามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถึงปัญหา ไปจนถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปให้คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงข้อเท็จจริง แต่จะไม่มีการลงมติเหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ สส.