26 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มีกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “Freedom bridge” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรมุ่งทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือที่จำเป็นการนักโทษทางการเมืองและครอบครัว โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการรณรงค์เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ภายในงานมีการพูดคุยเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ วงพูดคุยในประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำและเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมือง สำหรับในช่วงแรกปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ “Freedom bridge” กล่าวอธิบายที่มาที่ไปของโครงการมีรายละเอียดดังนี้
“….การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นทำให้คนจำนวนมากทั้งนักกิจกรรมและประชาชนต้องถูกจับกุม นำมาสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มนักโทษทางการเมือง….อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนคือหนึ่งในประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง การเข้าเรือนจำของอานนท์ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ครอบครัวได้ทราบถึงปัญหาอาหารและน้ำดื่มในเรือนจำ จึงนำมาสู่การริเริ่มกองทุนชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในนามบัญชีอานนท์ นำภาที่มีครอบครัวของอานนท์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเปิดระดมทุนจัดซื้อน้ำ อาหารและของใช้ให้กับนักโทษทางการเมืองเพื่อหวังดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขาในระหว่างที่ต้องอยู่ในเรือนจำ ก่อนจะยุติการให้ความช่วยเหลือไปเมื่อประมาณปี 2565 เนื่องจากในเวลานั้นมีผู้ได้รับการประกันตัวเกือบหมดแล้ว
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงปี 2566 เรากลับได้เห็นสัญญาณที่น่ากังวลยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อยังมีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและประชาชนอย่างต่อเนื่อง วันที่ 26 กันยายน 2566 หรือวันนี้เมื่อปีที่แล้วศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกอานนท์ นำภาเป็นเวลาสี่ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยไม่รอลงอาญาและไม่อนุญาตให้ประกันตัวแม้คดียังไม่ถึงที่สุด เช่นเดียวกับเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องทยอยเดินเข้าเรือนจำอย่างต่อเนื่องจากการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จนถึงวันนี้มีผู้ถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมืองอย่างน้อย 52 คนและยังมีคดีความจากแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อทางการเมืองอีกมากมายที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของอัยการและศาล จึงเป็นที่มาที่ทำให้กองทุนชั่วคราวเพื่อการให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองที่ครอบครัวของอานนท์เป็นตัวกลางต้องกลับมาระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลืออีกครั้ง
จากประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือทำให้พบว่า การที่คนหนึ่งคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำไม่เพียงแต่ทำให้บุคคลผู้นั้นสูญเสียอิสรภาพและโอกาสในการใช้ชีวิตของตนเองเท่านั้นแต่ยังมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อครอบครัวของพวกเขาทั้งทางจิตใจและทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพวกเขาคือพ่อ แม่ ลูก หลาน ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวของตัวเอง หลายคนยังเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ความยากลำบากส่งผลมากยิ่งขึ้นในครอบครัวที่มีเด็กเล็กคนป่วยและคนสูงวัย ด้วยตระหนักถึงจำนวนนักโทษทางการเมืองที่แม้ขึ้นลงต่อเนื่องแต่ไม่มีแนวโน้มหมดไปและผลกระทบที่ครอบครัวของพวกเขาต้องแบกรับตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องมีการบันทึกเรื่องราวของนักโทษทางการเมืองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ เพื่อสื่อสารความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างตรงจุด
โครงการ Freedom bridge จึงถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 ในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไรมุ่งทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือที่จำเป็นการนักโทษทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขาและมีเป้าหมายระยะยาวในการรณรงค์เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ภารกิจของ Freedom bridge แบ่งออกเป็นสามด้าน
หนึ่ง การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยตรงแก่นักโทษทางการเมืองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อน้ำ อาหาร ของใช้จำเป็นหรือการฝากเงินรายเดือนให้กับผู้ต้องขังเพื่อเป็นการรับประกันว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างที่ยังต้องสู้คดีอยู่ในเรือนจำ และเป็นการสื่อสารความห่วงใยจากคนข้างนอกไปยังผู้ต้องขังทางการเมืองผ่านการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ยังมีภารกิจมอบความช่วยเหลือเช่น เงินค่าเทอมบุตร การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอื่นๆที่จำเป็นเพื่อหวังแบ่งเบาภาระที่ครอบครัวของผู้ต้องขังทางการเมืองต้องเผชิญจากการขาดเสาหลัก การให้ความช่วยเหลือของโครงการ Freedom bridge จะมีการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ และจัดทำรายงานการส่งมอบความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบและโปร่งใสเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ในการระดมทุนจากประชาชนเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือแก่นักโทษทางการเมืองและครอบครัว เราจะดำเนินการในนามบัญชีมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรมโดยเปลี่ยนแปลงจากกองทุนให้ความช่วยเหลือชั่วคราวในนามบัญชีอานนท์ นำภาที่ทำหน้าที่ระดมทุนมอบความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีครอบครัวของอานนท์เป็นตัวกลาง เพื่อให้กลไกการระดมทุนและการส่งมอบความช่วยเหลือแก่นักโทษทางการเมืองและครอบครัวเป็นไปอย่างมีระบบครอบคลุมและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
การทำงานให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ต้องขังและครอบครัวนอกจากเพื่อรับประกันว่าผู้ต้องขังทางการเมืองจะเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเช่น น้ำสะอาด อาหารที่มีคุณภาพและเงินค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการประคับประคองกำลังใจของพวกเขาระหว่างที่ต่อสู้คดีอยู่ในเรือนจำรวมถึงบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ครอบครัวของพวกเขา ภารกิจให้ความช่วยเหลือของเรายังมุ่งหวังรณรงค์ให้มีการปรับปรุงระบบดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำและย้ำเตือนสังคมไทยว่ายังมีผู้คนอีกมากมายต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ต่อสู้กับคดีความที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต่อสู้กับชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยากลำบากหลังกำแพงเรือนจำ และเส้นทางการต่อสู้เพื่อบรรลุหลักสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยนั้นยังไม่สิ้นสุด
สอง การบันทึกข้อมูลนักโทษทางการเมืองในปัจจุบันและมิติต่างๆ ทั้งเรื่องราวคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวของเขาเพื่อสื่อสารไปยังสังคมวงกว้าง ความหมายของการจัดทำบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของรายงาน บทความ บทสัมภาษณ์ สถิติข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ freedombridge.network และช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นไปเพื่อสื่อสารถึงความต้องการของผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวเพื่อให้การจัดหาความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างตรงจุด อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ผลักดันการรับรู้และการสร้างความเข้าใจในประเด็นนักโทษการเมือง ทั้งในแง่นิยามการดำรงอยู่และสิทธิของผู้ต้องขัง เราเชื่อว่า การเข้าใจความหมายสถานการณ์ของนักโทษทางการเมืองและการตระหนักถึงสิทธิของผู้ต้องขังจะเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้คนที่อยู่หลังกำแพงเข้ากับผู้คนภายนอกโดยหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการรณรงค์ผลักดันทั้งเรื่องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังและการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานระยะยาวของ Freedom bridge
และสาม การทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรทำให้ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค นานาชาติเพื่อผลักดันการยุติการคุมขังทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย
ภารกิจทั้งสามด้านของโครงการสะท้อนถึงการทำงานเพื่อตั้งใจผลักดันเป้าหมายระยะยาวนั่นคือการผลักดันเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ยุติการคุมขังทางการเมืองตลอดจนส่งเสริมฟื้นฟูหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทย ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญในการทำงานให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นตัวของนักโทษทางการเมืองเองหรือครอบครัวของพวกเขาจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายระยะยาวดังกล่าว แม้การมีอยู่ของโครงการให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเช่น Freedom bridge คือตัวบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังคงมีปัญหา ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการได้เห็นประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมืองหรือนักโทษทางความคิด แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นยังคงมีคนจำนวนมาก จับกุม ถูกดำเนินคดี พร้อมการแสดงออก ทางความเห็นและความเชื่อทางการเมืองของพวกเขายังมีอีกหลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักถูกคุมขัง
จนกว่าจะถึงวันนั้นวันที่ไม่มีนักโทษทางการเมือง การดูแลคุณภาพชีวิต การสนับสนุนพวกเขาและครอบครัวให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและเลวร้าย คือสิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำได้และจำเป็นต้องทำ โปรดอย่าคิดว่าเราเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจจึงไม่สามารถทำอะไรกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ Freedom bridge อยากย้ำเตือนว่าคนธรรมดามีหนทางให้ต่อสู้ได้เสมอหากเราพยายามมองหา การร่วมกันดูแลผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นอีกหนึ่งหนทางต่อสู้เพื่อรับหลักการทางสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม เราอยากเชิญชวนทุกท่านที่ยังมีกำลังร่วมต่อสู้ไปกับเราด้วยความรักความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม มาช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตฟื้นฟูกำลังใจพร้อมทั้งร่วมบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขา”
ชวนดูเว็บไซต์ Freedom bridge และเป็นส่วนหนึ่งกับการเคลื่อนไหวได้ด้วยการบริจาคเงินได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขบัญชี 800-9-71446-2 ชื่อบัญชี มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม สาขา ถนนพหลโยธิน 26 (ตึกช้าง)