ทวงสัญญารัฐธรรมนูญใหม่ พรรคไหนเคยชูเป็นนโยบายบ้าง

แม้การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จะผ่านไปนานกว่าสองเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ใดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และเมื่อใดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะแล้วเสร็จ สภาวะการณ์เช่นนี้ตอกย้ำถึงความไม่ปกติของการเมืองไทยและยิ่งฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่ากลไกประหลาดที่ฝังตัวอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สร้างรอยร้าวให้สังคมมากถึงเพียงใด 

แม้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเคยถูกเสนอในสภาชุดที่แล้วหลายร่าง แต่ผลสุดท้ายมีเพียงเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งเท่านั้นที่สำเร็จ สิ่งที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญนี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมามีตัวแทนพรรคการเมือง 30 พรรคร่วมลงนามเพื่อทำสัญญากับประชาชน ทั้งเรื่องการหาเสียงและสิ่งที่จะเกิดภายหลังการเลือกตั้ง โดยประเด็นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นหนึ่งในข้อสัญญาที่พรรคการเมืองทั้ง 30 พรรค ได้ร่วมลงนามสัญญากับประชาชนไว้ด้วย 

พรรคการเมืองบางพรรคยังนำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมานำเสนอเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญในการเลือกตั้ง 66 หรือแม้จะไม่เป็นนโยบายแต่หลายพรรคก็เคยมีการพูดถึงและเคยมีความพยายามเสนอร่างแก้ไขมาก่อนหน้าประกอบไปด้วยบรรดาพรรคต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

พรรคก้าวไกล ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 ได้ที่นั่งในสภามากถึง 151 ที่นั่ง เคยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในสภาชุดที่แล้วและกำลังจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในฐานะวาระสำคัญที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด 

ในช่วงการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญที่จะดำเนินการใน 100 วันแรก ด้วยการทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าควรจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยข้อเสนอแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีทั้งแบบร่างใหม่ทั้งฉบับและแบบการแก้ไขควบคู่กัน ดังนี้ 

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน
๐ ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย
๐ เพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
๐ ห้ามศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และกำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องประชาธิปไตย
๐ ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และ เปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฎได้
๐ ปกป้องเสียงของประชาชน ผ่านการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ
๐ ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรร
๐ ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน
๐ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
๐ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยประชาชน คือ รัฐธรรมนูญต้องร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง

แก้รัฐธรรมนูญ รื้อกลไกสืบทอดอำนาจ
๐ แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเน้นการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ
๐ ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรรม
๐ ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน
๐ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


เพื่อไทยเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง พร้อมขจัดเผด็จการต่อต้านรัฐประหาร 

พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำแปดพรรคจัดตั้งรัฐบาล ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 141 ที่นั่ง  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านของสภาชุดที่แล้ว พรรคเพื่อไทยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง 66 ก็ยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคด้วย โดยเน้นเป็นจุดเด่นว่า “แก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน” และปรากฎสาระสำคัญ ดังนี้

๐ จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน
๐ “ปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ” ให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และมีความโปร่งใส
๐ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส คำนึงถึงหลักนิติธรรม “สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อไม่ได้”
๐ ปรับปรุงยกเลิกกฎหมายทั้งหมดตามความจำเป็นลดกฎหมาย ลดขั้นตอน ลดการใช้ดุลยพินิจ
๐ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระต้องมีความเป็นอิสระ มีการคานอำนาจและมีความโปร่งใส
๐ ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
๐ เสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร
๐ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดนำร่อง

ในวันที่ 5 เมษายน 2566 ชัยเกษม นิติสิริ สส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกฯ เคยย้ำจุดยืนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญบนเวที  ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน ONE TEAM FOR ALL THAIS: หนึ่งทีม เพื่อไทยทุกคน’ ว่า “ ‘แก้ปมแรกของทุกปัญหา ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ’ เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์และคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกของประชาชน และต้องมีมาตราสำหรับการป้องกันรัฐประหารให้เป็นความผิดฐานเป็นกบฏ ไม่มีกำหนดอายุความ ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอไว้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญของไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจอีก”


ประชาชาติ มีจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญประชาชนต้องเป็นผู้ร่าง 

พรรคประชาชาติ หนึ่งในแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลและอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านเคยยืนยันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคประชาชาติได้ 9 ที่นั่งในสภา ส่วนช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ปรากฎชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรค 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนโยบายของพรรคประชาชาติ คือ การสนับสนุนกฎหมายประชามติเพื่อกระจายงบประมาณและอำนาจในการบริหารและการปกครอง โดยสาระสำคัญ คือ “ทำประชามติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสสร.ทำประชามติเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง (เลือกตั้งผู้ว่าราชการ) หรือการบริหารและการปกครองรูปแบบอื่นๆ” 

นอกจากนี้ ในวันที่ 25 มีนาคม 2566 ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวบนเวทีดีเบตอนาคตประเทศไทย เปิดเวทีภาคใต้ พบแม่ทัพพรรคการเมือง กับนโยบายกินได้ จัดโดยเครือเนชั่นกรุ๊ป ว่า 

“พรรคประชาชาติ ให้ความสำคัญกับประชาชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องให้เกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจะแก้ปัญหาที่คน คำพูดไม่สำคัญเท่ากับการกระทำ การกระทำก็ไม่สำคัญ เท่ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 5จังหวัดภาคใต้ชายแดน จังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดยากจนที่สุด จะเลือกของเก่า ให้ยากจนต่อไปหรือ การบริหารประเทศ ต้องไม่นำประชาชนไว้ข้างหลัง เรามีนโยบาย ที่จะสร้างประชาธิปไตยให้ชุมชน คืนสิทธิ์ คืนอำนาจให้ประชาชน โดยโอนงบประมาณส่วนกลาง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนเป็นผู้ร่าง ให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน เราจะเป็นพรรคการเมืองที่จะเริ่มต้น ปฏิรูปที่ดิน ครัวเรือนเกษตรกรต้องมีที่ดินอย่างน้อย 20 ไร่ เมื่อไม่มีกฎหมายภาษีที่ดินที่ชัดเจน ทำให้คนบางคนกักตุนที่ดิน แต่คนจำนวนมากกลับไม่มีที่ดิน พรรคประชาชาติได้ แก้กฎหมายป่าไม้และที่ดิน”

ไทยสร้างไทยเสนอ สสร.จากการเลือกตั้ง ไม่แก้ไขหมวด 1 และ 2 

พรรคไทยสร้างไทย หนึ่งในแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ 6 ที่นั่งในสภา ก่อนการเลือกตั้งเคยพรรคไทยสร้างไทยเคยจัดทำร่างแก้รัฐธรรมนูญและเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาชุดก่อนหน้าพิจารณา อีกทั้งนำมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง ปรากฎสาระสำคัญ ดังนี้ 

ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน นำเสนอผ่านกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง (สสร.)  สร้างประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองรัฐประหารคือกบฏ ต้องได้รับโทษสูงสุดคนที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญต้องถือเป็นกบฏตลอดไป และต้องรับโทษจำคุกการนิรโทษกรรมการรัฐประหารจะกระทำมิได้ คนไทยเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคน ถือว่าเป็นผู้เสียหายศาลมีหน้าที่ต้องตัดสินให้เป็นไปตามหลักประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มิฉะนั้น ศาลจะเป็นผู้ที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายตลอดจนคำปฏิญาณที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญเสียเอง

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 พรรคไทยสร้างไทยย้ำจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามร่างที่พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว เพื่อตัดวงจรการสืบทอดอำนาจทั้ง สว. และแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่แก้ หมวด 1 และ 2 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนสำเร็จลุล่วงได้จริง


เสรีรวมไทย เน้นแก้ไขบทบาทวุฒิสภา (สว.) 

พรรคเสรีรวมไทย หนึ่งในแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เพียงหนึ่งที่นั่งในการเลือกตั้ง 2566 เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคได้รับเลือกเป็นสส.อีกหนึ่งสมัย ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งไม่ปรากฎชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรคเสรีรวมไทย แต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย เคยแถลงนโยบายด้านการเมืองของพรรคว่า 

“มีข้อเสนอให้สว.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 4ปี คุณสมบัติสว.ต้องมีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะกำหนดลักษณะต้องห้ามคือ ห้ามบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สว. หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่การรัฐประหาร วันที่ 22พ.ค.2557 ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 20ปี ขณะที่อำนาจของสว. จะให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐมนตรี สส. องค์กรอิสระ รวมถึงสว. มีอำนาจพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เข้าชื่อเกิน 10,000 ชื่อ ทั้งนี้สว.ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ถ้าวางตัวไม่เป็นกลาง เช่น การรับหรือเรียกรับผลประโยชน์จากฝ่ายการเมือง จะมีบทลงโทษรุนแรงทั้งถูกถอดถอนจากตำแหน่งและโทษทางอาญา การกำหนดคุณสมบัติและลักณะต้องห้ามเหล่านี้ของสว.ไม่มีเจตนาให้ขัดกับสิทธิเสรีภาพเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่ เป็นข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะสนับสนุนประเด็นดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ แต่พรรคเสรีรวมไทยจะผลักดันให้แก้ไขในอนาคตแน่นอน

เป็นธรรม เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

พรรคเป็นธรรม หนึ่งในแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล  เป็นพรรคใหม่ในการเลือกตั้งปี 2566 และได้รับที่นั่งในสภาหนึ่งที่นั่ง นโยบายหลักที่พรรคเป็นธรรมใช้หาเสียงคือนโยบายสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเป็นธรรมใช้หาเสียง โดยพรรคเป็นธรรมให้เสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” แต่ยังไม่ปรากฎข้อมูลในรายละเอียดใดๆ 

ชาติไทยพัฒนา เสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผลักดันโมเดล ปี 40 

พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นอดีตพรรคร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคชาติไทยพัฒนาได้รับที่นั่งในสภา 10 ที่นั่ง ช่วงการเลือกตั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่พรรคชาติไทยพัฒนานำมาสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านป้ายหาเสียงที่ใช้ข้อความว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (บรรหารโมเดล ปี 40) เราทำสำเร็จมาแล้ว” 

วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่ทางพรรคของเขาจะผลักดัน  โดยนโยบายปรากฎสาระสำคัญ ว่า “ผลักดันรัฐธรรมนูญ ฉบับปรับปรุงแก้ไข โดยรับฟังเสียงจากประชาชนทุกภาคส่วน ตามแบบที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 เคยทำไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้การยอมรับมากที่สุด” 


ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า ไม่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคภูมิใจไทย อดีตพรรคร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่นั่งมากถึง 71 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่แล้วอยู่ใน ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยเสนอให้ยกเลิกมาตรา 65 ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ของ คสช. มาตราเดียว เพิ่มคำว่า “ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมได้เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์” และประเด็นรายได้ถ้วนหน้า โดยเพิ่มเติมมาตรา 55/1 เขียนว่า รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง แต่ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมากลับไม่ปรากฎเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายหลักของพรรค

พรรคพลังประชารัฐ อดีตพรรคนั่งร้านที่ส่งพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งในสภาเพียง 40 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่แล้ว โดยเสนอหลายประเด็นรวมในร่างเดียว คือ 
1) เพิ่มมาตรา 29 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560
2) แก้ไขมาตรา 41(3) ในประเด็นสิทธิของชุมชน เพิ่มเติมให้ชุมชนยังมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในกรณีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐ
3) แก้ไขมาตรา 45 เลิกบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote
4) เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ แต่มีรายละเอียดต่างไป เช่น กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของพรรคที่ได้ สส. ปาร์ตี้ลิสต์ไว้ที่ 1%
5) แก้ไขมาตรา 144 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการกำหนดโทษ สส. หรือ สว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ แปรญญัติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ
6) แก้ไขมาตรา 185 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการห้าม สส. หรือ สว.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
7) แก้ไขมาตรา 270 ให้อำนาจกำกับการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่เป็นของ สว. ฝ่ายเดียว ให้เป็นอำนาจของ สส. ร่วมด้วย
ในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ไม่ปรากฎว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ

พรรครวมไทยสร้างชาติ  พรรคการเมืองตั้งใหม่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มนักการเมืองหน้าเดิมซึ่งชูพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ที่นั่งในสภา 36 ที่นั่ง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งไม่ปรากฎประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรคแต่อย่างใด


พรรคประชาธิปัตย์  อดีตพรรคร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคได้รับที่นั่งในสภาลดเหลือเพียง 25 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่แล้ว โดยมีประเด็นทั้ง ตัดอำนาจ ส.ว.,กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช.,ที่มานายกรัฐมนตรี, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และประเด็นระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นร่างเดียวที่ผ่านที่ประชุมรัฐสภา  แต่ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมากลับไม่ปรากฎประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักของพรรค 

พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคควบรวมระหว่างพรรคเก่าแก่อย่างพรรคชาติพัฒนา อดีตพรรคร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และพรรคน้องใหม่แต่คนนำหน้าเดิมอย่างพรรคกล้า ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคชาติพัฒนากล้าได้ 2 ที่นั่ง 
ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ปรากฎว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก พรรค แต่ กรณ์ จาติกวณิช  อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เคยให้สัมภาษณ์กับ 101 one-on-one ว่า 

พรรคชาติพัฒนากล้ามองว่าในอนาคตจะมีส... มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้คนรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของเหมือนกับสมัย 2540 แต่การที่จะมีส... มาร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาหลายปีผมมองว่าบางเรื่องควรต้องแก้รายมาตราในสภาได้เลยหนึ่งในเรื่องที่ต้องแก้คือแก้รัฐธรรมนูญให้มันแก้ง่ายขึ้นตอนนี้เป็นระบบเสียงข้างน้อยมีอำนาจมากกว่าเสียงข้างมากเพราะว่าพรรคเล็กนิดเดียวสามารถที่จะ veto ความต้องการของเสียงข้างมากในการแก้รัฐธรรมนูญผมว่ามันไม่ถูกหลักประชาธิปไตย

อีกประเด็นก็คืออำนาจส.. ตามมาตรา 272 หลายคนบอกช่างมันเถอะเดี๋ยวอีกปีก็หมดสภาพแล้วมีบทเฉพาะกาลที่ใช้ได้แค่ 5 ปีแต่ผมคิดว่าแม้แต่วันเดียวก็ไม่ควรมีอำนาจนี้อยู่มันควรแก้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อดีเยอะมากในเนื้อหาสาระแต่มันขาดความเป็นประชาธิปไตยหลักๆก็เพราะประเด็นนี้อำนาจส.. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเลือกนายกรัฐมนตรี” 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป