สรุปราชทัณฑ์แถลงกรณี “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในคดี ม.112 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.00 น. กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ก่อนหน้าการเสียชีวิตวันที่ 26 มกราคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุกบุ้งในคดีละเมิดอำนาจศาลหนึ่งเดือนและสั่งถอนสัญญาประกันในคดีมาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566

หลังเข้าเรือนจำวันถัดมา (วันที่ 27 มกราคม 2567) บุ้งประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง รวมแล้วอดอาหาร 109 วัน ทั้งนี้บุ้งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสองคดี โดยยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำตัดสินถึงที่สุด  ภาพรวมการแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนถึงจำนวนวันที่บุ้งสามารถทานอาหาร ลักษณะอาหารที่บุ้งทาน บอกปริมาณได้เพียงมากน้อย ปฏิเสธการตอบคำถามเรื่องภาวะร่างกายไม่สมดุลจากการขาดสารอาหารที่ทำให้เกิดอาการช็อคระบุให้รอผลการชันสูตร ลำดับเหตุการณ์เช้าก่อนเสียชีวิตยังไม่ชัดเจน ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ยังตอบไม่ตรงกัน ดังนี้

นพ. สมภพ สังคุดแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า “กรณีการเสียชีวิตของน.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม น้องบุ้ง ทางรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรมโดยท่านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้ด้วย ทางกรมราชทัณฑ์ขอชี้แจงในเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของน.ส.เนติพรดังนี้ กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวน.ส.เนติพรมาควบคุมตัวไว้ณ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งขณะนั้นน.ส.เนติพรได้อดอาหารอยู่แล้ว ทางทัณฑสถานหญิงกลางเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการอ่อนเพลียจากภาวะการอดอาหารก็ได้ส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่เป็นประจำ

ต่อมาระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ถึง 8 มีนาคม 2567 ก็ได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นเวลาแปดวัน จากอาการอ่อนเพลีย และในวันที่ 8 มีนาคมถึง 4 เมษายน 2567 ได้มีการย้ายไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นเวลา 21 วัน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มีหนังสือส่งตัวน.ส.เนติพร กลับมารักษาตัวเนื่องจากเห็นว่า สามารถรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ ภายหลังจากที่น.ส.เนติพรได้กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็ได้รับรายงานว่า น.ส.เนติพรได้กลับมารับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้จัดให้เข้าพักในห้องผู้ป่วยรวม ซึ่งมีน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย แพทย์พยาบาลได้เฝ้าระวังและตรวจอาการของน.ส.เนติพรอยู่ตลอดเวลานะครับ พบว่ารู้สึกตัวดี ไม่มีอาการสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 

จนกระทั่งในวันเกิดเหตุคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 06:00 น.ส.เนติพรและน.ส.ทานตะวัน ขณะกำลังพูดคุยกันตามปกติในห้องผู้ป่วย น.ส.เนติพรเกิดอาการวูบและหมดสติไป ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั้งแพทย์และพยาบาลก็ได้ให้การช่วยเหลือและดำเนินการกระตุ้นหัวใจโดยทันทีแล้วก็ได้ประสานส่งตัวน.ส.เนติพรไปเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมีข่าวการเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขอเรียนว่า กระทรวงยุติธรรมโดยกรมราชทัณฑ์และให้ความเคารพและให้ความสำคัญในหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม มีการเฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของน.ส.เนติพรอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเพื่อความโปร่งใส กระทรวงยุติธรรมได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตนั้น เมื่อผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว กรมราชทัณฑ์จะได้ชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป 

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องกรณีที่กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯและทานอาหารได้มีลักษณะอาการอย่างไร  ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตอบว่า มีการบันทึกรายละเอียดไว้แต่ไม่ได้ระบุชัดเจน พร้อมทั้งระบุอาการว่า มีอาการอ่อนเพลีย ทานอาหารได้ตามลำดับ อย่างน้อยคือทานข้าวต้ม ไข่เจียวและรายละเอียดจะต้องทำการตรวจสอบก่อน ผู้สื่อข่าวถามจำนวนวันที่ทานอาหาร ผู้อำนวยการฯตอบว่า “ค่อยๆเริ่มทานขึ้นเรื่อย ๆ” ผู้สื่อข่าวถามย้ำวันที่เริ่มทานอาหารและจำนวนวันที่ทาน ผู้อำนวยการฯตอบว่า “เริ่มกลับมาทานตามลำดับเพราะขึ้นอยู่กับว่า น้องเขาทานแล้วแน่นท้องหรือเปล่า เขาอืดท้องหรือเปล่า” ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการที่แพทย์วินิจฉัยและจำนวนวันอีกครั้ง เขาตอบว่า “ตรงนี้รายละเอียด เดี๋ยวคงต้องขอไปดูรายละเอียดข้อมูลว่าเริ่มทาน…คือผมไม่ได้เจาะจงรายละเอียดทุกวันว่าวันไหนทางอะไรมาบ้างแต่ว่าเท่าที่ดูจากข้อมูลทุกวันที่เขารายงานก็จะมีทานอยู่เป็นระยะ แต่ถ้าช่วงไหนที่น้องเขารู้สึกว่าเขาทานแล้วเขารู้สึกอาจจะมีแน่นท้องหรือว่าคลื่นไส้นิดหน่อยเขาอาจจะ[ทาน]น้อยลงไป”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทานได้ครบสามมื้อไหม ผู้อำนวยการตอบว่า อันนี้ต้องดูรายละเอียด ผู้สื่อข่าวถามโดยอ้างถึงคำแถลงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ว่า “ทานอาหารและน้ำตามปกติ” จึงอยากให้อธิบายประโยคดังกล่าว นพ.สมภพตอบว่า ลักษณะของคนที่อดอาหารมาระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระเพราะอาหารหรือการทำงานของระบบทางเดินอาหารจะต้องมีการค่อยๆที่จะรับประทานอาหาร อาจจะเป็นอาหารอ่อนก่อน การที่รับอาหาร บางมื้ออาจจะทานได้น้อย แต่โรงพยาบาลจัดอาหารสามมื้อ ทานมากหรือน้อยจะมีการบันทึกไว้ การตรวจเลือดพบว่า มีภาวะโลหิตจางก็มีวิตามินบำรุงเลือดเสริมเข้าไปแต่พบว่า นส.เนติพรปฏิเสธที่จะไม่ทาน ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากปฏิเสธแพทย์มีการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำหรือไม่ นพ.สมภพบอกว่า ตามปกติ “ถ้าสามารถรับประทานอาหารได้และเรามีการตรวจสภาพร่างกายโดยทั่วๆไป…ถ้าเกิดสามารถรับประทานอาหารเองได้ก็จะให้ทางนั้น ส่วนในการให้อาหารทางน้ำทางหลอดเลือด ปกติเราจะให้ในภาวะซึ่งเสียน้ำอย่างรุนแรง ท้องเสียหรือคนที่อยู่ในภาวะของสารน้ำที่ไม่พอเพราะว่าสารน้ำที่เราให้ทางเลือดคือ น้ำเกลือไม่ได้มีสารอาหารโปรตีนหรืออะไรต่างๆที่อยู่ในนั้น” 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการประเมินอาการหลังเหตุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ระบุว่า ในเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ ทางผลชันสูตรจะได้ผลที่ชัดเจนมากขึ้น ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การที่บุ้งไม่รับสารอาหารทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของร่างกายทำให้เกิดอาการช็อคหรือไม่ ผู้อำนวยการฯ ตอบว่า อันนี้รอให้เป็นผลชันสูตรดีกว่า ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบมาก่อนหรือไม่ว่า บุ้งขาดสารอาหารและมีการให้สารบำรุงร่างกายหรือไม่ ผู้อำนวยการฯตอบว่า บุ้งปฏิเสธสารบำรุงร่างกาย 

นพ.สมภพอธิบายเพิ่มว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์ “น้องก็ปกติดีทุกอย่าง จนก่อนที่จะเกิดเหตุเมื่อเช้าเมื่อวาน น้องมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์พยาบาลประเมินสภาวะของของน้องเขาตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในระหว่างที่อยู่ในธรรมศาสตร์ได้รับรายงานจากทางนู้นเหมือนกันว่า บางมื้อน้องก็ปฏิเสธที่จะรับยาบำรุงร่างกายไม่ว่าจะเป็นสารอาหารที่ที่มีความจำเป็นพวกวิตามินพวกอะไรอย่างนี้ ซึ่งมาทางโรงพยาบาล แม้กระทั่งเราจัดยาบำรุงเลือดให้อยู่ในเราพบว่ามีภาวะโลหิตจางด้วยน้องปฏิเสธอีกแต่ว่าไอ้เรื่องอาหารการกินก็คือในสภาวะของคนที่พอทานได้ก็เหมือนกับคนไข้ทั่วไปที่เราก็จะเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นซึ่งน้องก็ไม่ไม่น่าที่จะเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ขึ้นมาเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดตอนเช้าก็ยังมีการคุยกับน้องตะวันรีบตามปกติ ก็มีแค่บ่นว่าปวดหัว”

ผู้สื่อข่าวยังคงถามย้ำถึงไทม์ไลน์เหตุการณ์ ผู้อำนวยการฯ อธิบายเหตุการณ์เพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาประมาณ 6.10-6.20 น. มีเจ้าหน้าที่เข้าไปวัดความดันบุ้ง โดยบุ้งยกแขนให้วัดความดันปกติพูดคุยกับคนที่วัดความดัน หลังจากนั้นประมาณหนึ่งและสองนาทีบุ้งกระตุกขึ้นมา เวลาดังกล่าวตะวันกำลังหลับอยู่ผู้ที่วัดความดันและเห็นอาการคือผู้ช่วยที่อยู่ในห้องพัก ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ช่วยคือพยาบาลหรือผู้ต้องขังด้วยกันเอง นพ.สมภพระบุว่า ผู้ช่วยคืออาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการอบรมผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ตะวันหลับหรือไม่ นพ.สมภพบอกว่า ไม่ๆ เพราะว่าวัดความดันด้วยกันทั้งคู่ ผู้สื่อข่าวขอให้อธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน นพ.สมภพบอกว่า ในเหตุการณ์ดังกล่าวใครคนใดคนหนึ่งเข้าห้องน้ำ ตะวันน่าจะเข้าห้องน้ำและบุ้งอาจจะนอนที่เตียง จากนั้นกลับมาผู้ช่วยตรวจวัดความดัน พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกล้องวงจรปิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขอให้นพ.สมภพและผู้อำนวยฯพูดให้ตรงกันได้หรือไม่ ผู้อำนวยการฯบอกว่า จากการพูดคุยกับตะวัน มีคนใดคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งเข้าใจว่า เป็นตะวันไปเข้าห้องน้ำและสนทนากันปกติ จากนั้นจึงตรวจเช็คความดันแต่เวลายังไม่ชัดเจน ผู้สื่อข่าวถามถึงห้องที่ทำ CPR ผู้อำนวยการฯบอกว่า ห้องมาตรฐานที่ใช้ทำ ผู้สื่อข่าวถามว่า “ห้องมาตรฐาน”คือที่ไหน เป็นห้องพักผู้ป่วย หรือห้องพยาบาลอื่นๆที่ต้องนำตัวไปจากห้องพักผู้ป่วย ผู้อำนวยการฯบอกว่า รายละเอียดต้องไปดูจากกล้องวงจรปิด ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแล้วหรือยัง ผู้อำนวยการฯตอบทำนองว่า ดูในตอนช่วงเหตุการณ์แรก ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วไม่ดูหลังจากนั้นหรอ ผู้อำนวยการฯตอบว่า หลังจากนั้นมีการบันทึกเหตุการณ์ มีกล้องบันทึกไว้ตลอด ผู้สื่อข่าวขอให้กรมราชทัณฑ์ทำไทม์ไลน์เวลา ผู้อำนวยการฯระบุว่า มีการปั๊มหัวใจในที่เกิดเหตุและลงไปปั๊มด้านล่าง มีคำถามว่า ปั๊มครั้งแรกหัวใจกลับมาเต้นหรือไม่ ผู้อำนวยการฯระบุว่า จำคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย ตามเอกสารระบุว่า ในการปั๊มตอนแรกมีชีพจรอ่อนอยู่และพยุงลงไปที่ห้องด้านล่าง ผู้สื่อข่าวถามว่า พยุงใส่เปลหรือไม่ แต่ผู้อำนวยการฯตอบว่า ไม่ได้ดู CCTV ต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า พยุงปีกหรือใส่เปล และการย้ายจากห้องพักผู้ป่วยไปอีกห้องหนึ่งห่างกันกี่ชั้น แต่ไม่มีคำตอบ

RELATED TAGS