ฉีดวัคซีน-ลดแออัด-หยุดเข้าไปเพิ่ม ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ป้องกันโควิดในเรือนจำ

หลังมีข้อมูลว่า ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำและได้ปล่อยตัวจากเรือนจำติดเชื้อโควิด19 จึงเป็นที่ทราบกันชัดเจนว่า “ในเรือนจำมีโควิด”

สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่แล้ว เนื่องจากปริมาณผู้ต้องขังนักโทษมีมากกว่าความสามารถที่เรือนจำจะรองรับได้ ทำให้อยู่กันอย่างแออัด นอนชิดกัน อาบน้ำร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน และใช้สอยพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน นอกจากนี้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลยังยากลำบากเนื่องจากเรือนจำขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนพื้นที่ที่จะใช้เพื่อ “กักตัว” ก็มีไม่เพียงพอ

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2564 เป็นครั้งแรกที่กรมราชทัณฑ์รายงานจำนวนผู้ต้องขังและนักโทษที่ติดเชื้อโควิด โดยมีผู้ติดเชื้ออยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 ราย อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 1,785 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 23% และ 55% ของจำนวนผู้ต้องขังและนักโทษทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่า วิกฤติมาก

วันพฤหัสที่ 13 พฤษภาคม 2564 อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า มีการยื่นขอวัคซีนให้ผู้ต้องขังทั้งหมดแล้ว ลำดับแรกคือ กลุ่มเรือนจำลาดยาวก่อน ลำดับที่สอง มอบให้ผู้บัญชาการเรือนจำประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดเพื่อนำวัคซีนไปฉีดให้ผู้ต้องขัง 

วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีศูนย์ตรวจชีวโมเลกุลอยู่ภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ศูนย์ดังกล่าวมีข้อจำกัด ตรวจได้วันละ 300 คน ฉะนั้นช่วงแรกตั้งแต่เมษายน 2564 จำนวนที่ถูกค้นพบเป็นจำนวนหลักสิบ หลักร้อยเท่านั้นเอง เมื่อได้รับรถตรวจพระราชทานประจำที่หน้าทัณฑสถาน ทำให้ช่วงสามวันที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงที่มีรายงานตัวเลขเป็นหลักพัน เมื่อทราบผลและกรอกข้อมูลในระบบจนเสร็จสิ้นจึงเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อออกมา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับปฏิบัติ แต่เป็นความยากลำบากที่ทุกฝ่ายต้องทำงานภายใต้ความกดดัน จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ที่เป็นปัญหาใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พร้อมกับภารกิจที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษให้มั่นคงไม่สามารถหลบหนีได้ แต่สภาวะนี้ทำให้ผู้ต้องขัง นักโทษ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเรือนจำทุกแห่ง ทุกคนตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างสูง และตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตหากไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้

ด้วยจำนวนผู้ต้องขังนักโทษท่ีมีรวมทั่วประเทศกว่า 300,000 คน หากเกิดการแพร่ระบาดท่ีไม่สามารถควบคุมได้ในเรือนจำโดยไม่มีมาตรการเพียงพอที่จะรับมือ ระบบสาธารณสุขของประเทศจะไม่สามารถรองรับได้ อาจกลายเป็น “หายนะ” ที่มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เจ้าหน้าที่และผู้ที่ถูกปล่อยตัวก็อาจนำเชื้อโควิด19 ออกมาสู่สังคมและทำให้การระบาดเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้

แม้เรือนจำอย่างน้อยสองแห่งจะเกิดการระบาดอย่างหนักขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่ผู้บริหาร “ระดับนโยบาย” จะต้องเห็นความสำคัญของการป้องกันโควิดในเรือนจำ เห็นคุณค่าของชีวิตคนที่อยู่ในเรือนจำ และมียุทธศาสตร์หรือมาตรการเร่งด่วนในระดับนโยบายทันที เราขอเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันโควิดในเรือนจำต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ปฏิบัติในทันที ดังนี้

1. จัดสรรงบประมาณและวัคซีนให้เรือนจำ

งบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการควบคุมโรคโควิด19 งบประมาณที่ได้จากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ รวมทั้งงบประมาณสำหรับสวัสดิการประชาชน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ต้องจัดสรรเป็นพิเศษสำหรับการบริการสุขภาพในเรือนจำ ในฐานะที่เป็น “กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง” เพราะสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ผู้ต้องขังและนักโทษ “ไม่มีทางเลือก” อื่นที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพได้ 

ต้องเพิ่มอัตรากำลังบุคลกรทางการแพทย์เป็นพิเศษให้กับเรือนจำทุกแห่งโดยทันทีเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงภาวะวิกฤติ และต้องจัดให้ผู้ต้องขัง นักโทษ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรือนจำ อยู่ใน “กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง” ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน และได้รับโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องได้รับวัคซีนก่อน

2. ลดจำนวนคน ลดความหนาแน่น

การลดความแออัดในเรือนจำสามารถทำได้ทันที โดย 

1) ให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวและกำหนดเงื่อนไขการเดินทางสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะหลบหนี และพิจารณาให้ประกันตัวโดยกำหนดหลักทรัพย์ต่ำ หรือไม่ต้องวางหลักทรัพย์สำหรับผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจน

2) ให้กรมราชทัฑณ์ออกมาตรการ “พักโทษ” สำหรับผู้ต้องขังที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตรายหากติดเชื้อโควิดโดยทันที โดยอาจใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์และกำหนดเงื่อนไขในการคุมประพฤติร่วมด้วย

3) ให้เรือนจำทุกแห่งพิจารณาการส่งตัวผู้ติดเชื้อโควิดออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำเป็นหลัก โดยให้โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามจัดสถานที่สำหรับการรักษาพยาบาลและควบคุมตัวผู้ที่มาจากเรือนจำโดยเฉพาะที่มีความมั่นคงปลอดภัย ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นช่วยงานกรมราชทัณฑ์เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยระหว่างการส่งตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษออกไปรักษานอกเรือนจำ และให้กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบเพื่อรับรองว่า กรณีผู้ติดเชื้อโควิดเป็นกรณีที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง จึงไม่จำเป็นต้องจัดเจ้าพนักงานเรือนจำสองคนควบคุมผู้ต้องขังป่วยหนึ่งคน ตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 4(1) 

ทั้งนี้ผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวกลับสู่สังคมจะต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการณ์เป็นเวลา 14 วัน โดยผู้ต้องขังหรือนักโทษที่มีญาติให้ทางเรือนจำประสานให้ญาติเป็นผู้ดูแลการกักตัว กรณีที่ไม่สามารถติดต่อญาติของผู้ต้องขังได้ ให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภูมิลำเนาของผู้ต้องขังเป็นผู้รับผิดชอบการกักตัวรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตระหว่างการกักตัว ในระบบเดียวกับ State Quarantine จะปฏิบัติต่อผู้รับการกักตัวเสมือนนักโทษมิได้

3. หยุดเอาคนเข้าไปเพิ่ม

ต้องหยุดการเอาคนเข้าไปเพิ่มในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรือนจำที่พบผู้ติดเชื้อแล้วต้องไม่เพิ่มจำนวนประชากรโดยเด็ดขาด เพราะการเอาคนเข้าไปเพิ่มเปรียบเสมือนกับส่งคนที่ยังมีสุขภาพดีไปติดเชื้อ หรือส่งคนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเข้าไปอยู่รวมกับคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว

หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ควบคุมตัวบุคคลใดควรจัดหาสถานที่อื่นในการควบคุมตัวเพื่อคัดกรองและกักตัวเป็นการชั่วคราว เช่น ค่ายทหาร หรือสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานราชการที่ภาวะปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นช่วยงานกรมราชทัณฑ์เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัย จนกว่าจะมั่นใจว่า เรือนจำในเขตพื้นที่ปลอดจากเชื้อโควิด และผู้ต้องขังหรือนักโทษแต่ละคนได้รับการคัดกรองและดูอาการจนแน่ใจแล้วว่าปลอดจากเชื้อโควิด จึงค่อยส่งตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้

ขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ ร่วมลงชื่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ