ปฏิทิน ‘อย่างเร็ว’ สู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ถูกคว่ำ

24-25 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐสภาประชุมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สอง และลงมติเพื่อชี้ขาดตามข้อเสนอแก้ไขจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่มีอยู่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ข้อสรุปที่ได้ คือ การแก้ไขมาตรา 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา ไม่ต้องใช้เสียงพิเศษของ ส.ว. และให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นใหม่มีสมาชิก 200 คนจากการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงเนื้อหา “หมวด1 หมวด2” 

เท่ากับเส้นทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเดินหน้าต่อไปโดยรัฐสภาชุดนี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีกลไกอีกมากที่อาจสะกัดกั้น หรือ “คว่ำ” ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้อีกหลายชั้น

1. ลงมติวาระสาม

ภายในกลางเดือนมีนาคม 2564 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (5) กำหนดว่า เมื่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สองแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนแล้วให้เริ่มพิจารณาวาระที่สาม

ดังนั้น การพิจารณาวาระที่สาม จะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 13 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเสาร์ และรัฐสภาวางกำหนดการประชุมร่วมกันแล้วเป็นวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 จึงคาดหมายได้ว่า ภายในกำหนดสองวันดังกล่าวน่าจะมีการลงมติวาระที่สาม

การลงมติในวาระที่สาม จะไม่มีการแก้ไขในรายละเอียดของข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก การลงมติของรัฐสภาที่จะผ่านในวาระที่สามได้ ต้องอาศัยเสี่ยงครึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. คือ อย่างน้อย 369 จากทั้งหมด 737 คน โดยต้องมีเสียง ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน และต้องมีเสียงของ ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรีและประธานสภา รวมกันร้อยละ 20 ถ้าหากได้เสียงของสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงตามหลักเกณฑ์นี้ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป

2. ทำประชามติโดยประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดว่า การแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำประชามติ

ซึ่งรายละเอียดของกระบวนการทำประชามติ เช่น ผู้มีสิทธิออกเสียง, การตั้งคำถาม, การนับคะแนน รวมทั้งการกำหนดวันออกเสียงประชามติ จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องตามมาภายหลัง ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกสักช่วงหนึ่งเพื่อออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดวันออกเสียง คาดหมายว่า การออกเสียงประชามติอาจมีขึ้นอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564

ถ้าหากไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป 

3. ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (7) กำหนดว่า เมื่อลงมติเห็นชอบแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

คาดหมายว่า การลงพระปรมาภิไธยอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 หรือต้นเดือน กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้

4. เลือกตั้ง สสร. 200 คน

ในระหว่างการทำประชามติ และขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะต้องมีการออกกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง สสร. เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, ขั้นตอนการสมัคร, เงื่อนไขในการหาเสียง, การนับคะแนน รวมทั้งการประกาศรับรองผล โดยองค์กรที่รับผิดชอบหลัก คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้าหากมีการเร่งรัดกระบวนการให้ดำเนินการโดยรวดเร็วและเริ่มกระบวนการยกร่างและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปก่อน ก็อาจประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ไม่นานนักหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้แล้ว คาดหมายว่า อาจประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเร็วในเดือนกรกฎาคม 2564 

และเมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง สสร. แล้วยังต้องเริ่มจากการประกาศรับสมัคร และกำหนดเวลาให้ผู้สมัครมาสมัครรับเลือกตั้ง และให้เวลาพอสมควรในการหาเสียงเลือกตั้ง จึงคาดหมายว่า อาจจัดการเลือกตั้ง สสร. ได้อย่างเร็วในเดือนกันยายน 2564

5. เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระสองแล้ว กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 240 วัน ถ้าหาก กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วและรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในเดือนกันยายน 2564 และ สสร. เข้าเริ่มทำงานทันที การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเริ่มเดินหน้าไป

คาดหมายว่า จะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ สสร. เป็นผู้เขียนขึ้นอย่างเร็วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565

อย่างไรก็ดี กระบวนการเหล่านี้ยังมีอุปสรรคสำคัญ เมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง รวมเสียงกับ ส.ว. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยตั้งประเด็นว่า รัฐสภาอาจจะไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ เพื่อมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับประเด็นที่ส่งมา ก็อาจทำให้ข้อเสนที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เป็นอันตกไป เหลือเพียงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เท่านั้น ที่จะได้ไปต่อ ซึ่งยังต้องทำประชามติอยู่

เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ว่า เมื่อรับคำร้องแต่ละเรื่องแล้วศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายในเวลาเท่าใด ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยช้ากว่าการลงมติวาระสามของรัฐสภา เมื่อลงมติเสร็จแล้วอาจจะต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้กำหนดเวลาการทำประชามติต้องเลื่อนออกไป และขั้นตอนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะต้องขยับตามออกไปทั้งหมดด้วย

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น