เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ประชามติต้องเปิดกว้าง คำถามมีเงื่อนไขอาจได้คำตอบไม่ตรงเจตจำนงประชาชน

การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องทำประชามติอย่างน้อยสามครั้ง 1) ครั้งแรก ทำก่อนแก้รัฐธรรมนูญ ตามคำประกาศของพรรคเพื่อไทย 2) ครั้งที่สอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และ 3) ครั้งที่สาม รับรองรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน และหากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผู้ทำหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มาจากการเลือกตั้ง เท่ากับว่าในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ประชาชนจะต้องเข้าคูหาถึงสี่ครั้ง ประชามติสามครั้ง เลือกตั้ง สสร. หนึ่งครั้ง

หลังจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ก็มีข้อเสนอและข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ จำนวนครั้งในการทำประชามติก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีผู้โต้แย้งว่าจำเป็นต้องทำถึงสามครั้งหรือไม่ หรือแค่สองครั้งก็เพียงพอ รวมถึงคำถามในการทำประชามติซึ่งมีข้อเสนอว่าควรล็อกไม่ให้ สสร. เปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทบทบัญญัติบางมาตรา ก็ทำให้มีประเด็นที่ต้องถกเถียงว่าการตั้งคำถามแบบมีเงื่อนไขจะส่งผลต่อการออกเสียงโหวตประชามติหรือไม่ 

ระหว่างที่การเดินหน้าไปสู่การทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่ถึงกระบวนการเริ่มทำประชามติ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30-16.30 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดวงอภิปรายสาธารณะในหัวข้อ “กระบวนการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย : แก้ไข-ร่างใหม่-ประชามติ?” ร่วมแลกเปลี่ยนโดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา  คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ อดีต สสร. 2540 ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ดำเนินรายการโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ประชามติครั้งแรกไม่จำเป็น เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ไม่ต้องเปลืองงบจัดประชามติ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ระบุว่า ผลการเลือกตั้ง 2566 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประชาชนต้องการนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง หากดูเสียงของพรรคที่มีจุดยืนในการเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็มีประชาชนที่เลือกราว 25-26 ล้านเสียง ขณะที่พรรคขั้วรัฐบาลเก่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคที่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่บ้างอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้รับเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้น

สำหรับเรื่องการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีประเด็นว่าจำเป็นต้องทำประชามติถึงสามครั้งหรือไม่ สำหรับการทำประชามติครั้งที่สาม เพื่อยืนยันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยิ่งชีพเห็นว่ามีความจำเป็น ส่วนการทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ยิ่งชีพเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ที่แนวโน้มรัฐบาลจะทำประชามติครั้งแรกก่อนแก้รัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจากในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2563 ไพบูลย์ นิติตะวัน สส. พรรคพลังประชารัฐ (ในขณะนั้น) และ สมชาย แสวงการ สว. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ผลออกมาในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ว่า รัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติก่อน

พงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ อดีต สสร. 2540 กล่าวว่าตนเห็นด้วยว่าประชามติครั้งแรกไม่จำเป็นต้องทำ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปใช้กับการทำประชามติโดยไม่มีเห็นผล หากไปย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ในส่วนของความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละราย พบว่าในบรรดาตุลาการเก้าราย จำนวนหกรายที่แจกแจงความเห็นส่วนตน อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าทำประชามติเพียงสองครั้ง ขณะที่ตุลาการผู้ยืนยันว่าทำประชามติสามครั้ง มีเพียงสองคน และมีหนึ่งคนที่เป็นเสียงข้างน้อยว่ารัฐสภาไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ 

ดังนั้น การนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พงศ์เทพมองว่าสามารถเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาได้เลย โดยไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินรวมถึงเวลาด้วย

ด้านยิ่งชีพแสดงความเห็นว่า หากมีการทำประชามติครั้งแรก แต่ไม่ผ่าน กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้จบในทันที ยังสามารถแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ สิ่งที่น่าจับตา คือ สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 และจะมีสว. 200 คนที่มาจากการเลือกกันเอง ซึ่งพวกเขาจะมีบทบาทในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ และการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวาระหนึ่งรวมถึงวาระสามก็ยังต้องอาศัยเสียงของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามด้วย หาก สว. ชุดใหม่ หากได้ สว. ชุดใหม่ที่ไม่ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้

ประชามติต้องเปิดกว้าง คำถามมีเงื่อนไขอาจได้คำตอบไม่ตรงเจตจำนงประชาชน

สำหรับหนึ่งในประเด็นสำคัญของการทำประชามติครั้งแรก คือ คำถามในการทำประชามติ จะเขียนอย่างไร ยิ่งชีพระบุว่า ทางรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีความกังวลเรื่องหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ต้องการคงเนื้อหาเดิมของทั้งสองหมวดไว้ สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่ประเด็นเชิงเนื้อหาดังกล่าว แต่เป็นเรื่องการตั้งคำถามประชามติ ว่าหากในคำถามประชามติล็อกห้ามไม่ให้ สสร. แตะหมวด 1 หมวด 2 จะกลายเป็นว่าในคำถามประชามตินั้นจะมีคำถามสองข้อซ้อนกัน และประชาชนบางส่วนอาจไปโหวตโนโดยที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อจำกัดเชิงเนื้อหาให้กับสสร. ซึ่งสุดท้ายแล้วผลของการทำประชามติอาจไม่ได้สะท้อนเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริงและไม่นำไปสู่การเดินหน้า  ยิ่งชีพเสนอว่า คำถามประชามติควรทำให้กว้างที่สุด ซึ่งภาคประชาชนได้เสนอคำถามประชามติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสสร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด ด้านพงศ์เทพเสริมว่า หากทำประชามติครั้งแรกจริงๆ ก็ไม่ควรมีคำถามที่ซ้ำซ้อน อาจถามกว้างๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ จากภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด ดังนั้น สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ สะท้อนเจตจำนงของประชาชนและมีความยึดโยงกับประชาชน จึงจำเป็นต้องออกแบบวิธีการ-รูปแบบการเลือกตั้ง สสร. เพื่อให้คนหลายกลุ่ม เช่น สตรี กลุ่มเปราะบาง เข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับการออกแบบคำถามประชามติ ลัดดาวัลย์มองว่ารัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยรณรงค์ ทำนองเดียวกับการเลือกตั้ง 2566 ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งการกำหนดงบประมาณควรเพียงพอต่อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เมื่อเทียบกับการเขียนรัฐธรรมนูญในอดีตอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 จะเห็นว่าในอดีตการเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ได้มีข้อจำกัดทางด้านเนื้อหามาก่อน การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นโจทย์แบบใหม่ อีกทั้งบรรยากาศภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แตกต่างจากบรรยากาศการเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 

สมบูรณ์ เล่าถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประเด็น ซึ่งควรจะได้รับการแก้ไข เช่น การกระจายอำนาจ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการรวมศูนย์อำนาจบางอย่างสู่ส่วนกลางทำให้ท้องถิ่นไม่มีโอกาสได้เติบโตมากพอ การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรออกแบบให้มีการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น สมบูรณ์เห็นว่า การรรณรงค์เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ชูธงเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าจับต้องได้ แต่สิ่งสำคัญ คือต้องให้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วม 

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคที่มีนโยบายเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างชัดเจน คือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ  พรรคเพื่อไทยควรผลักดันการเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ หากรัฐบาลไม่จริงใจในการทำประชามติ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามที่สร้างกลลวง ก็อาจนำไปสู่ปัญหาในการทำประชามติและการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมธาระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมาเกิดคดีการเมืองที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจไม่ชอบ ตั้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรมกับนักโทษทางการเมือง นักโทษความคิด โจทย์สำคัญในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องไปคู่ขนานกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคม นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ในส่วนภาคประชาชนก็ต้องจับตาการทำงานของรัฐบาลว่ามีความจริงใจแค่ไหนในการเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมถึงการแก้ไขปัญหาประชาชน