ความเคลื่อนไหวสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก เดือนพฤศจิกายน 2557

คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

4 พฤศจิกายน 
ศาลอาญา พิพากษาคดีของอัครเดช โดยระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด พิพากษาจำคุก 5 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน

10 พฤศจิกายน 
ศาลทหารเชียงรายนัดสอบคำให้การคดีสมัครในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร แต่เนื่องจากทนายจำเลยได้ยื่นขอเอกสารประวัติการรักษาอาการป่วยทางจิตของจำเลยเพื่อจะนำมาประกอบให้ศาลพิจารณา และศาลเห็นว่ายังไม่ได้ระบุเอกสารที่ต้องการให้ชัดเจน ศาลจึงให้เลื่อนการสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 11 ธ.ค.57

13 พฤศจิกายน 
ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสอบคำให้การคดีสิรภพ ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลเพื่อขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน โดยศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2558 ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยตลอดกระบวนการ

16 พฤศจิกายน
มีการจับกุมผู้ต้องหารายใหม่ คือ จารุวรรณในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพลงเฟสบุ๊ค และถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวมาสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม ทั้งนี้ จารุวรรณ กล่าวว่าตนไม่ได้เป็นผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นฯแต่อย่างใด แต่ตนคิดว่าอาจจะถูกเพื่อนของแฟนหนุ่มโพสต์เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง

18 พฤศจิกายน 
ศาลทหารนัดสอบคำให้การคดีคฑาวุธ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 

ในวันเดียวกัน ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังจารุวรรณผลัดแรก 12 วัน โดยผู้ต้องหาได้คัดค้านการขอฝากขังแต่ไม่เป็นผล ศาลอนุมัติฝากขัง เจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ทราบภายหลังว่า ทหารยังได้จับกุมแฟนหนุ่ม ชื่อ อานนท์ และเพื่อนของแฟนหนุ่ม ชื่อ ชาติชาย มาด้วย ซึ่งปัจจุบันถูกฝากขังอยู่ที่ศาลทหารกรุงเทพ

22 พฤศจิกายน
ศาลอาญาก็ได้อนุมัติหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ พล.ต.ต.โกวิทย์ และ พล.ต.ต.บุญสืบ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

24 พฤศจิกายน 
ศาลทหารกรุงเทพฯ มีคำพิพากษา “สมศักดิ์” บ.ก.เว็บไทยอีนิวส์ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ  ฐานเผยแพร่บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ศาลสั่งลงโทษเป็นเวลาเก้าปีแต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษเพียงกึ่งหนึ่งเหลือสี่ปีหกเดือน

27 พฤศจิกายน
มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหา คือบัณฑิต อานียา นักเขียน วัย 73 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งถูกคุมตัวมายังสน.สุทธิสารตั้งแต่ช่วงบ่าย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบัณฑิตได้ไปแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรม บัณฑิตได้ประกันตัวในวันรุ่งขึ้น

28 พฤศจิกายน 
ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดียุทธภูมิ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่ถูกพี่ชายตัวเองแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องมาก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นเหมือนเดิม http://prachatai.org/journal/2014/11/56730

นับจากการรัฐประหารถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 19 คน อยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 15 คน

————————————————————————————-

คดีการเมืองหลังรัฐประหา

11 พฤศจิกายน
ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสืบพยานโจทก์คดีสิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41 เรื่องไม่มารายงานตัว โดยอัยการทหารแถลงว่าพยานปากแรกติดธุระเร่งด่วนไม่สามารถมาศาลได้ และฝ่ายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงเลื่อนกระบวนการสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้ออกไป เป็นวันที่ 22 มกราคม 2558 

24 พฤศจิกายน

ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดตรวจพยานหลักฐานคดีวรเจตน์ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41 เรื่องไม่มารายงานตัว โดยทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องว่า การพิจารณาคดีพลเรือนที่ศาลทหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทก์ 

25 พฤศจิกายน

ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดตรวจพยานหลักฐาน คดี บ.ก.ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ในความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ทั้งนี้ ทนายความจำเลยได้ขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 หรือไม่ ศาลทหารกรุงเทพฯ จึงขอรับเรื่องไว้พิจารณา ขณะที่ฝ่ายอัยการทหารคัดค้าน จึงต้องรอการยื่นหนังสือคัดค้านคำร้องขอภายใน 30 วัน โดยตุลาการศาลทหารได้นัดให้มาฟังคำสั่งคำร้อง และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 มกราคม 2558 

26 พฤศจิกายน

ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสืบพยานโจทก์คดีพรรณมณี และสมบัติ ก. ในข้อหา ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน,ทำลายทรัพย์สินราชการ ในข้อหาเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปในปี 2558

27 พฤศจิกายน

ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสืบพยานโจทก์คดีสงวน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. 41/2557 จำเลยให้การสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาจำคุก 1ปี ปรับ 2 หมื่น แต่เนื่องจากสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง รอลงอาญา 1 ปี

————————————————————————————-

การเรียกตัว จับกุมบุคคล

7 พฤศจิกายน

12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน ประกาศไม่ร่วมปฏิรูปคณะรัฐประหาร คสช. มีการออกหมายเรียกตัว หรือการใช้โทรศัพท์เรียกตัวบุคคลที่ลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

11 พฤศจิกายน

ผบ.มทบ.32 ได้ติดต่อขอพบชาวบ้านแหง จังหวัดลำปาง ประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7  ประธานสภา อบต.บ้านแหง และสมาชิกสภา อบต.บ้านแหง  เนื่องจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการจัดเวทีประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557  และออกเดินทางออกมาฟ้องศาลปกครอง และการเข้าร่วมในกิจกรรม “เดินก้าวแลกเพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” เป็นการทำผิดกฏอัยการศึกเพราะเป็นการรวมกันเกิน 5 คน 

14 พฤศจิกายน

ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กร  “ไม่ปฏิรูปใต้ท๊อปบูท คสช.” เดินทางเข้ารายงานตัวกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันแต่ต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวที่จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หรือสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง

16 พฤศจิกายน

เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวนักกิจกรรมอย่างน้อยสี่รายไปที่ สน.ชนะสงคราม เนื่องมาจาก การจัดแถลงข่าว “ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบู๊ท” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (ห้องประชุมชั้นใต้ดิน) โดยได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกันโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ 

18 พฤศจิกายน

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล บก.น.2 จำนวน 12 กองร้อย ได้เข้าควบคุมพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เจรจากับนักศึกษาให้ยุติการเดินเท้าจากกิจกรรมที่นิสิต ม.เกษตรฯกลุ่มหนึ่ง นัดจัดกิจกรรมที่บริเวณสระพระพิรุณ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อคัดค้านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA กรณีเขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากขัดต่อกฎอัยการศึก ทราบว่ามีคนโดยควบคุมตัวอย่างน้อย 9 ราย

19 พฤศจิกายน

น.ศ.กลุ่มดาวดิน 5 คน ถูกรวบที่ขอนแก่น หลังชูสามนิ้ว ต้านรัฐประหาร ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ขอนแก่น โดยกลุ่มนักศึกษา สวมเสื้อสกรีนข้อความ “ไม่” “เอา” “รัฐ” “ประ” “หาร” และถูกนำตัวจากสถานีตำรวจไปที่เรือนรับรอง มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร ระหว่างสอบสวนมีการข่มขู่ว่าจะให้ทางมหาลัยถอนสภาพนักศึกษาและดำเนินคดี แต่ภายหลังการสอบสวนเสร็จเจ้าหน้าที่ทหารได้ปล่อยกลับบ้านเพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหาและเชิญผู้ปกครองมาด้วยในวันที่ 20 พฤศจิกายน และระหว่างเดินทางออกมาทหารได้บังคับให้กลุ่มดาวดินถอดเสื้อที่สวมอยู่อีกด้วย สุดท้ายไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ แต่มีการจับตาโดยเจ้าหน้าที่อยู่

ในวันเดียวกันในช่วงค่ำ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้ควบคุมตัวนักศึกษากลุ่ม LLTD ไปที่ สน.สำราญราษฎร์ เนื่องจากจัดกิจกรรม ชิมไปบ่นไป ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเป็นการนำอาหารมานั่งรับประทานกันเอง ตัวแทนกลุ่มระบุว่ากิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจกับนักศึกษาขอนแก่น ‘กลุ่มดาวดิน’ ที่ถูกรวบตัวไปค่ายทหารหลังจากเมื่อช่วงเช้าเบื้องต้นตำรวจเพียงทำการลงบันทึกประจำวันโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา

20 พฤศจิกายน

ศิริพร ฉายเพ็ชร หรือ เอ๋ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจราว 6 นายเข้าปิดล้อมและตรวจค้นรถอย่างละเอียด มีการถ่ายรูปรถ ยึดบัตรประจำตัวประชาชน และถูกพาไปที่สถานีตำรวจ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ทหารนำภาพที่มีคนชูป้าย “ยกเลิกกฎอัยการศึก” และ “ไม่เอา คสช.” มาให้เธอดูและให้ยืนยันว่าใช่คนในภาพหรือไม่ ก่อนจะปล่อยตัวออกมาโดยไม่ต้องเซ็นเอกสารหรือตั้งข้อหาใดๆ

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวนักศึกษาจำนวน 3 คน โดย 1 ในนั้นเป็นสมาชิกกลุ่ม ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และเป็นอีกคนเป็นนักศึกษาที่มาเข้าร่วมกิจกรรมดูหนัง Hunger Game ที่บริเวณโรงหนังสกาล่า โดยไม่ได้มีการแสดงออกแต่อย่างใด ทั้ง 2 คน ถูกนำตัวไป สน.ปทุมวัน เพื่อทำการสอบสวน และยังไม่ให้ทนายเข้าไปรับฟังระหว่างสอบสวนอีกด้วย ในตอนเย็นจึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

และมีนักศึกษา 1 คน ที่แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่บริเวณโรงภาพยนตร์ของห้างสยามพารากอน จึงถูกทหารควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน และหลักจากนั้นถูกพาตัวไปที่สโมสรกองทัพบก ระหว่างสอบสวนไม่มีทนายเข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายทหารปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

21 พฤศจิกายน

จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 หรือค่ายกาวิละ บุกเชิญตัวนิติพงศ์ สำราญคง นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์บุราคุมิน ถึงโรงพยาบาลที่ทำงาน หลังเมื่อวานนี้นายนิติพงศ์และเพื่อน ทำกิจกรรมชูสามนิ้วที่ประตูท่าแพ แล้วถ่ายภาพโพสต์ลงเฟซบุ๊ค ก่อนให้เซ็นเอกสารข้อตกลงหยุดเคลื่อนไหว จึงปล่อยตัว 

22 พฤศจิกายน

หัวหน้ากองข่าว มณฑลทหารบกที่ 33 ได้นำตัว ษิณะพันธ์ เกิดสนอง และดำนาย ปะทานัง หลังจากทั้ง 2 ได้เข้าแสดงตัวและยอมรับว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ร่วมกันชู 3 นิ้ว บริเวณข่วงประตูท่าแพเชียงใหม่  เมื่อทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้ออกติดตามตัว จึงมาแสดงตัวกับทางทหารที่มณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่สอบประวัติ และได้ทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติใหม่ พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะปล่อยตัวไป

24 พฤศจิกายน

 นักศึกษา 6 คน ซึ่งทำกิจกรรมโปรยใบปลิว ‘คิดถึงสมเจียม’ และนักศึกษาอีก 2 คนที่ถ่ายภาพกิจกรรม บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม ภายหลังการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 8 ราย ต้องเซ็นรับในบันทึกการปรับทัศนคติ โดยไม่มีการดำเนินคดี แต่ถูกห้ามไม่ให้กระทำการดังกล่าวอีก หากกระทำอีกจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

25 พฤศจิกายน

กฤษกร ศิลารักษ์ และเพื่อนอีก 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี โดยมี เสธ. มทบ.22 และนายทหารชั้นสัญญาบัตร กว่า 7 นาย รอรับตัวอยู่ โดยการพูดคุยจะเป็นเรื่องการขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในพื้นที่ จากกรณีปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูล ทั้งนี้ก่อนหน้าที่บุคคลทั้งหมดจะเข้ารายงานตัวก็มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ตลอด 

26 พฤศจิกายน

ตำรวจนครบาล และทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่1 รักษาพระองค์ (ป.1รอ.) ขอเข้าควบคุมตัวสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา ผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อสอบสวน ตามกฎอัยการศึก นอกจากนี้มีข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่ามีการจับเพิ่มอีก 1 ราย 

30 พฤศจิกายน

วินัย ผลเจริญ และอดีตนักศึกษาอีก 3 คน ไปรายงานตัวตามหนังสือเรียกตัวที่กองบังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งตั้งอยู่ในหอประชุมจังหวัดมหาสารคาม บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคาม ในการพูดคุยสิ่งที่ฝ่ายทหารรู้สึกไม่สบายใจคือโพสต์บางโพสต์ใน facebook ของศิษย์เก่าคนหนึ่งซึ่งวันนี้ไม่ได้ไปรายงานตัว ประกอบกับใกล้ถึงวันงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร  

นับจากการรัฐประหารถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 มีผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 626 คน มีผู้ถูกจับกุม อย่างน้อย 340 คน 

————————————————————————————-

การปิดกั้นการจัดกิจกรรมสาธารณะ

5 พฤศจิกายน

งานเสวนา หารือร่างสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูธฉบับใหม่ ที่จัดโดยคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายร่วมกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่โรงแรมต้นหว้ารีสอร์ท จ.ขอนแก่น ถูกยกเลิกโดยทหารและตำรวจเข้าไปสั่งยุติ 

9 พฤศจิกายน

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวแกนนำการรณรงค์ กิจกรรมเดินเท้ารณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทราบชื่อบุคคลที่โดนจับกุมสองคนคือ พิษิฐ ตาวา และ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง 

11 พฤศจิกายน

ทหารเดินทางมาพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชาขอร้องไม่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเผยแพร่รายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป”

11 -12 พฤศจิกายน

เวทีจัดประชุมเพื่อให้ความรู้และชี้แจงชาวบ้านเกี่ยวกับคดีเขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ที่จังหวัดอุดรธาณี ทหารและตำรวจเข้ามาสอบถามและเชิญไปทำหนังสือขอจัดงานที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคม แต่ผู้จัดงานปฏิเสธ ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงนำหนังสือมาให้เซ็น อย่างไรก็ตามเมื่อเซ็นขออนุญาตแล้วเจ้าหน้าที่เข้าฟังการประชุมด้วย

12 พฤศจิกายน

ทหารขอให้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่เจรจากับ มล.ปนัดดา งดสวมเสื้อนำสัญลักษณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการ “เดินก้าวแลก..เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” (เชียงใหม่) และมีทหารกดดันชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในการเจรจากับ ม.ล.ปนัดดา (ลำปาง) 

15 พฤศจิกายน

กิจกรรม “เวทีเสาร์ถกแถลง #3” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์ประสานงานกับผู้จัดหลายครั้งเพื่่อให้ส่งหนังสือขออนุญาตจัดงาน และขอให้ตัดการพูดคุยออกสองหัวข้อแม้ผู้จัดจะยินยอมตัดหัวข้อแล้ว แต่ก่อนวันจัดงาน 1 วัน ผู้บริหารจุฬาฯ แจ้งยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมสำหรับการจัดงาน ผู้จัดงานจึงต้องย้ายไปใช้สถานที่ของ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แทน โดยในวันจัดงานมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งฟังอยู่ด้วยประมาณ 4-5 คน

16 พฤศจิกายน

งาน “ทอล์คโชว์ และบทเพลง ผืนดินเรา ที่ดินใคร” ที่สมาคมฝรั่งเศส โดยคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของสถานที่ และมีการประสานงานขอให้ผู้จัดชี้แจงรายละเอียดของงาน ซึ่งผู้จัดได้ส่งไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 จนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ก็ได้รับแจ้งว่าทาง คสช. ไม่อนุมัติการจัดงานดังกล่าว

17 พฤศจิกายน

งานแถลงข่าว “ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบู๊ท” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ทหารไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ อย่างไรก็ตามผู้จัดงานยืนยันจัดต่อ เมื่อถึงเวลานัดหมายผู้จัดงานยืน “แถลงการณ์เงียบ” สวมเสื้อดำ ปิดปาก หน้าสถานที่จัดงาน โดยมีตำรวจนับสิบนายยืนข้างหลังกั้นไปให้เข้า จากนั้นผู้อ่านแถลงการณ์เงียบ 4 คน ถูกนำตัวไปสน.ชนะสงคราม 

20 พฤศจิกายน

งานเสวนาภาษีที่ดิน ที่ The Readingroom ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งยกเลิกงานเสวนาและส่งลูกน้องยศร้อยตรี-โท-เอก มาคุมสถานการณ์ที่ห้องสมุด 4 นาย โดยให้เหตุผลว่า งานเสวนานี้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ประเทศยังอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก ดังนั้น หากจะจัดงานอะไรที่เกี่ยวกับรัฐหรือการเมือง ต้องทำเรื่องขออนุญาต คสช.ก่อน

21 พฤศจิกายน

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ที่จ.อุบลราชธานี ประกาศในสื่อสังคมออนไลน์ว่า เนื่องด้วยร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียอยู่ในข่ายถูกจับตามองเพราะจุดยืนและกิจกรรมในอดีตที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัย งานปีนี้ทางร้านจึงไม่จัดกิจกรรมใดใด นอกจากกิจกรรมทางวัฒนธรรมวันแรกของงานและการขายหนังสือในวาระพิเศษนี้ 

ในวันเดียวกัน งานเสวนา “สิทธิ เสรีภาพ ประชาชนไทย ในยุคประชาธิปไตยในปัจจุบัน” มหาวิทยาลัยบูรพา แจ้งให้ทราบว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 14 เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และกลุ่มผู้จัดงาน สั่งให้ยกเลิกงานดังกล่าวในทันที โดยถือว่าเป็นคำขาดให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข

22 พฤศจิกายน  

“เวทีเสาร์ถกแถลง #4”  เนื่องจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทั้งนี้ เพราะทางจุฬาได้ส่งหนังสือให้ คสช. ล่าช้า นอกจากนี้ ทางผู้จัดได้ยื่นหนังสือไปให้ คสช. โดยตรงอีกรอบหนึ่งแล้ว แต่ทาง คสช. พิจารณาไม่ทันจึ ให้งดเวทีดังกล่าวออกไปก่อน 

นับจากการรัฐประหารถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 มีการจัดกิจกรรมสาธารณะที่ถูกปิดกั้นแล้วอย่างน้อย 38 ครั้ง

————————————————————————————-

การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก กรณีอื่นๆ 

3 พฤศจิกายน

ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีบริษัททุ่งคำฟ้องหมิ่นประมาทชาวบ้าน โดยมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายโจทก์ และทนายจำเลยมาศาล แต่จำเลยไม่มา ทั้งนี้โจทก์ยังนำพยานเข้าไต่สวน 1 ปาก และเบิกความเกี่ยวกับคลิปสัมภาษณ์ที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้มีการยื่นเอกสาร อ้างพยานกัน เมื่อโจทก์จึงแถลงหมดพยานเพียงเท่านี้ ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่  24 ธันวาคม 2557  l

ในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดพร้อม คดีกระทรวงพลังงานฟ้องม.ล.กรกสิวัฒน์ มีการยื่นบัญชีพยานและพยานหลักฐานโดย ฝั่งโจทก์มีพยาน 8 ปาก และจำเลยมีพยานด้วยกัน 24 ปาก แล้วศาลจึงค่อยนัดสืบพยานใหม่อีกครั้ง   

12 พฤศจิกายน

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าหนังสือ “A Kingdom in Crisis” เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด 

17 พฤศจิกายน

ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจาก กฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ทหาร มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ว่าขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊ก ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวร เนื่องจากเนื้อหาในเพจสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ใหญ่ ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ย. ได้รับโทรศัพท์จากนายทหารคนเดิมอีกครั้ง ขอให้ปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อ ไพจิต ศิลารักษ์ 

26 พฤศจิกายน

ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษา คดีปีนสภาสนช. โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพียงแต่ต้องการคัดค้านการออกกฎหมายของ สนช. ส่วนเรื่องหัวหน้า ผู้สั่งการ เมื่อการชุมนุมไม่เปนความผิดก้อไม่ต้องวินิจฉัยต่อ

28 พฤศจิกายน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนสปป. ลาวและเวียดนาม ถีงกรณีที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ทำการบล็อคเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทยว่า เขามีมาตรการกติกาของเขาอยู่ เป็นเรื่องของไอซีที เป็นเรื่องของความมั่นคงที่นายกฯไปมอบมาแล้วว่าเขาต้องอะไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย