นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567  ศาลมีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว 135 คดีจากทั้งหมด 303 คดี โดยอัตราโทษสูงสุดยังเป็นคดีของบัสบาส-มงคล ถิระโคตร จำคุกจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 25 ข้อความ ทั้งหมดเป็น 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี 

วันที่ พฤษภาคม 2567 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดบอส-ฉัตรมงคล วัลลีย์ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 459/2565 กรณีคอมเมนท์โพสต์บนเฟซบุ๊กเพจศรีสุริโยไท วันที่ 27 มีนาคม 2567 ศาลจังหวัดเชียงรายยกฟ้อง ระบุว่า ไม่มีพยานบุคคลและหลักฐานที่ยืนยันว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ในทางนำสืบของจำเลยก็แสดงให้เห็นว่า “หน้าเฟซบุ๊กมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ” ในวันดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกสามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 27 เดือน ไม่รอลงอาญา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคาดว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คำนวณโทษผิดพลาด การลดโทษควรจะเหลือสองปีไม่ใช่ 27 เดือน ดังกล่าวทนายความจะยื่นฎีกาต่อไป 

ทนายความยื่นขอประกันตัว ศาลจังหวัดเชียงรายส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลฎีกาพิจารณา ต่อมาในช่วงเวลา 16.28 น. ศาลฎีกามีคำสั่งกลับมาที่ศาลจังหวัดเชียงรายอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา แต่หลังจากทนายความมาฟังคำสั่ง ศาลปิดทำการพอดีทำให้ไม่สามารถดำเนินการวางหลักทรัพย์และสัญญาประกันได้ทัน ประกอบกับเวลาดังกล่าวบอสถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางเชียงรายแล้วจึงต้องทำเรื่องในวันถัดมา

วันที่ พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ศาลอาญานัดไมค์-ภานุพงศ์ มะณีวงศ์ (จาดนอก) ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2380/2564 ถือเป็นนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่สองหลังจากวันที่ 28 มีนาคม 2567 ไมค์ไม่มาฟังคำพิพากษา นายประกันของไมค์แถลงต่อศาลว่าไม่สามารถติดต่อและติดตามตัวภานุพงศ์มาฟังคำพิพากษาได้  จากนั้นศาลอาญาออกหมายจับและนัดวันฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันที่ 8 พฤษภาคม 2567  คดีนี้เหตุสืบเนื่องจากการชุมนุม #ราษฎรสาส์น ที่หน้าศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีการเชิญชวนประชาชนเขียนจดหมายส่งถึงรัชกาลที่สิบ วันนั้นเขาเขียนข้อความลงเพจเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อพระมหากษัตริย์และติด#ราษฎรสาส์น  ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้คือ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) โดยหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเขาเคยไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ระยะหนึ่ง

วันที่ พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 907 ศาลอาญานัดวรัณยา แซ่ง้อและอาเล็ก-โชคดี ร่มพฤกษ์ฟังคำพิพากษาในหมายเลขคดีดำที่ อ.2934/2565 เหตุสืบเนื่องจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในการชุมนุมวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ในชั้นศาลจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 30 มกราคมและ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2567 ในนัดสืบพยานจำเลย ทั้งสองเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ สำหรับคดีนี้ริเริ่มโดยอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือเต้ อาชีวะกับพวก เพลงที่เป็นเหตุแห่งคดีเป็นเพลงของวงไฟเย็นที่อัยการบรรยายฟ้องว่า การร้องเพลงดังกล่าวน่าจะทำให้รัชกาลที่สิบและรัชกาลที่เก้าเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยทั้งสองได้รับการปล่อยตัวเรื่อยมาระหว่างการพิจารณาคดี

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 805 ศาลอาญานัดอาเล็ก-โชคดี ร่มพฤกษ์ ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขคดีดำที่ อ 936/2566 เหตุสืบเนื่องจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลระหว่างการชุมนุมวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ในนัดสอบคำให้การอาเล็กให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2567 ในนัดสืบพยานโจทก์เขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้ออกมาแสดงดนตรีร้องเพลงชื่อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” อันมีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่เก้าและรัชกาลที่สิบ ทำให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ทั้งนี้คดีมีพ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม ตำรวจสน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 ศาลอาญานัด ‘แม็ค’ ฟังคำพิพากษาในหมายเลขคดีดำที่ อ 39/2566 จากการคอมเมนต์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับข่าวลืออาการป่วยของรัชกาลที่สิบ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 2565 ในนัดสอบคำให้การ‘แม็ค’ ให้การปฏิเสธ และวันที่ 20 มีนาคม 2567 ในนัดสืบพยานโจทก์เขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ คดีนี้มีผู้กล่าวหาคือ  พ.ต.ท.ภาคิน ไกรกิตติชาญ และมีผู้ถูกกล่าวหาจากการคอมเมนท์ในโพสต์เดียวกันนี้อีกอย่างน้อยหนึ่งคน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานีฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 1971/2565 เหตุสืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง คดีนี้มีจำเลยทั้งหมดสิบคน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีชลธิชาถูกกล่าวหาเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงคนเดียว เนื้อหาคำปราศรัยเกี่ยวข้องกับการการออกพ.ร.บ.ระเบียบราชการในพระองค์ 2560 และการใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย คดีนี้มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญานัดแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็งฟังคำพิพากษา สืบเนื่องจากแอมมี่และปูน ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นำสู่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 หลังเกิดเหตุวันที่ 3 มีนาคม 2564 แอมมี่ถูกจับกุมและไม่ได้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จึงได้รับการประกันตัวในการร้องขอครั้งที่แปด รวมระยะเวลาคุมขังในชั้นสอบสวนของตำรวจ 69 วัน การนัดฟังคำพิพากษาครั้งนี้เป็นการนัดใหม่ครั้งที่สองหลังจากเลื่อนมาแล้วในนัดวันที่ 26 มกราคม 2567 และวันที่ 25 เมษายน 2567 สืบเนื่องจากอาการป่วยเกี่ยวกับปอดของแอมมี่

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 306 ศาลอาญาตลิ่งชันนัดธนพร ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาจากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ซึ่งเป็นภาพตัดต่อของรัชกาลที่เก้าและรัชกาลที่แปดในนกลุ่มเฟซบุ๊กเมื่อปี 2564 ธนพรให้การรับสารภาพ ธนพรเป็นแม่ลูกอ่อนและระหว่างการพิจารณาเธอกำลังท้องลูกคนที่สอง ในวันที่ไปฟังคำพิพากษาธนพรหอบท้องแก่ใกล้คลอดจากบ้านในจังหวัดอุทัยธานีมาฟังคำพิพากษา โดยศาลชั้นต้นสั่งจำคุกสี่ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกสองปี ให้รอการลงโทษไว้สองปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาอัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไม่รอการลงโทษจำคุก และต้องสู้คดีจนถึงชั้นฎีกา เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจจนถึงศาลฎีกา

อ่านเรื่องราวของธนพรเพิ่มเติมที่นี่

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญานัดไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 808/2567 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์จากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ทำนองว่า มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ทั้งๆ ที่ ในหลวงทรงมีพระราชโองการถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วว่าไม่ให้บังคับใช้มาตรา 112 กับประชาชน ซึ่งทางสำนักพระราชวังหรือสมาชิกในราชวงศ์จะต้องมีการออกมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดไปว่า สถาบันมีส่วนเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112” ผู้กล่าวหาในคดีนี้คือ กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ไบร์ทถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมแปดคดี ที่ผ่านมาศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของไบรท์รวมห้าคดีคือ คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้หนึ่งคดีจากการปราศรัยเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 คดีนี้โทษจำคุกตามมาตรา 112 ศาลให้รอการลงโทษไว้ และศาลอาญาสี่คดี คดีจากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี การชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี คดีที่หน้าสน.บางเขนจำคุกหนึ่งปีหกเดือน และคดีจากการปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา ปลดอาวุธศักดินาไทย มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี รวมห้าคดีมีโทษจำคุกสิบปี หกเดือน

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญานัดสามนักกิจกรรมทะลุฟ้าฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 2407/2565 เหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมวันครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีผู้ชุมนุมอิสระพยายามจะผ่านเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลและตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เวลาไล่เลี่ยกันบริเวณสะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยม เวลาไล่เลี่ยกันมีเหตุปาระเบิดเพลิงหรือโมโลตอฟขึ้นไปบนสะพานลอยบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและราชินี และการราดน้ำมันวางเพลิงซุ้มดังกล่าวจนไฟลุกทำให้บริเวณตรงกลางถูกไฟไหม้เป็นรอยดำ 

ตามด้วยการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทะลุฟ้ารวมสี่คน ได้แก่ แซม-พรชัย ยวนยี คาริม-จิตริน พลาก้านตง ‘บัง’ และแม็ค-สินบุรี โดยจำเลยทั้งหมดยกเว้นแม็ค-สินบุรีถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่แม็ค-สินบุรีมีข้อหาหลักคือ  การวางเพลิงป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง เนื่องจากแซม-พรชัยไม่ปรากฏตัวในนัดฟังคำพิพากษาจะเหลือจำเลยเพียงสามคนเท่านั้น