กกต. รับข้อเสนอ We watch พร้อมยกระดับจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

26 กรกฎาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วีวอทช์ (We Watch) และเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้เดินทางมาพูดคุยและยื่นหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากการรวบรวมข้อค้นพบจากอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วประเทศในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อกกต. เพื่อเป็นแนวทางพัฒนากระบวนการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปให้มีประสิทธิภาพโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

โดยข้อเสนอเชิงนโยบายที่เสนอต่อกกต. แบ่งเป็น 6 ประเด็น ดังนี้ 

  1. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนสำหรับการใช้สิทธิของประชาชน
  2. การออกแบบบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การดูแลการเลือกตั้งล่วงหน้า
  4. การพัฒนาการจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ
  5. การแก้ปัญหาบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  6. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคม

กกต. ยึดมั่นความโปร่งใส ยืนยันเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ 

กฤต แสงสุรินทร์ ตัวแทนจากวีวอทช์ (We Watch) เกริ่นถึงวัตถุประสงค์ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ กล่าวว่า ตนเข้าใจหน้าที่ของกกต. แต่ทางประชาชนอาจยังไม่เข้าใจว่าขอบเขตความรับผิดชอบของสำนักงานกกต.มีมากแค่ไหน ในเรื่องของการสังเกตการณ์ก็ใช้ทรัพยากรเยอะ เราจึงต้องการเสนอแนะให้แก้ตั้งแต่ต้นตอคือกฎหมายเลือกตั้งด้วย ซึ่งจะแก้ยังไงก็อยากจะให้ตกผลึกจากการพูดคุยในวันนี้ 

เรื่องที่เราจัดทำเป็นข้อเสนอต่อกกต. ได้มาจากการถอดบทเรียนจากอาสาและองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ รวมถึงจากเวทีเครือข่ายภูมิภาค ซึ่งพอได้คุยกันแล้วก็สรุปแบ่งออกมาได้หกประเด็น โดยข้อเสนอที่มีอยู่มีทั้งต่อการทำงานและการปรับแก้วิธีการทำงานและการแก้ไขระเบียบหรือเพิ่มเติมระเบียบ รวมถึงแก้ไขกฎหมายซึ่งส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าสำนักงานกกต. ไม่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายได้เอง เราจึงอยากร่วมพูดขึ้นเพื่อนำข้อเสนอไปยื่นต่อสภาฯ

หลังจากที่มีการเกริ่นที่มาของการพูดคุยในวันนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงานกตต.) มีความตั้งใจเหมือนในประเด็นตามข้อเสนอที่ตนได้อ่านเบื้องต้นแล้ว และรับว่าเราพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอข้อติเตียน ทำงานอยู่ตรงนี้ก็มีความยาก ตัวสำนักงานฯ ความตั้งใจมีแต่เวลาไปทำงานมีหลายคนซึ่งเป็นคนข้างนอกไม่ใช่คนของสำนักงานกกต. จึงอยากให้ภาคประชาชนช่วยจับตาดูว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ อีกทั้ง ยืนยันว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วกกต.ก็ต้องทำตามกฎหมาย กติกาทางการเมืองต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เป็นกฎที่ผู้มีอำนาจทำเพื่อตนเอง และคนที่อยู่ตรงกลางแบบเรา (สำนักงานกกต.) มันต้องอยู่ภายใต้กติกา กฎเกณฑ์ทางการเมืองมันเป็นแบบนี้ จึงอยากให้ประชาชนรู้กฎเกณฑ์เท่ากันกับกกต. ถ้าประชาชนไม่รู้เท่าทันก็อาจโดนชักจูงได้ง่าย เมื่อประชาชนรู้เท่าทันแล้วก็จะทำให้โปร่งใส นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้กกต.ริเริ่มเข้ามาประสานกับทางเครือข่ายภาคประชาชนและมีการพูดคุยกันหลายรอบว่ากระบวนการควรเป็นอย่างไร โดยให้ยึดหลักความโปร่งใสและต้องดำเนินกระบวนการตามนั้น 

ส่วนการเลือกตั้งที่ผ่านมาตนมีความพึงพอใจที่มีการร่วมมือกันระหว่างกกต.และเครือข่ายภาคประชาชน แต่การทำงานหลายภาคส่วนก็มีความผิดปรากฎขึ้นได้บ้าง ระบบที่สร้างมานั้น บางส่วนเป็นปัญหาทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและต่อประชาชน ตนเคยมีโอกาสเข้าไปชี้แจงที่สภาฯ แล้วว่าอะไรเกี่ยวกับประชาชนควรทำให้ง่ายเข้าไว้ ซึ่งคือ กฎหมายพรรคการเมืองกับกฎหมายเลือกตั้ง ทางเครือข่ายภาคประชาชนก็คงเห็นแล้วว่ายุ่งยากจริงๆ แล้วเราจะร่วมทำงานอย่างไรเพื่อเดินต่อไป ในตอนนี้การเลือกตั้งจบไปแล้วแต่สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองพ้นวิสัยของสำนักงานไปแล้ว 

หลายคนคงแคลงใจกับทางสำนักงานกกต. ความต้องการเราคือทำยังไงให้การแข่งขันอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะเราถูกมองจากหลายฝั่ง อย่างน้อยสองฝั่งมีได้มีเสีย ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็ไม่ได้ สถานการณ์แบบนี้ตนมองว่าควรออกกฎหมายใหม่ให้เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนตัวไม่กังวลที่โดนด่าเพราะตนยึดมั่นในการทำตามกฎหมายและไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร บอกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสมอว่าทำถูกกฎหมายยังไงก็รอด แต่ถ้าเห็นว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ตรงส่วนนั้นไป เราอยากเห็นบ้านเมืองเดินต่อไปได้ก็ต้องหาทางออกร่วมกัน

ประมวลปัญหาจากอาสาสังเกตการณ์เลือกตั้งฯ  กกต.ยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์ข้อมูลและปัญหา Human Error ที่เกิดจากกปน. ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข 

อายุบ เจะนะ ตัวแทนเครือข่ายสังเกตการณ์ภาคใต้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่ายังมีคนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูล จึงเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การอธิบายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอและยังไม่กระจายทั่วทุกภูมิภาค เสนอว่าอยากให้เสริมภาษาท้องถิ่นในการอธิบายเพื่อให้คนได้เข้าถึงมากขึ้นและให้คนอีกส่วนหนึ่งเกิดความเข้าใจระบบการเลือกตั้งอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ที่ผ่านมาเห็นว่าปัญหาเรื่องบัตรที่มีความแตกต่างนั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจเลยต้องทำให้ละเอียด  

นนวัฒน์ เหล่าผา ตัวแทนเครือข่ายสังเกตการณ์กลุ่มผู้พิการ กล่าวว่า กลุ่มผู้พิการยังเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข้อมูล แม้เคยพูดคุยปัญหานี้กับทางกกต.แล้ว แต่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องของกระบวนการ นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งตนมองว่าการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ และผู้พิการที่มีจำนวนสองล้านเป็นจำนวนมหาศาลมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งแน่นอน คนกลุ่มนี้จึงสมควรที่จะได้รับข้อมูลและได้รับการช่วยเหลือให้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านี้   

ณัฐพล ศรีภูมิ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน  นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากมุมมองผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (New Voter) โดยเห็นว่า คนในรุ่นเดียวกันแทบไม่มีใครเข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูลจากสื่อประชาสัมพันธ์ของทางกกต.เลย จึงอยากเสนอว่าให้กกต.จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการประชาสัมพันธ์ โดยไปจ้างเอกชนที่เขามีความสามารถในการโฆษณามาช่วยเสริมกำลังให้ทางสำนักงานกกต.ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องบัตรเลือกตั้ง ยกตัวอย่างการเลือกตั้งในประเทศอินเดียขึ้นมาประกอบการอธิบาย โดยเสนอและถามต่อทางกกต.ว่า ให้เปลี่ยนการลงคะแนนเสียงโดยใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ เพราะเห็นว่ามีความรวดเร็วและการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมจะดีกว่า

ศุภกิจ จันทะพงษ์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนผู้ประสานงานภาคอีสาน นำเสนอปัญหาเรื่องการที่ประชาชนไปใช้สิทธิตรวจสอบแล้วแต่พอไปถึงหน้าหน่วยกลับไม่มีสิทธิ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ก็จะไม่เหมือนกันในแต่ละที่ ส่วนปัญหาอื่นๆ คือการจัดการในสถานที่ที่เป็นหน่วยเลือกตั้งเขตใหญ่ เช่น ขอนแก่น บรรยากาศยังแออัดอยู่บ้าง 

นวพร สวรรณรัตน์ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนผู้ประสานงานภาคเหนือ พบปัญหาว่ากรรมการประจำหน่วย (กปน.) เสียสิทธิเลือกตั้ง เพราะคำสั่งให้ปฏิบัติงานที่จะต้องส่งมานั้นมาถึงช้า พอจะไปใช้สิทธิล่วงหน้าก็ไปใช้ไม่ได้ โดยตนเห็นว่าปัญหานี้สืบเนื่องจากปัญหาด้านการประสานงานกันของเจ้าหน้าที่ 

ลลิตา เพ็ชรพวง ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน  พบปัญหาการระบุเขตผิด แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีการจัดการเขียนเลขผิดจะแก้ยังไง แม้ภายหลังจะแก้แล้ว แต่ส่วนที่ผิดก่อนหน้าไม่มีการแก้ไขอะไรเลย ซองที่ผิดกับซองที่แก้ก็ยังอยู่รวมกัน จึงเข้าใจว่าเสียงส่วนนั้นน่าจะตกไปเลย อีกทั้งไม่มีการชี้แจงอะไรต่อประชาชนในขณะนั้นจึงสร้างความกังวลใจอย่างมากให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 

อีกทั้ง การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง  ตนอยากเห็นความร่วมมือระหว่างอาสาสมัคร กรรมการประจำหน่วย (กปน.) ควรมีมุมมองที่สามารถแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกันได้ ไม่ระแวงกัน เพราะในความเป็นจริงปัญหาที่พบแยกเป็นสองประเด็น คือ หนึ่งส่วนที่เป็นอาสาสมัคร – เกิดเหตุการณ์ที่อาสาฯ เข้าไปทำหน้าที่จับตาการเลือกตั้งหรือช่วยเหลือกปน.แต่กลับกลายเป็นว่ากปน.ปฏิเสธความช่วยเหลือและไม่ยอมรับเอกสารจากกกต.ที่เป็นการยืนยันตัวตนแล้วว่าอาสาฯ มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการอบรมมาแล้ว ประเด็นที่สองคือ ส่วนที่เป็นประชาชน – ประชาชนส่วนหนึ่งโดนกปน.ใช้อำนาจเกินขอบเขต ปิดบังไม่ให้ประชาชนสังเกตการณ์ ซึ่งตนคิดว่าจริงๆ แล้วมันน่าจะมีผลมาจากการฝึกอบรม จึงอยากแนะนำว่านอกเหนือจากขั้นตอนกระบวนการการเลือกตั้งที่กปน.จะต้องมีความรู้แล้วนั้น กปน. ควรเข้าใจสิทธิและอำนาจของตนเองว่ากระทำอะไรได้บ้างและต้องเข้าใจสิทธิของประชาชนให้มากกว่านี้ด้วย 

นอกจากนี้ตัวแทนเครือข่ายสังเกตการณ์จากภาคประชาชนคนอื่นๆ ยังนำเสนอปัญหาพบเพิ่มเติมซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจของกปน. ในเรื่องผู้สังเกตการณ์ การคัดสรรผู้ที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นกปน. การใช้อำนาจที่มิชอบของกปน.และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง ไปจนถึง ปัญหาเรื่องรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตกหล่นหรือมีข้อขัดข้องจนทำให้ประชาชนกลุ่มนั้นต้องเสียสิทธิเลือกตั้ง 

ในประเด็นปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลการเลือกตั้ง  แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของสำนักงานกกต. โดยกล่าวว่า เราทำการประชาสัมพันธ์ไปเยอะมากแต่ไม่เข้าเป้า ตัวเนื้อหาเรามีแล้วแต่การเข้าถึงผู้คนยังไม่พอ คนดูของเรายังไม่มี และการกระจายสื่อต่างๆ ยังไม่เพียงพอจริง ๆ โดยทางสำนักงานกกต.ทราบดีและเห็นว่าเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งได้พยายามแต่ยังแก้ไม่ตก ด้วยความที่คนมีหลายกลุ่มจึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่าควรทำอย่างไรให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพ และตนเห็นด้วยกับผู้เสนอแนะในข้อเสนอต่างๆ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้รับข้อเสนอจากทางภาคประชาชนส่วนนี้ไปพัฒนาต่อ 

ประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง ชี้แจงว่า บัตรเลือกตั้งจัดทำเป็นไปตามกฎหมาย สำนักงานกกต.เคยเสนอให้ระบุหมายเลขพรรคกับผู้สมัครเขตเป็นหมายเลขเดียวกัน แต่ผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งมองคนละมุมกับกกต. ข้อเสนอนี้จึงตกไป แต่ก็เห็นได้ว่าครั้งนี้บัตรเสียน้อยลงแล้ว การแก้ปัญหานี้มันขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขกฎหมายได้มั้ย ส่วนเรื่องการลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาที่ยังกังวลคือความไม่ไว้ใจในตัวระบบ ยิ่งเทคโนโลยีดีบางทีคนยิ่งกลัว มันน่าคิดตรงที่ว่าเราจะไว้ใจเทคโนโลยีได้ไหม ถึงจะมีความรวดเร็วและมีบัตรเสียน้อยลงแต่ความถูกต้องของคะแนนเสียงที่ประมวลออกมายังเป็นสิ่งที่กังวล 

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดการการเลือกตั้งล่วงหน้า แสวง กล่าวว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งหน้าคือโจทย์ใหญ่ของสำนักงานกกต. นี่ยังเป็นปัญหาส่วนน้อยได้รับมา การบริหารจัดการงานกับจัดการสิทธิของประชาชน หลักคือการอำนวยความสะดวก คือต้องจัดสรรให้ประชาชนถ้าเขาอยากลงใช้สิทธิที่ไหนก็ต้องจัดที่นั่นให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ แต่ก็เป็นโจทย์ใหญ่ในครั้งต่อไปว่าจะอำนวยความสะดวกยังไง การจ่าหน้าซองยอมรับว่ามีความผิดพลาด แต่เรามีวิธีตรวจสอบว่าให้กปน.แก้ไขอยู่แล้วก่อนส่งไปรษณีย์ ขอให้สบายใจได้ว่าคะแนนไม่เสียสักคะแนนมีระบบตรวจเช็คตั้งแต่วันนั้นแล้วเพราะกปน.มีหน้าที่ต้องเติมให้แก้ไข ส่วนปัญหาการอบรมกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ซึ่งเป็นโจทย์ของเราอีกเหมือนกันที่ว่าจะหากปน.แบบไหนที่จะทำหน้าที่ได้ดี คือพูดมากไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของคนหลายคน ยืนยันว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหาด้านระบบจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีกแต่ปัญหาใหญ่ยังอยู่ที่การหากรรมการประจำหน่วย (กปน.)

สุดท้าย ในประเด็นปัญหาเรื่องข้อผิดพลาดในการทำงานของกรรมการประจำหน่วย (กปน.) แสวง ตอบเพิ่มเติมว่า กปน.มีขึ้นมาเพื่อเป็นคนกลาง ถ้าเกิดมีการถูกร้องเรียนแล้วครั้งต่อไปก็จะถอดออก แต่เรื่องถ่ายรูปได้หรือไม่ได้ กกต.สื่อสารและย้ำแล้วหลายครั้ง ตนจึงสงสัยเหมือนกันว่าผิดพลาดได้อย่างไร เพราะย้ำแล้วว่าการถ่ายรูปทำได้ ซึ่งในอนาคตก็รับว่าเราก็จะต้องทำให้ดีขึ้นอีกในครั้งนี้เราได้มีการนำเอาเอกสาร 5/18 ขึ้นบนเว็บไซต์ให้ตรวจสอบได้อีกเพื่อความโปร่งใส 

วีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสริมเพิ่มเติมว่า กรรมการประจำหน่วย (กปน.) คือ ชาวบ้านที่กกต.ไปขอความร่วมมือมา และเป็นประชาชนที่กกต.ฝึกเขามาเอง 4 ปีเลือกตั้งใหม่ก็จัดฝึกอบรมที กปน.จึงมีฐานะเป็นกรรมการประจำหน่วยชั่วคราวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นตำรวจซึ่งเขาก็พกปืนอยู่แล้วไม่ได้มีกฎหมายห้ามในส่วนนี้ด้วย ถ้ามองว่าขัดกับหลักสากล เราก็ต้องไปคุยกันเรื่องแก้กฎหมาย  


You May Also Like
อ่าน

ก่อนท้องฟ้าจะสดใส : กกต. กำลังทำให้ #สว67 เลือกด้วยระบบปิด ประชาชนเข้าไม่ถึง และเอื้อผู้มีอิทธิพล

กกต. ออกระเบียบห้ามผู้สมัครสว.67 แนะนำตัววิธีอื่นนอกจากเขียนกระดาษเอสี่สองหน้า ห้ามโพสข้อมูลออนไลน์ ซึ่งทำให้สื่อและประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ไม่ได้
อ่าน

ผู้เตรียมสมัคร #สว67 ยื่นฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครอง หลังระเบียบกกต. ไม่ชัดเจน แนะนำตัวไม่ได้

30 เมษายน 2567 ผู้เตรียมลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนระเบีย กกต. ที่จำกัดที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแนะนำตัว