นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ลุ้นตี้ได้รอลงอาญา
4 กรกฎาคม 2568 เวลา 9:00 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ที่สืบเนื่องจากปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 กลุ่มราษฎรฝั่งธนบุรีนัดชุมนุมกันที่วงเวียนใหญ่ ปราศรัยในหัวข้อ “การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” รวมทั้งการอุ้มหายของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมยืนยันสนับสนุนสามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร วันดังกล่าวตี้ปราศรัยกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ทรงมีอำนาจที่จะชี้นำกองทัพและมีส่วนในการเซ็นรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี และจัสตินปราศรัยในเรื่องเช่นเหตุการณ์การยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นของราชวงศ์ในปัจจุบันและการที่รัฐบังคับใช้มาตรา 112
นอกจากนี้ยังมีผู้ปราศรัยอีกสองคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมในวันดังกล่าวได้แก่ จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์และเพชร-ธนกร ขณะนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ทำให้คดีแบ่งเป็นสองคดีคือ คดีในศาลอาญาธนบุรีที่มีตี้และจัสตินเป็นจำเลยและคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัวที่มีเพชรเป็นจำเลย
ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ช่วงปลายปี 2566 จัสตินลี้ภัยทางการเมืองไปที่แคนาดาและไม่ได้อุทธรณ์คดีต่อ เหลือเพียงตี้ที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา
อุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา ระบุมาตรา 112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์

เวลา 8:45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 24 เสมียนทนายความและประชาชนต่างมารอให้กำลังใจ จากนั้นเวลา 9:24 น. ตี้เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีและศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 9:44 น. โดยสรุปดังนี้
คดีนี้โจทก์ฟ้องในความผิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ วันที่ 6 ธันวาคม 2563 จำเลยที่ 2 ปราศรัยกับประชาชนในที่ชุมนุม โดยมีข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัย 3 ประการดังนี้
1. คำว่า พระมหากษัตริย์ หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในปัจจุบันหรือไม่
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การกระทำต่อพระมหากษัตริย์มีผลต่อความมั่นคงราชอาณาจักร สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เคารพสักการะ ครองราชย์สืบต่อตามกฎมณเฑียรบาลและสายพระโลหิต ขณะที่มาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดต่อพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว
2. จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ให้การโดยไม่ได้ขัดแย้งกันประกอบด้วยเนื้อหาการปราศรัยในวันเกิดเหตุ โดยสรุปเกี่ยวข้องกับการจัดการงบประมาณที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน งบประมาณบางประเภทสามารถจัดสรรให้ได้ แต่งบประมาณเพื่อตอบสนองอุทกภัยกลับต้องเปิดรับบริจาค และพระมหากษัตริย์ในสถานะจอมทัพไทย เห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 ปราศรัย จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว [สมาชิกศปปส.] ได้รวบรวมข้อมูลเป็นหลักฐานหมายวจ. 1 และบันทึกถอดเทปการปราศรัยตามหมาย จ. 4
เมื่อพิจารณาเนื้อหาการปราศรัย “จอมทัพไทยคือวชิรา” คำว่า วชิราเป็นส่วนหนึ่งของพระนามรัชกาลที่ 10 พาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และระบุทำนองว่า มีการชักใยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและสั่งการให้ยิงประชาชน สั่งฆ่าผู้บริสุทธิ์ ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ในประการที่จะทำให้รัชกาลที่ 10 ถูกดูหมิ่น ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ให้ร้ายรัชกาลที่ 10 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว
3. สมควรพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดโทษสูงเกิน ไม่ได้สัดส่วน ส่วนนี้เห็นว่า มาตรา 112 ระวางโทษ 3-15 ปี การศาลชั้นต้นลงโทษ 4 ปี และลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ 2 ปี 8 เดือน เป็นมาตรการกำหนดโทษที่เหมาะสม พิจารณาข้อความตามคำฟ้อง นับว่า เป็นผลทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ พฤติการณ์ร้ายแรง การไม่รอการลงโทษถือว่า ชอบแล้ว
ทั้งนี้ระหว่างการอ่านคำพิพากษาในข้อ 2 ศาลอ่านคำปราศรัยของตี้โดยละเอียด ไม่มีการละคำที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ เวลา 9:55 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จบ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขอให้ตี้เก็บของส่วนตัวที่พกพามาในวันนี้ให้แก่ญาติและคุมตัวไปไว้ที่ใต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งประกันตัว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 15.20 น. ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ 450,000 บาท ซึ่งต้องวางเพิ่มเติมจากชั้นอุทธรณ์อีก 150,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล