เลือกตั้ง66: เช็คให้ชัวร์ เตรียมพร้อมไปเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.

14 พฤษภาคม 2566 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจะได้เลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่หน่วยเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและจะต้องไม่ใช่ผู้ที่เคยใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ถึงแม้ว่าในวันเลือกตั้งล่วงหน้าจะไม่ได้ไปใช้สิทธิก็ตาม

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. มีสัญชาติไทย หากแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง (หมายความรวมคนที่เกิดวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 หรือเกิดก่อนหน้านั้น)

3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

อีกทั้ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเลือกตั้งดังต่อไปนี้ คือ

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช
  • ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังต้องระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับการกระทำอื่นๆ ที่อาจจะเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยไม่รู้ตัว (ศึกษาข้อห้ามอื่นๆ เพิ่มเติมที่: https://www.ilaw.or.th/node/6495)

 

ขั้นตอนการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีดังนี้

เตรียมตัวก่อนไปถึงเขต/สถานที่เลือกตั้ง

1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเช็คสิทธิเลือกตั้ง สถานที่และหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทางใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

เช็คสิทธิ: https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/

2. อย่าลืมเช็คเบอร์พรรคการเมืองเพื่อเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง

เช็คเบอร์ ส.ส.: https://www.vote62.com/candidates

14 พ.ค. เตรียมพร้อมเมื่อไปถึงเขต/สถานที่เลือกตั้งแล้ว

1. ตรงไปที่หน้าหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ: สามารถเช็คที่บอร์ดหน้าหน่วยได้อีกครั้งว่ามีชื่อสกุลและลำดับที่ในบัญชีของตนเองอยู่หรือไม่ ก่อนเข้าแสดงตนกับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง

คูหาเปิด 08.00 – 17.00 น. หากแสดงตัวที่หน่วยเลือกตั้งตอน 17.00 น. ยังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้

2. แสดงตนกับเจ้าหน้าที่: แจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เช่น ใบขับขี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ (บัตรประชาชนหมดอายุก็ใช้ได้) เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและยืนยันตัวตนพบชื่อแล้ว ให้เราตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วจึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้มาใช้สิทธิจริง

3. รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่: หลังจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและยืนยันตัวตนทำการตรวจสอบเราเรียบร้อยก็จะส่งบัตรประชาชนของเรา ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ดูแลบัตรเลือกตั้งทั้งสองประเภท (บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเราไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองประเภทด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วฉีกบัตรออกจากต้นขั้วในบัตรที่เราจะนำไปเข้าคูหา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งมอบบัตรเลือกตั้งสองใบโดยจะต้องไม่มีต้นขั้วบัตรที่เซ็นชื่อเราและชื่อเจ้าหน้าที่ พร้อมบัตรประชาชนคืนมาให้เรา

ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้

4. เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ: ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น

ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้นแต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์

หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

ระวัง! ข้อห้าม ไม่ควรทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นจะกลายเป็น “บัตรเสีย” ไม่ถูกนับเป็นคะแนน

  • ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก
  • ใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันขึ้นไปในช่องเดียว
  • ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป
  • เขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง
  • ปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย
  • กาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย
  • กาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร

ระวัง! ห้ามทำพฤติกรรมเหล่านี้ เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษ

  • นำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง
  • ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว
  • ทำเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบัตรเลือกตั้ง
  • โชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วให้คนอื่นเพื่อให้ทราบว่าเลือกใคร

5. พับแล้วหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบด้วยตนเอง: หลังจากกากบาทบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยทั้งสองใบแล้ว พับบัตรให้เรียบร้อยก่อนนำไปหย่อนลงหีบด้วยตนเอง โดยหีบจะมีสองใบตามบัตรแต่ละประเภท หีบใส่บัตร ส.ส. แบบแบ่งเขตและหีบใส่บัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช็คหีบให้ถูกต้องตามประเภท แล้วจึงค่อยนำบัตรไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งให้ถูกต้อง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ