“ผู้นำฝ่ายค้าน” บทบาทสำคัญ ตั้งไม่ได้ก็รอต่อไป

“ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญในการปกครองระบบรัฐสภาที่จำเป็นต้องมีผู้นำในสภาเพื่อตรวจสอบรัฐบาล อย่างไรก็ตามความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นำมาสู่ปัญหาใหม่ที่อาจทำให้รัฐสภาจากการเลือกตั้ง 2566 ขาดผู้นำฝ่ายค้านหรืออาจได้ผู้นำฝ่ายค้านที่อ่อนแอเพราะมีเสียงในสภาน้อยเกินไป

คุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า เมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ให้มีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ แน่นอนว่า ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ต้องเป็นของบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. เท่านั้น แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขเพื่อให้ผู้นำฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างไม่ต้องเกรงใจ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 กำหนดว่า “…พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ทั้งนี้ในกรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าว มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก

จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่า สส.ที่จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไข คือ เป็นหัวหน้าพรรคที่มี สส. มากที่สุด แต่พรรคนั้นต้องไม่มีรัฐมนตรีหรือประธานหรือรองสภาผู้แทนราษฎร

หากเปรียบเทียบคุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นผู้นำฝ่ายค้านกับรัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 พบว่ามีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดที่มาคล้ายกันว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็น สส. และหัวหน้าพรรคที่มี สส. มากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี แต่ต้องพรรคนั้นต้องมี สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจำนวน สส.เท่าที่มีอยู่ในสภา ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนฯ เลย

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่ไม่มีพรรคใดเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ก็ให้บรรดาพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรีใช้เสียงข้างมากเลือกหัวหน้าพรรคคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ถ้าคะแนนเท่ากันให้จับฉลาก

หลังตั้ง ครม. เศรษฐา พรรคไหนมีโอกาสเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

ผลการเลือกตั้ง 2566 ผสมกับความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านมีความซับซ้อนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

การจับขั้วตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งของสองพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจคสช. และเป็นสองพรรคที่มีจำนวน สส. ใกล้เคียงกัน คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ทำให้การเลือกนายกฯ ในสองครั้งแรกที่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ล้มเหลว เนื่องจากการมี สว. ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ

อย่างไรก็ตามการจับขั้วตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลครั้งแรก มีการเลือกประธานและรองประธานรัฐสภาก่อนการเลือกนายกฯ ทำให้รองประธานสภาผู้แทนฯ หนึ่งคนมาจากพรรคก้าวไกล คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. เขต จากจังหวัดพิษณุโลก

แม้การจับขั้วรัฐบาลหลังจากนั้นที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะฝ่ายค้านตามกฎหมายได้ เพราะยังมี สส. ก้าวไกล อยู่ในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร นั่นทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลหมดสิทธิเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ยกเว้น ปดิพันธ์ จะลาออกเท่านั้น

ดังนั้นความเป็นไปได้ของการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจึงตกอยู่กับพรรคลำดับรองลงมาที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีและประธานสภา คือ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่สามารถส่งต่อให้กับพรรคลำดับถัดไปได้เหมือนการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจน

หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการส่งต่อตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านให้กับพรรคลำดับถัดไป ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และให้มี สส. ประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรี จากนั้นสิทธิในการเป็นผู้นำฝ่ายค้านจะไปอยู่ที่พรรคไทยสร้างไทย และถ้าพรรคไทยสร้างไทยจะรับไม้ต่อก็ต้องเลือก สส. ที่มีอยู่เป็นหัวหน้าพรรคแทน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยคนปัจจุบันซึ่งลาออกจากการเป็นสส. ไปแล้ว

ผู้นำฝ่ายค้านตั้งเมื่อไรก็ได้ รอพรรคที่มีสิทธิพร้อม

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่า จุดสิ้นสุดของการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร และถ้าตั้งไม่สำเร็จจะต้องทำอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นได้ว่า การแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านอาจจะต้องรอช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องรอการเลือกหัวพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หรือรอเงื่อนไขอื่นๆ เช่น รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลลาออก หรือมีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกรณีการไร้ผู้นำฝ่ายค้านหรือตั้งผู้นำฝ่ายค้านไม่สำเร็จเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ครั้งนั้นพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลพรรคพลังประชาชนบริหารประเทศได้ไม่ถึงปีก็ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น สส. ของพรรคพลังประชาชนแตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก สส. ส่วนใหญ่ ย้ายไปรวมกันที่พรรคใหม่ชื่อพรรคเพื่อไทย อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มเพื่อนเนวินย้ายไปตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคภูมิใจไทย

ขณะนั้น สส. ที่ย้ายมารวมกันที่พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปรสำคัญในเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาและเปลี่ยนสถานะของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกฯ ได้สำเร็จ และทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งแม้จะมี สส. มากที่สุดในสภาต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงยุบสภา ระยะเวลาเกือบสามปี เป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรไร้ฝ่ายค้าน เนื่องจากพรรคที่มี สส. มากที่สุด และไม่มีรัฐมนตรี อย่างพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคในช่วงนั้น คือ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่ได้เป็น สส. และพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ยอมตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็น สส. เพื่อมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน

บทบาทผู้นำฝ่ายค้านที่มากกว่าตรวจสอบรัฐบาล

บทบาทปกติของผู้นำฝ่ายค้าน คือเป็นผู้นำของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคในการตรวจสอบรัฐบาล อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้บทบาทพิเศษกับผู้นำฝ่ายค้าน อีกถึงหลายประการ

  1. ผู้นำฝ่ายค้าน ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา (ประชุมลับ) เพื่อหารือร่วมกับ ครม. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ (มาตรา 155) 
  2. ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใดเป็นกฎหมายปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ หรือไม่ ในกรณีที่ ครม. และ สมาชิกรัฐสภา เห็นไม่ตรงกัน (มาตรา 270 วรรคสี่)
  3. ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (มาตรา 203, มาตรา 217)

เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะพบว่าบทบาทของผู้นำฝ่ายค้าน มีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบทบาทในการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่เพิ่งเกิดขึ้นตอนรัฐธรรมนูญ 2550

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป