ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

“ผมคงแค่ยิ้มสู้เพราะคดีนี้ผมสู้ด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอด มันจะมีเนื้อหาต้องสู้ ผมก็สู้ตามข้อเท็จจริงทุกอย่างเลย ท้ายที่สุดคือ คดี 112 มันไม่ได้สู้ด้วยข้อเท็จจริง แต่เขามีธงไว้อยู่แล้วเราไม่ได้สู้ด้วยข้อเท็จจริง เขาไม่อยากฟังอยู่แล้วตั้งแต่แรกเลยกลายเป็นว่ามันเป็นคดีที่สู้ไปก็ไม่ได้รู้ผลอะไรอีกแล้วเพราะเขาไม่ได้ฟังเราตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยคดีนี้ก็อาจจะมีหวังก็อยากให้รอฟังความหวังที่จะเกิดขึ้นกับการต่อสู้คดี”

Untitled Artwork

สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม เล่าถึงความรู้สึกของเขาต่อคดี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ในกิจกรรม Stand together ส่งใจให้ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดขึ้นเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจความรู้สึกของจำเลยก่อนที่จะต้องเผชิญกับคำพิพากษาของศาล 

ในส่วนของเตรียมตัวไปฟังคำพิพากษา สิรภพกล่าวว่า “คงไม่ได้เตรียมใจอะไรมาก เพราะว่าวันนั้นผมคงหน้าชาถ้าได้รู้ว่าข่าวแย่ แต่ถ้าเกิดข่าวดีอาจจะไม่เต้นในนั้นอาจจะไปเต้นข้างนอก คงจะมีความสุขแสดงออกอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่หวังว่า เป็นข่าวดีสำหรับทุกคน … ”

ขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว

สิรภพ หรือขนุน วันที่ศาลมีคำพิพากษามีอายุ 23 ปี เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ที่เป็นคนสนใจงานด้านวิชาการ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีก็เข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นผู้ช่วยทนายความ หรือ paralegal ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อสนับสนุนลูกความและช่วยให้ทนายความมีเวลาและสมาธิกับการเตรียมตัวต่อสู้คดีให้มากขึ้น

ในยุคสมัยที่นิสิตนักศึกษาเป็นผู้นำในการชุมนุมทางการเมือง สิรภพก็มีบทบาทในมหาวิทยาลัยของตัวเอง และทำกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันเข้ามาร่วมกับการแสดงออก เช่น กิจกรรมประท้วงโดย “ชูกระดาษเปล่า” หลังจากที่ป้ายประท้วงในกิจกรรมหลายครั้งถูกเซ็นเซอร์ข้อความ หรือ กิจกรรม “ชมสวน” หลังจากเจ้าหน้าที่นำต้นไม้และดอกไม้มาวางเต็มพื้นที่รอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้มีการจัดชุมนุมบนพื้นที่นั้น

สิรภพอาจไม่ใช่นักกิจกรรมที่มีบทบาทโดดเด่นหรือมีชื่อเสียงในวงกว้าง เขาไม่ใช่นักปราศรัยขาประจำ เป็นคนทำกิจกรรมในมุมเล็กๆ แต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่แกนนำคณะราษฎรหลายๆ คนถูกจับกุมและคุมขังหลังการสลายการชุมนุม สิรภพตัดสินใจขึ้นปราศรัยในการชุมนุมใหญ่ที่แยกปทุมวันต่อหน้าคนจำนวนมากเป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เขาถูกดำเนินคดี

สิรภพเคยเล่าว่า ที่เขาไม่เคยพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ หรือพูดถึงประเด็นปัญหาแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม เป็นเพราะเขาเห็นว่ามีคนที่มีข้อมูลมากกว่าตัวเขาคอยพูดอยู่แล้ว เขาจึงเลือกไปพูดประเด็นอื่นแทนเพราะคิดว่าเนื้อหาที่พูดในที่ชุมนุมไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่เรื่องสถาบันฯ แต่ควรพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามความโกรธจากการถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ก็ผลักให้สิรภพตัดสินใจปราศรัยในประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏว่าการปราศรัยในประเด็นนี้เพียงครั้งเดียวทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

รู้จักขนุน สิรภพ ต่อได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1028

คดีจากการปราศรัยหน้าสตช. ประนามตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุม

คดีนี้เดิมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 2 ราย ได้แก่ สิรภพ (จำเลยที่ 1) และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ (จำเลยที่ 2) แต่ในนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรก ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของชูเกียรติ เนื่องจากตัวจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลและออกหมายจับ และพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อไปเพียงคนเดียว

ข้อมูลจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 สิรภพและชูเกียรติได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งการชุมนุมในวันนั้นมีการเดินขบวนไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นภายหลังตำรวจใช้กำลังอย่างการฉีดน้ำความดันสูง สารเคมี และแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่บริเวณหน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บรรยากาศในการชุมนุมจึงเต็มไปด้วยความโกรธและไม่พอใจ คนจำนวนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บหรือผลกระทบมาจากเหตุการวันก่อนหน้านั้น ป้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกละเลงด้วยสีต่างๆ 

ระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียง ระหว่างการเคลื่อนขบวน สิรภพและชูเกียรติ ได้ขึ้นปราศรัย เป็นเหตุให้ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 กรณีของสิรภพกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนชูเกียรติได้กล่าวเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ประพฤติตัวดีขึ้น

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน ชี้อัตราโทษสูง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน เชื่อจะหลบหนี

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 สิรภพและชูเกียรติถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องทั้งสิ้น 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

หลังศาลรับฟ้องทนายความได้ยื่นประกันตัวสิรภพด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งศาลอาญากรุงเพทใต้ยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพยานหลักฐานที่ปรากฎและพฤติการณ์แห่งคดีตามคำฟ้องโจทก์ และเห็นว่าสิรภพ (จำเลยที่ 1) ถูกฟ้องในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 อาจก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำอีก” และสิรภพถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเป็นครั้งแรก

ทนายความยื่นขอประกันตัวใหม่ หลังการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวแล้ว ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวสิรภพ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด ทำให้เขาถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งหมด 4 วัน ก่อนถูกปล่อยตัว และหลังจากนั้นเขามาตามนัดหมายของศาลทุกครั้ง เขาให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีว่าสิ่งที่เขาพูดนั้น ไม่เป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112

25 มีนาคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า สิรภพมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในวันเดียวกันสิรภพก็ยื่นขอประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีต่อในชั้นศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา สิรภพจึงถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ต่อมา 27 มีนาคม 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”  

You May Also Like
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ
อ่าน

จำคุกทนายอานนท์ 2 ปี 20 วัน กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม โทษ 3 คดี 10 ปี 20 วัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกอานนท์ นำภา ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม 2 ปี 20วัน ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 100 บาท