22 พฤศจิกายน 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ ทนายความ ด้วยคะแนนเสียง 148 ต่อ 28 งดออกเสียง 8 เสียง และคะแนนเสียง 149 ต่อ 27 งดออกเสียง 8 เสียง ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองคนได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ และถือเป็นการปิดฉากมหากาพย์การสรรหา กกต. ชุดใหม่ ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
มหากาพย์เซ็ตซีโร่: สนช. แก้กฎหมายเพราะอยากเลือก กกต. ชุดใหม่
หากจะกล่าวถึงที่มาของการสรรหาและลงมติเห็นชอบ กกต. สองคนสุดท้าย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2560 ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ร่าง พ.ร.ป.กกต. ซึ่งเป็นที่มาของการ 'เซ็ตซีโร่ กกต.' หรือ การให้ กกต. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องพ้นไปจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ป.กกต. ฉบับแรก ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ซึ่งนำโดย มีชัย ฤชุพันธ์ ณ ตอนนั้น ยังไม่ปรากฎชัดเรื่องการเซ็ตซีโร่ เพียงแต่กฎหมายมีการกำหนดคุณสมบัติของ กกต. ใหม่ ดังนั้น หาก กกต. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่คนใดขาดคุณสมบัติตามกฎหมายก็จะต้องจากพ้นตำแหน่งและดำเนินการสรรหาใหม่
จนกระทั่ง ร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จึงมีการแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.กกต. อีกครั้ง ในหมวดบทเฉพาะกาล มาตรา 70 ที่กำหนดให้ ประธานและกรรมการ กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับต้องพ้นไปจากตำแหน่ง และให้เริ่มกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ โดย พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ สมาชิก สนช. อธิบายเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต. มากขึ้น คุณสมบัติจึงเข้มข้นตามมาด้วย จึงควรเริ่มดำเนินการเลยเพื่อให้ได้ กกต. ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ดี หลังการลงมติของ สนช. ในวันที่ 9 มิถุนายน เรื่องเซ็ตซีโร่ก็ยังไม่เป็นข้อยุติ เนื่องจาก ตามรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้องค์กรอิสระที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสามารถขอตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบไปด้วย กกต. สนช. และ กมธ. เพื่อแก้ไขกฎหมายและส่งให้ิ สนช. พิจารณาใหม่อีกครั้งได้ แต่ผลสุดท้าย สนช. ก็ยังลงมติเซ็ตซีโร่เหมือนเดิมในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560
มหากาพย์การแต่งตั้ง: สนช. คัดเลือก กกต. มาสามครั้ง คว่ำยกชุดหนึ่งครึ่ง
หลัง พ.ร.ป.กกต. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กันยายน 2561 ทำให้ กกต. ชุดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนกฎหมายบังคับใช้ต้องพ้นจากตำแหน่ง และมีการดำเนินการสรรหา กกต. ชุดใหม่ ภายใน 110 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้
โดยการลงมติเห็นชอบ กกต. ครั้งแรก คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 สนช. ได้นัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ชุดใหม่ จำนวนเจ็ดคน ได้แก่
- เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
- ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท วรวิสิฏฐ์
- ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา
- ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
แต่ทว่า สนช. กลับมีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อแม้แต่คนเดียว โดยเหตุผลที่ สนช. ไม่เห็นชอบนั้น คาดว่ามาจากคุณสมบัติและความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร อีกทั้ง ผู้สมัคร กกต. ที่มาจากการคัดเลือกโดยศาลฎีกามีปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ได้ลงคะแนนเลือกกันโดยเปิดเผย และความเป็นไปได้สุดท้าย คือ สนช. ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ลงมติไม่เห็นชอบทั้งเจ็ดคน
นอกจากนี้ ภายหลังการลงมติของ สนช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาว่าจะเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งดังกล่าวต่อสาธารณะหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า จะไม่เปิดเผยรายงานบันทึกการประชุมในวาระดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ภายหลัง สนช. มีมติคว่ำผู้สมัคร กกต. ยกชุดไม่นาน วันที่ 20 มีนาคม 2561 หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 4/2561 สั่งให้ สมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดปฏิบัติหน้าที่ กกต.
โดยคำสั่งระบุเหตุผลว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและกําหนดการการเลือกตั้ง และสมชัยสมัครเข้าเป็นเลขาธิการ กกต. ชุดใหม่ โดยไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และยังถือโอกาสในการออกคำสั่งครั้งนี้แถมข้อกำหนดด้วยว่า หาก กกต. ที่เหลืออยู่อีกสี่คนอายุครบ 70 ปี ก็ให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
จนกระทั่ง วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุม สนช. มีนัดพิจารณาลงมติเห็นชอบ กกต. ชุดใหม่อีกครั้ง โดยมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคน ได้แก่
- สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ศาสตราจารย์ ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- อิทธิพร บุญประคอง อดีตเอกอัครราชทูต
- ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
- ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
- ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
- พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ
แต่ผลการพิจารณาในวันดังกล่าวพบว่า สนช. มีมติเห็นชอบแค่ 5 คน ได้แก่ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, อิทธิพร บุญประคอง, ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี, และ ปกรณ์ มหรรณพ ส่วนอีกสองคน คือ สมชาย ชาญณรงค์กุล และ พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ไม่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสนช.
ล่าสุด การลงมติเห็นชอบ กกต. ชุดใหม่ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 จะเป็นการสรรหา กกต. สองที่นั่งสุดท้าย ซึ่ง สนช. ได้เห็นชอบให้ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ ทนายความ เป็นหนึ่งในกกต. และถือเป็นการปิดฉากมหากาพย์การสรรหา กกต. ในยุค คสช.
มหากาพย์การเลือกตั้ง: กกต. ชุดใหม่ กับภารกิจ 'คุมการเลือกตั้ง' ให้ คสช.
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กกต. จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 โดยอำนาจของ กกต. มีการกระจายตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เช่น พ.ร.ป.กกต., พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นต้น
โดย พ.ร.ป.กกต. จะให้อำนาจกับ กกต. เช่น การยับยั้งการเลือกตั้งและให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ "ใบเหลือง" นอกจากนี้ กกต. ยังมีอำนาจระงับสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส. ชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี หรือ หมายความว่า กกต. สามารถถอนผู้สมัครรับเลือกตั้งออกจากการแข่งขันได้ทันที ซึ่งอำนาจนี้อาจเรียกว่าเป็น "ใบส้ม" และเป็นอำนาจรูปแบบใหม่ของ กกต. ที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมา
ด้าน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ให้อำนาจกับ กกต. ไว้ เช่น การควบคุมตรวจสอบให้พรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ก่อตั้งพรรคต้องมีอย่างน้อย 500 รายชื่อ ต้องมีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท จะเสนอนโยบายต้องชี้แจงการใช้เงินและความคุ้มค่าของนโยบาย ห้ามทำฝ่าฝืนข้อกำหนดของพรรค ไม่ให้บุคคลภายนอกชี้นำพรรค โดยบทลงโทษมีตั้งแต่สั่งปลดคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ห้ามยุ่งเกี่ยวพรรค 20 ปี ไปจนถึงยุบพรรคการเมือง
เท่านั้นยังไม่พอ ใน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ยังให้อำนาจ กกต. คุมหาเสียงออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ โดย กกต. จะเป็นคนออกระเบียบการหาเสียง และมีอำนาจแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลได้ นอกจากนี้ หากเห็นว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายและรับผิดทางอาญาด้วย
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้ออกคำสั่งที่ 16/2561 ขยายเวลาให้ กกต. มีอำนาจดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 โดยให้ คสช. และรัฐบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้ง