สว.67 ระดับประเทศ : “กลุ่มชาวนา ปลูกพืชล้มลุก” อาชีพทำนามาเกินครึ่ง โปรไฟล์สมาชิกสภาเกษตรฯ มากสุด

ตรวจสอบข้อมูลผู้สมัคร สว. 67 กลุ่ม 5 “กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก” ผ่านเอกสาร สว.3 ซึ่งเป็นเอกสารพื้นฐานที่มีไว้ให้ผู้สมัครทำความรู้กันว่า ใครเป็นใคร มาจากไหน เพื่อให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ได้มีข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจลงคะแนน รวมทั้งเป็นเอกสารสำคัญให้ประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าผู้สมัครในแต่ละกลุ่มนั้นมีประวัติและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพนั้นๆ หรือไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลผู้สมัคร สว. ผ่านเอกสาร สว.3 ของผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพทำนาฯ ทั้งหมด 152 คน พบว่าข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

Web

อาชีพ “ทำนาข้าว” มีผู้สมัครเกินครึ่งของกลุ่ม

การแบ่งกลุ่มอาชีพ สว. ในกลุ่ม 5 สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มอาชีพทำนา และกลุ่มอาชีพปลูกพืชล้มลุก โดยในประกาศ กกต. ขยายความเพิ่มเติมกลุ่มอาชีพนี้อีกว่า เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชล้มลุกหรือธัญพืชอันเป็นจะเก็บเกี่ยวได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี อย่างไรก็ตามในรอบการเลือกระดับประเทศมีผู้สมัคร สว.ที่มีอาชีพทำนาข้าวเข้ารอบมามากที่สุด โดยมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่ง 80 คน ของผู้เข้ารอบระดับประเทศทั้งหมด อาชีพที่มีผู้เข้ารอบรองลงมา คือ กลุ่มที่ปลูกพืชล้มลุก สวนผัก สวนดอกไม้ สวนกล้วย ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด รวมกัน 37 คน ขณะเดียวกันยังมีผู้สมัครบางส่วนที่ระบุอาชีพตัวเองกว้างๆ ว่าเป็น “เกษตรกร” 20 คน โดยไม่ได้ลงรายละเอียดว่ามีประสบการณ์ทำงานประเภทใดในกลุ่มนี้ ทั้งนี้มี 1 คน ที่ระบุอาชีพว่า รับจ้าง โดยไม่มีรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่รับสมัครอย่างไร

สำหรับอาชีพในกลุ่ม 5 สามารถแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

–        ทำนาข้าว 80 คน

–        ปลูกพืชล้มลุก/ผัก/ดอกไม้ 22 คน

–        ปลูกอ้อย/มันสำปะหลัง/ข้าวโพด/กล้วย 15 คน

–        ข้าราชการ/พนักงานรัฐ 8 คน

–        โรงสี/เอกชนอื่นๆ 5คน

–        ทำนาเกลือ 1คน

–        รับจ้าง 1 คน

–        เกษตรกรอื่นๆ 20 คน

บริษัทเอกชน/โรงสี ลงสมัครน้อย ประธานโรงงานไฟฟ้าลงสมัครด้วย

สำหรับอาชีพ ผู้ประกอบการ บริษัทเอกชนต่างๆ ที่เกื่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก นับว่ามีสัดส่วนการเข้ารอบที่น้อยมาก คือมีจำนวนเพียงห้าคน เท่านั้น โดยมีบุคคลที่น่าสนใจสองคน คือ คนแรก เฉลิม บุญประเชิญ ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ CP โดยระบุในประวัติตัวเองว่า มีประสบการณ์การปลูกและส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าว ข้าวบริโภค ข้าวอุตสาหกรรม ข้าวโพด ถั่วเหลือง และคนที่สอง ชูเกียรติ เลิศศุภานนท์ ผู้จัดการบริษัทเกษตรรุ่งเรือง มีบทบาทส่งเสริมการปลูก แปรรูป ทำตลาด ขายผลิตผลจากข้าวและพืชล้มลุกนอกจากนี้ยังเป็นประธานโรงไฟฟ้าบริษัทไทยเพาเวอร์ซัพพลายและกรรมการเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่นำเอาชีวมวลจากข้าวและพืชล้มลุกมาผลิตไฟฟ้าด้วย

ในกลุ่มยังมีผู้สมัครอีกสามคน โดยสองคนเป็นเจ้าของโรงสีและอีกหนึ่งคนเป็นผู้ประกอบการทั่วไปทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพนี้

กลุ่มการเมืองไม่ชัด มีแค่อดีต สปช. และผู้ช่วย สส.

ในแง่ความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง ผู้สมัครในกลุ่ม 5 ส่วนใหญ่ไม่ระบุภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ชัดเจน โดยจากผู้เข้ารอบระดับประเทศ 152 คน มีเพียงสองคนที่กล่าวถึง คือ ชูชาติ อินสว่าง อดีตผู้จัดการสหกรณ์เกษตร อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ที่ระบุว่า ตัวเองเคยได้รับการแต่งตั้งในสมัย คสช. เป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  อีกหนึ่งคือ พิเนตร์ ศาลากิจ ที่ระบุว่า ทำนามากว่า 10 ปี และอดีตในช่วงปี 2535 เคยเป็น ผู้ช่วย สส. และกรรมการพรรคเสรีธรรม ส่วนผู้สมัครที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอื่นมีอีก 12 คน โดยเคยเป็นอดีตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

อดีตข้าราชการกระทรวงเกษตร ครูสอนเกษตร ร่วมสมัครกลุ่มชาวนา

อาชีพข้าราชการหรือพนักงานรัฐเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ลงสมัครในกลุ่มอาชีพชาวนาและพืชล้มลุม โดยผู้สมัครในอาชีพนี้มีจำนวนแปดคนที่ระบุความเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพที่สมัครโดยใช้อาชีพข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มข้าราชการที่ทำงานกับกระทรวงเกษตรฯ จำนวนสี่คน และเป็นประกอบอาชีพเกี่ยวกับการศึกษา เช่น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูที่สอนเกี่ยวกับการเกษตร จำนวนสี่คน

นอกจากนี้ยังกลุ่มข้าราชการอีกจำนวนห้าคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพที่สมัคร แต่ระบุว่าในประวัติว่า ได้ประกอบอาชีพทำนาร่วมกับอาชีพข้าราชการด้วยทำให้สามารถสมัครในกลุ่มนี้ได้ เช่น มนัส ไหวพริบ อดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระแก้ว

“สภาเกษตร” “กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่” “ศพก.” โปรไฟล์ยอดฮิตของกลุ่มชาวนาและพืชล้มลุก 

จากการตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มอาชีพชาวนาและพืชล้มลุก พบว่า ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศของกลุ่มจำนวนนี้ไม่น้อยเขียนคุณสมบัติสั้นๆ ไม่มีรายละเอียดประวัติผลงาน แนวคิด หรือวิสัยทัศน์ใดๆ ที่จะทำให้ผู้สมัครคนอื่นใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกได้ ขณะเดียวกันก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวนา ชาวสวน ที่อธิบายที่มาที่ไปของอาชีพตัวเองและความต้องการเข้าไปเป็น สว. และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทหรือตำแหน่งในการเป็นผู้นำกลุ่มในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ โดยโปรไฟล์ซึ่งเป็นที่นิยมในการเขียนมีดังต่อไปนี้

–        สภาเกษตรกรฯ จำนวน 10 คน

–        กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 8 คน 

–        ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 คน 

–        สหกรณ์การเกษตรฯ จำนวน 4 คน

–        กลุ่ม Young Smart Farmer จำนวน 2 คน 

–        หมอดินอาสา จำนวน 2 คน

–        องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ จำนวน (อกท.) 2 คน

–        สมาคม/สหกรณ์ชาวไร่อ้อย จำนวน 3 คน

–        สมาคมชาวนาไทย 2 คน

ทั้งนี้มีผู้สมัครบางคนใส่โปรไฟล์ข้างต้นมากกว่า 1 กลุ่ม เช่น บางคนบางคนเป็นประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสภาเกษตรฯ ประจำจังหวัดของตัวเอง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ