“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” คือหนึ่งในสุภาษิตไทยที่สะท้อนถึงรูปแบบวิธีการสั่งสอนหรือลงโทษบุตรด้วยการตรีเพื่อให้หลาบจำหรือไม่กระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ดี กุมารแพทย์ก็อธิบายถึงวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกว่า ไม่ควรใช้วิธ๊การตีเด็กเพราะเท่ากับว่าพ่อแม่ไปบังคับให้เด็กต้องควบคุมตัวเอง ส่งผลให้สมองส่วนหน้าของเด็กของเด็กไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกควบคุมตัวเอง ขณะที่มิติของกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับครั้งแรกในปี 2487 และผ่านการชำระปรับปรุงในปี 2519 มาตรา 1567 (2) ให้สิทธิพ่อแม่ทำโทษบุตร “ตามสมควร” เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน โดยไม่มีหลักประกันว่าวิธีการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นการทารุณกรรม ส่งผลให้อำนาจหรือดุลยพินิจในการเลือกวิธีลงโทษอยู่ที่พ่อแม่ อย่างไรก็ดี มาตรา 1567 (2) ก็ถูกเสนอแก้ไขโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคก้าวไกล (ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค) และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสามไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เหลือกระบวนการพิจารณาชั้นวุฒิสภาพิจารณาต่อสามวาระ ในสมัยประชุมหน้าซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2567
กฎหมายแพ่งใช้ตั้งแต่ 2478 พ่อแม่ทำโทษบุตรได้ ไม่มีหลักประกันห้ามใช้วิธีรุนแรง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2478 กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างพ่อแม่และบุตร ให้บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กล่าวคือ บุตรที่ยังมีอายุไม่ถึง 20 ปีและไม่เคยจดทะเบียนสมรส ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่ โดยพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะผ่านการชำระครั้งใหญ่ในปี 2519 แต่บทบัญญัติมาตรา 1567 ที่กำหนดสิทธิพ่อแม่ในการปกครองลูกก็ยังคงเขียนไว้เหมือนเดิมเช่นเดียวกันปี 2478 ไม่ได้แก้ไขแม้แต่คำเดียว
ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ข้อ 2 2. กำหนดให้รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออกหรือความเชื่อของบิดา มารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือสมาชิกในครอบครัวของเด็ก ขณะที่กฎหมายภายในของประเทศไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) กำหนดอย่างกว้างๆ ให้พ่อแม่มีสิทธิลงโทษบุตรได้ “ตามสมควร” เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน โดยไม่มีหลักประกันว่าวิธีการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นการทารุณกรรม ส่งผลให้อำนาจหรือดุลยพินิจในการเลือกวิธีลงโทษอยู่ที่พ่อแม่ของเด็กเอง และแม้เด็กที่ถูกพ่อแม่ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจะสามารถพึ่งพากลไกกระบวนการยุติธรรมให้ศาลถอนอำนาจปกครองของพ่อแม่หากพ่อแม่ “ประพฤติชั่วร้าย” (มาตรา 1582) หรือดำเนินคดีอาญา เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ แต่กลไกดังกล่าวก็ไม่ได้เข้าถึงง่ายสำหรับเด็ก อีกทั้งการที่กฎหมายไม่ได้ระบุเงื่อนไขชัดเจน ก็เปิดช่องให้ศาลมีดุลยพินิจมองว่าการลงโทษบุตรของพ่อแม่นั้นเข้าข่ายเป็นการ “ประพฤติชั่วร้าย” หรือไม่ หรือเป็นเพียงการลงโทษ “ตามสมควร” ยังไม่เข้าข่ายประพฤติชั่วร้ายซึ่งจะเป็นเหตุให้ถอนอำนาจปกครองได้
ผ่านไป 88 ปีที่กฎหมายให้สิทธิพ่อแม่ลงโทษเด็กได้ “ตามสมควร” ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้พ่อแม่ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงต่อเด็ก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สส. พรรคก้าวไกล (ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค) เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อแก้ไข มาตรา 1567 (2) พ่อแม่ยังคงมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควรได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่า
ไร้เสียงค้าน สส. เสียงไม่แตกพร้อมใจโหวตผ่านร่างกฎหมายห้ามตีเด็กในวาระหนึ่ง
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก ที่ สส. พรรคก้าวไกลเสนอ แก้ไขมาตรา 1567 เพียงอนุมาตราเดียว คือ อนุมาตราสอง โดยระบุว่า
[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ](2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า
ผ่านไปเก้าเดือนนับแต่เสนอ ร่างกฎหมายห้ามตีเด็กเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 แต่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันนั้นเพราะประธานในที่ประชุมสั่งเลื่อนการพิจารณาออกไป จึงพิจารณาต่อในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 401 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย ไร้เสียงไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง กล่าวได้ว่า สส. ในสภา “เสียงไม่แตก” เห็นพ้องต้องกันที่จะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว
ในการพิจารณาวาระหนึ่ง เมื่อ 10 กรกฎาคม 2567 ภัสรินทร์ รามวงศ์ สส. พรรคประชาชน อภิปรายหลักการและเหตุผลในการแก้ไขกฎหมาย ใจความว่า จากผลการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบประสาทพัฒนาการของเด็ก รวมถึงกระบวนการสร้างคลื่นบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่เป็นสัญญาณของการถูกคุกคามและหวาดกลัว การทำโทษบ่อยครั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทในวัยรุ่น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า งานวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นตรงกันว่าการเฆี่ยนตีและทำร้ายเด็กไม่สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการได้อย่างสมควร และเด็กที่ถูกเลี้ยงมาในสภาพที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในครอบครัวมักจบลงด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าวเสมอ
จากรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ มีข้อกังวลหนึ่งที่คณะกรรมการสิทธิเด็กแสดงความกังวลต่อประเทศไทยมาโดยตลอด นั่นคือบทบัญญัติเรื่องการให้อำนาจของผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ประเทศสมาชิกหลายประเทศได้ให้ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย โดยไม่ให้ลงโทษเด็กทุกรูปแบบและทุกสถานที่ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยอมรับมาโดยตลอดว่าต้องแก้ไขปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม
“เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง พวกเขารอไม่ได้อีกแล้ว การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้การลงโทษ แต่สังคมต้องปรับวิธีคิดในการอบรมสั่งสอนลูก เราต้องสร้างนิสัยเชิงบวกให้ลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่อธิบายด้วยความรัก ความเข้าใจ และการอดทนอดกลั้น ขอให้มองว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือโอกาสที่พ่อ แม่ และลูก จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” ภัสรินทร์กล่าว
ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมายข้อนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) รอบที่ 2 (พ.ศ.2559 – 2563) รวมไปถึงการส่งเสริมพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรเชิงบวก
หลังจากสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว กระบวนการถัดมาคือการพิจารณารายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 128 วรรคสองระบุว่า การตั้งกมธ. วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ ต้องให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกมธ. ด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกมธ. วิสามัญทั้งหมด
หากดูรายชื่อของกมธ. พิจารณาร่างกฎหมายห้ามตีเด็กแล้ว พบว่ามีกมธ. “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น สส. และทำงานเกี่ยวกับเด็ก เช่น ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผศ.พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน”
สภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่างกฎหมายห้ามตีเด็กวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภา
กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก นัดประชุมเก้านัดตั้งแต่ 31 กรกฎาคม ถึง 16 ตุลาคม 2567 ในการพิจารณาชั้นกมธ. เสนอเปลี่ยนแปลงถ้อยคำว่า “หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า” โดยใช้คำว่า “กระทำโดยมิชอบ” แทนเพื่อให้ครอบคลุมถึงรูปแบบการลงโทษหลายประเภท เช่น การลงโทษด้วยวิธีด้อยค่า ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ดี นอกจากถ้อยคำข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่กมธ. เห็นต่างกัน คือ “การเฆี่ยนตี” โดยกมธ. ข้างมากเสนอให้ระบุว่า
[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ](2) ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำทารุณกรรมหรือกระทำด้วยความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือกระทำโดยมิชอบ
อย่างไรก็ดี กมธ. ข้างน้อย ณรงค์ศักดิ์ ทองสุข เห็นต่างออกไป เสนอให้ตัดคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ออกไป โดยระบุว่า
[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ](2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ชั้นสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. พรรคประชาชน หนึ่งในกมธ. อภิปรายว่า คำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ที่เป็นที่ถกเถียงกันนั้น กมธ.เสียงข้างมาก ยังคงเห็นว่าต้องมีถ้อยคำดังกล่าว เพราะต้องการเน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่า “การไม่เฆี่ยนตีเด็ก” จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการพัฒนาของเด็กในระยะยาวมากกว่า แต่แม้จะตัดคำว่า ”ไม่เป็นการเฆี่ยนตี“ ออกไป ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองสามารถเฆี่ยนตีเด็กได้ หากเฆี่ยนตีเด็กจนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นข้อเสนอทั้งข้อเสนอของกมธ. ข้างมาก และกมธ. ข้างน้อย จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระสำคัญ
ในการพิจารณาวาระสอง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นด้วยกับแนวทางของ กมธ.เสียงข้างน้อย 253 เสียง เห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก มีจำนวนทั้งสิ้น 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากนั้นจึงลงมติเห็นด้วยร่างในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 391 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง กระบวนการต่อไปคือการส่งร่างให้วุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระ โดยเนื้อหาร่างจะเป็นไปตามที่กมธ. ข้างน้อยเสนอ ซึ่งระบุว่า
[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ](2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม และจะเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ร่างกฎหมายห้ามตีเด็กจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในช่วงเปิดสมัยประชุมแล้ว
โดยกระบวนการพิจารณาชั้นวุฒิสภา จะพิจารณาสามวาระเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีจำนวนบทบัญญัติน้อยและแก้ไขกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เพียงอนุมาตราเดียวเท่านั้น วุฒิสภามี “ทางเลือก” ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายอย่างรวดเร็วได้โดยการตั้งกมธ. เต็มสภาในวาระสอง โดยต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คนและที่ประชุมอนุมัติ (ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 123) หากตั้งกมธ. เต็มสภาและพิจารณาแล้วเสร็จ ก็สามารถพิจารณาวาระสามต่อได้เลย กล่าวคือ หากใช้กมธ. เต็มสภา ก็จะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ “สามวาระรวด” มีโอกาสแล้วเสร็จในการประชุมนัดเดียว