ไอลอว์ส่งทีมงานสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 17 มีนาคม 2562 และการนับคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พบว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติล้วนทำงานด้วยความตั้งใจ และต้องการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสที่สุด แต่มีหลายกรณีที่ขาดความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติผิด ซึ่งอาจส่งผลต่อความโปร่งใส่ของการนับคะแนนและการรายงานผลการเลือกตั้งด้วย เช่น การไม่อนุญาตให้ประชาชนถ่ายภาพบอร์ดรวมคะแนน หรือไม่อนุญาตให้ประชาชนถ่ายภาพขั้นตอนการนับคะแนน
แต่ในระดับบริหาร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน กลับมีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่โปร่งใสและส่อไปให้สาธารณชนสงสัยว่า มีการปกปิดความผิดของตัวเองหรือทุจริตในขั้นตอนการนับคะแนน ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อถือผลการเลือกตั้งที่ออกมา ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1) ผลคะแนนที่ กกต. ส่งให้กับสำนักข่าวต่างๆ เพื่อรายงานผลแบบต่อเนื่อง Real-time มีความผิดปกติ เมื่อนำไปคำนวนรวมแล้ว ยอดคะแนนของหลายเขตเลือกตั้งขึ้นลงอย่างน่าสงสัย และยอดรวมจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในระดับ 10-20 ที่นั่ง แม้จะนับคะแนนไปแล้ว 80-90%
2) กรรมการ กกต. เลี่ยงที่จะตอบคำถามที่สาธารณชนคาใจทุกข้อ โดยมอบหมายให้เลขาธิการ กกต. ซึ่งไม่มีอำนาจเต็มเป็นผู้แถลงชี้แจง ขณะที่อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เลี่ยงที่จะตอบคำถามนักข่าวในประเด็นจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ผกผันมากในระหว่างการรายงานผลการนับคะแนน โดยใช้ข้ออ้างว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข” แสดงให้เห็นเจตนาที่จะไม่อธิบายเรื่องที่สังคมสงสัย อาจเพราะไม่สามารถอธิบายได้
3) การรายงานผลคะแนนให้กับสื่อมวลชนมีปัญหาขาดช่วงไปหลายครั้ง โดยภายหลังมีการกล่าวอ้างว่า ถูกโจมตีระบบ แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่า ถูกโจมตีระบบอย่างไรและเพื่อวัตถุประสงค์ใด จนปรากฏผลคะแนนที่ส่งให้กับสื่อมวลชนล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2562 ซึ่งแตกต่างกับผลคะแนนที่สื่อมวลชนรายงานในช่วงดึกอย่างมาก
5) การรายงานผลการนับคะแนนล่าสุดที่ กกต. ส่งให้กับผู้สื่อข่าว ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2562 มีเพียงผลว่า ผู้สมัครคนใดชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด แต่ไม่เปิดเผยผลคะแนนด้วยว่า ผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนเท่าใด โดย กกต. อ้างว่า จะเปิดเผยผลการเลือกตั้งได้ละเอียดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่จะต้องยืดเวลานานออกไปถึง 5 วัน และเป็นเรื่องไม่ปกติที่การนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้วแต่กลับไม่ให้สาธารณรับรู้ด้วย ซึ่งระหว่างช่วงเวลา 5 วันเต็มนี้ผลคะแนนจะถูกปิดลับอยู่ในมือของ กกต. แต่เพียงผู้เดียว และเป็นเวลาที่มากพอให้มีการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนได้
6) ระหว่างการรายงานผลการนับคะแนนในช่วง คืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีคะแนนของผู้สมัครหลายคนที่ลดลง โดยที่ไม่มีคำอธิบาย ทั้งที่การนับคะแนนไปข้างหน้าเรื่อยๆ จะต้องมีแต่คะแนนเพิ่มขึ้นมาก เพิ่มขึ้นน้อย หรือไม่เพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่า มีคะแนนที่ลดลงในบางช่วงเวลาอย่างผิดสังเกต และยังขาดคำอธิบาย
7) ระหว่างการรายงานผลการนับคะแนนในช่วง คืนวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีหลายช่วงเวลาที่คะแนนรวมของผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองเมื่อรวมกันแล้วมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “บัตรเกิน” ซึ่งต่อมาตัวเลขต่างๆ ถูกแก้ไขและรายงานใหม่แล้ว แต่ยังไม่มีคำอธิบายถึงความผิดพลาดว่า ตัวเลขที่แสดงในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร
8) มีรายงานจากผู้สมัครของบางพรรคการเมืองส่งผู้สังเกตการณ์ไปจดบันทึกการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง และต่อมาพบว่า ยอดรวมคะแนนที่ กกต. ประกาศออกมานั้นไม่ตรงกับที่ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกไว้ จึงได้ทักท้วง และได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นได้ถึง การรวมคะแนนผิดในระดับเขตเลือกตั้งของ กกต.
การนับคะแนนบริเวณหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งนั้นกระทำโดยเปิดเผย ตัวแทนของผู้สมัครสามารถส่งคนไปสังเกตการณ์ได้ และประชาชนก็สามารถไปสังเกตการณ์ได้เช่นกัน หากมีข้อผิดพลาดก็สามารถทักท้วงให้แก้ไขหรือลงบันทึกไว้ได้ จึงค่อนข้างเชื่อถือได้ระดับหนึ่งว่า การนับคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งจะเป็นไปโดยโปร่งใส แต่เมื่อคะแนนถูกนับที่หน่วยเสร็จแล้วและถูกส่งไปรวมกันที่สำนักงาน กกต. ของเขตเลือกตั้งนั้นๆ และถูกรายงานเข้ามายัง กกต. ส่วนกลาง ระหว่างนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่โปร่งใส ประชาชนและผู้สมัครไม่สามารถร่วมตรวจสอบการรวมคะแนนและส่งผลคะแนนในขั้นตอนเหล่านี้ได้
เมื่อมีปรากฏการณ์ที่ผลคะแนนตามที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนเต็มไปด้วยความผิดพลาด ผกผัน และการรายงานขาดความต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมของ กกต. ที่หลีกเหลี่ยงการตอบคำถามสาธารณชน และปกปิดคะแนนรวมสุดท้ายไว้ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งที่การนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว จึงส่อให้เห็นถึงการจงใจทุจริตของ กกต. ในขั้นตอนการรวมคะแนนและส่งผลคะแนนส่วนกลาง และสร้างความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อการทำงานของ กกต. และต่อผลการเลือกตั้ง
ในขั้นตอนการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง มีตัวแทนของผู้สมัครหลายพรรคการเมืองและประชาชนที่สนใจเข้าสังเกตการณ์เพื่อจดบันทึกและตรวจสอบคะแนนที่ กกต. รวมออกมาได้กับคะแนนที่ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกไว้ จึงมีบางพรรคการเมืองที่ร้องขอให้ กกต. นับคะแนนใหม่แล้วหลายเขตเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยเลือกตั้ง ในหลายเขตพื้นที่ที่ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปจดบันทึกไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบกับคะแนนของ กกต. ได้
อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยมีหน้าที่ต้องจดบันทึกคะแนนที่นับได้ในระดับหน่วย พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ในเอกสารรายงานผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ส.ส. 5/18) ก่อนส่งให้สำนักงาน กกต. ประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการส่งให้ กกต. ส่วนกลางต่อไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่บันทึกไว้ในใบ ส.ส.5/18 เป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ กกต. เป็นเจ้าของ
ดังนั้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของ กกต. เพื่อแสดงออกถึงความโปร่งใสให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการทำงานของ กกต. ในขั้นตอนการรวมคะแนนและการส่งผลคะแนน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลการเลือกตั้ง กกต. ต้องเปิดเผยคะแนนผลการเลือกตั้งทั้งคะแนนรวม คะแนนระดับหน่วย และเอกสารใบ ส.ส.5/18 โดยเร็วที่สุด อย่างช้า คือ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 25562 ตามที่ กกต. กำหนดไว้ว่า จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้และสามารถนำข้อมูลมาตรวจสอบกับผลการเลือกตั้งที่ กกต. คำนวนออกมาได้ด้วยตนเอง
หาก กกต. ไม่รีบเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ย่อมส่อให้ประชาชนสงสัยว่า มีการจงใจทุจริตในขั้นตอนการรวมคะแนนและการส่งผลคะแนน
จนถึงขณะนี้ มีประชาชนช่วยกันไปสังเกตการณ์การนับคะแนนและถ่ายภาพบอร์ดนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ส่งมาที่เว็บไซต์ Vote62.com แล้วหลายพันหน่วยเลือกตั้ง และยังเปิดให้ประชาชนที่มีภาพถ่ายผลคะแนนส่งเข้ามารวมกันได้อีก ซึ่งหาก กกต. ไม่เปิดเผยผลคะแนนตามใบ ส.ส. 5/18 ประชาชนก็จะต้องนำภาพถ่ายที่รวบรวมได้เหล่านี้มาตรวจสอบกันเองเท่าที่มีข้อมูลอยู่ต่อไป