วาระการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังนั่งเก้าอี้นายรัฐมนตรีครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 กลายเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีแนวทางในการตัดสินอย่างไร หรือจะมี “อภินิหารทางกฎหมาย” เกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ได้วางหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกินแปดปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ เว้นแต่ระยะเวลาที่ทำหน้าที่รักษาการณ์เท่านั้น คำถามสำคัญคือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญควรจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งมีความเป็นไปได้สามแนวทางคือ หนึ่ง นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งในปี 2562 หรือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 สอง นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และสาม นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หลังการรัฐประหารในปี 2557 หรือ 24 สิงหาคม 2557
ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีหนังสือร่วมกันส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยหนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านระบุเหตุผลหกประการที่วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์จะต้องเริ่มในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะสิ้นสุดครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เหตุผลที่ 1 รัฐธรรมนูญระบุชัดประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557
ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ประยุทธ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ด้วยมาตรา 264 วรรคหนึ่งซึ่งระบุให้คณะรัฐมนตรีที่เคยปฏิบัติหน้าที่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 จึงได้ดำรงตำแหน่ง “ต่อเนื่อง” ต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ
หนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านยังระบุต่อไปว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประยุทธ์ก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ดังนั้น เมื่อรวมประกาศพระบรมราชโองการทั้งสองฉบับ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 และจะครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เหตุผลที่ 2 รธน. ห้ามเป็นนายกเกิน 8 ปี ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกตาม รธน. ฉบับนี้เท่านั้น
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสองระบุลักษณะต้องห้ามของนายกฯ ไว้ว่าให้เป็นไปตามมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลา ในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” หลักการนี้นับว่าเป็นสิ่งใหม่ในรัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างทึกทักกันเอาเองว่า “ปราบโกง” แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะมีการระบุข้อห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกินแปดปีเช่นเดียวกัน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เพิ่มเนื้อหาว่าการนับระยะเวลานั้นไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน การจำกัดระยะเวลาเช่นนี้พบในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง
พรรคร่วมฝ่ายค้านเน้นย้ำว่ามาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้คณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นใช้คำว่า “เป็น” คณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ “ทำหน้าที่เป็น” เหมือนกับที่ระบุไว้ในกรณีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในมาตรา 263 วรรคหนึ่ง อีกทั้งมาตรา 264 วรรคสอง ยังระบุให้ใช้ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และต้องพ้นตำแหน่งตามมาตรา 170 โดยไม่ได้ยกเว้นความตามวรรคสอง ซึ่งเชื่อมกับมาตรา 158 ที่ห้ามดำรงตำแหน่งเกินแปดปีเอาไว้ ดังนั้น การนับเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์จึงต้องเริ่มตั้งแต่เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งตามมาตรา 170 วรรคสองและ 158 วรรคสี่ กำหนดเวลาแปดปีจะต้องจบลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เหตุผลที่ 3 ศาล รธน. เคยวินิจฉัยในกรณีอื่นให้นับเวลาตั้งแต่ก่อน รธน. 60 ประกาศใช้
ข้อมูลที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาอ้างคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเพื่อมาตอบในสองประเด็น คือ การตีความว่ามาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นเดียวกัน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การบังคับใช้กฎหมายสามารถมีผลย้อนหลังได้หากไม่ใช่โทษทางอาญา
หนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีสมาชิกครอบครัวของดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหุ้นส่วนกิจการเอกชนซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา 187 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ในตอนหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาว่ามาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 สามารถนำไปใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่ ศาลเห็นว่าดอนซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 264 ด้วย โดยลักษณะต้องห้ามและเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสองนั้นไม่ได้ยกเว้นข้อห้ามการเป็นหุ้นส่วนในมาตรา 187 เอาไว้ จึงต้องนำมาตรานี้มาบังคับใช้กับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย
ด้วยมาตรฐานเดียวกันกับคำวินิจฉัยข้างต้น ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งจึงต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับห้ามดำรงตำแหน่งเกินแปดปีตามมาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ใส่ข้อยกเว้นในเรื่องของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งมาในมาตรา 264 วรรคสองนั้นเป็น “การบัญญัติอย่างตั้งใจและมีความสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายปกครองที่เป็นสากลแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ มีผลบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน”
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทำนองเดียวกันในคำวินิจฉัยที่ 7/2562 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องให้ศาลวินิจฉัยรัฐมนตรีสี่คนซึ่งมาจากการแต่งตั้งก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีผลบังคับใช้ว่านำมาตรา 186 ซึ่งห้ามรัฐมนตรีแทรกแซงหน่วยงานรัฐมาใช้ได้หรือไม่ โดยศาลเห็นว่ารัฐมนตรีทั้งสี่คนเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และสามารถนำมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 มาใช้ได้เนื่องจากมาตรา 264 วรรคสองไม่ได้ยกเว้นไว้ หนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านเน้นย้ำคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
“วันที่ใช้วินิจฉัยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐมนตรีให้นับวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่วันที่นับความเป็นรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นวันที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ”
สำหรับประเด็นว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่า “เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้” เพราะหลักการนี้เป็นหลักการลงโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามชัดแจ้ง และเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจและส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ สิ่งที่น่าสนใจคือการหยิบยกนำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 กรณีการยุบสามพรรคการเมืองซึ่งรวมถึงพรรคไทยรักไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญในคดีนั้นเห็นว่าประกาศของคณะรัฐประหารที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค แม้จะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่เนื่องจากไม่ใช่โทษทางอาญา จึงมีผลบังคับใช้ได้
เหตุผลที่ 4 ยกเจตนารมณ์กฎหมาย ความเห็น กรธ. ต้องนับรวมเวลาตั้งแต่ก่อน รธน. 60 ประกาศใช้
คำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านยังเรียกร้องให้ย้อนกลับไปตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยยืนยันว่าการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนั้นเป็นหลักที่ได้รับการยอมรับในทางสากล และถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการจำกัดอำนาจไม่ให้เกิดการใช้อย่างเกินเลย ข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นเป็น “หลักการที่มุ่งธำรงคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเป็นสำคัญ” คำอธิบายรายมาตราประกอบรัฐธรรมนูญยังได้ระบุไว้อีกว่า “การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้” การตีความจึงจำเป็นต้องเป็นไปเพื่อ “สร้างสมดุลที่เหมาะสมให้กับประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ มิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ”
นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ซึ่งคณะกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นและอธิบายเจตนารมย์ของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไว้ โดยในการประชุม มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ถามขึ้นว่าผู้ที่เป็นนายกฯ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้จะนับรวมเวลาเข้าไปด้วยหรือไม่ โดยสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่หนึ่ง ตอบว่าควรให้นับเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ “รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้มีกรรมาธิการฯ คนใดคัดค้านความเห็นของสุพจน์ จึงถือได้ว่าเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้นับเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เข้าไปด้วย ดังนั้น การนับเวลาของประยุทธ์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นจึงควรเริ่มต้นที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เหตุผลที่ 5 ป.ป.ช. เคยอ้างประยุทธ์ไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินเพราะไม่ได้เข้ารับตำแหน่งใหม่
ตามปกติแล้ว การยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีสองกรณี คือ ต้องยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง และยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเดิมภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน กฎหมายระบุว่าไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็ยังสามารถยื่นเพื่อเป็นหลักฐานได้
เมื่อประยุทธ์เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 ได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วครั้งหนึ่ง ต่อมา เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ประยุทธ์อ้างว่าตนเองได้ยื่นไปบัญชีทรัพย์สินไปเป็นหลักฐานแล้ว แต่ ปปช. กลับปฏิเสธที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายว่า ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งเดิม ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลใหม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่า การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์เป็นครั้งที่สองนี้เป็นเครื่องยืนยันแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจะครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เหตุผลที่ 6 ใคร ๆ ก็รู้ว่าประยุทธ์เป็นนายกตั้งแต่ปี 2557
พรรคร่วมฝ่ายค้านปิดด้วยการระบุถึงความรับรู้ทั่วไปว่านายกฯ เป็นตำแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ข้อเท็จจริงที่ว่าประยุทธ์ได้นั่งเก้าอี้นี้มาตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นสิ่งที่ประชาชนรับรู้เป็นการทั่วไป ที่ผ่านมา นโยบายหรือคำสั่งใด ๆ ก็ต่างต้องผ่านประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไม่ให้นายกฯ สามารถดำรงตำแหน่งได้รวมทั้งหมดเกินแปดปี การตีความและตัดสินจึงต้องสอดคล้องไม่ให้ขัดแย้งกับความรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน
RELATED POSTS
No related posts