ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

25 มีนาคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธเป็นเวลาสองปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยไม่รอการลงโทษจากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำปราศรัยเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน หากเปรียบเทียบกับอดีตนักกิจกรรมนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 ขนุนน่าจะไม่ใช่คนที่ถูกพูดถึงหรือเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะเท่ากับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในช่วงเวลาเดียวกันอย่างเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์หรือรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แต่ตัวเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ อย่างการยืนชมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 และตะโกนว่า “สวนสวยจริงๆ” เพื่อเสียดสีกรณีที่เจ้าหน้าที่นำกระถางต้นไม้มาวางบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมหรือรวมตัวบนอนุสาวรีย์

แม้จะไม่ได้อยู่แนวหน้า แต่ขนุนก็ทำงานร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆอย่างแข็งขัน วันที่ 17พฤศจิกายน 2563 ที่มีการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมราษฎรที่หน้ารัฐสภา ขนุนเองก็อยู่ในที่ชุมนุมด้วย ความรู้สึกหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นต่อการใช้มาตรการอันแข็งกร้าวของเจ้าหน้าที่ทำให้ขนุนตัดสินใจขึ้นปราศรัยในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขาขึ้นปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จนกลายเป็นมูลเหตุที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา112 คดีแรกและคดีเดียว ทว่าคดีเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาต้องสิ้นอิสรภาพ หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา ทนายความของขนุนยื่นขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเขาไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ส่งผลให้ขนุนถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำระหว่างรอคำสั่ง ก่อนที่ต่อมาศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวขนุน อ้างว่า “คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวจำเลยอาจหลบหนี” แม้ก่อนหน้านี้ขนุนจะมาตามนัดศาลทุกครัังก็ตาม

iLaw ชวน ผศ.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน หรืออาจารย์บี อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร ผู้เป็นอาจารย์ระดับปริญญาตรีของขนุนและเป็นคนที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและระบบเรือนจำ พูดคุยถึงตัวตนของขนุนผู้เป็นลูกศิษย์ในมุมที่เธอรู้จัก พร้อมชวนตั้งคำถามต่อไปว่าสังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากการเอาตัวขนุนไปคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์

ลูกศิษย์ในมุมที่อาจารย์รู้จัก

“ขนุนเป็นนิสิตปกครอง ส่วนตัวบีสอนรปศ. [รัฐประศาสนศาสตร์] เลยได้สอนขนุนแค่วิชาพื้นฐานตอนปีหนึ่งกับวิชาวิจัย เท่าที่รู้จักขนุนก็เป็นนิสิตธรรมดาๆคนหนึ่ง ถึงแม้ตัวขนุนจะชอบแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์ตามสไตล์คนเรียนปกครอง แต่ก็จะมีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่าจะเป็นนักกิจกรรม คืออย่างนักกิจกรรมเนี่ยเห็นปุ๊ปรู้เลยจากลักษณะท่าทาง แต่ขนุนไม่ใช่แบบนั้น”

“บีเพิ่งมารู้จักว่าขนุนเป็นใครจริงๆก็หลังจากเขาออกมาทำกิจกรรมแล้ว เวลาที่คุยกันขนุนจะบอกเสมอว่า ในการทำกิจกรรมเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับเรื่องที่เพื่อนๆในขบวนทำหรือตัดสินใจในทุกๆเรื่อง เขามีความเห็น มีมุมมองของตัวเอง”

“บีมาคุยกับขนุนมากขึ้นช่วงหลังจากที่เขาออกมาจากเรือนจำรอบแรก (ปี 2564) คงเป็นเพราะบีศึกษาเรื่องเรือนจำ เคยเข้าไปทำงานวิจัยข้างในแล้วก็เคยยกตัวอย่างเรื่องที่เจอเวลาที่สอนนิสิต พอขนุนออกมาจากเรือนจำเค้าก็เลยมาเล่าประสบการณ์ว่าเจออะไรมาบ้าง”

“ประมาณปีก่อน [2566] มีลูกศิษย์ที่ภาคคนหนึ่งถูกจับจากกรณีไปทำกิจกรรมสาดสีสถานีตำรวจร่วมกับตะวันแบม บีตามไปดูลูกศิษย์ว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง บีเลยมีโอกาสไปเจอขนุนที่ตอนนั้นกำลังช่วยงานศูนย์ทนายความฯ”

“ระหว่างที่รอกระบวนการทางคดี บีมีโอกาสคุยกับขนุนแบบยาวๆ ทำให้ได้รู้จักเขามากขึ้น จากบทสนทนาทำให้บีรู้สึกว่าขนุนมีการเติบโตทางความคิดขึ้นมาก ช่วงที่เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนที่เรียนอยู่มศว มันเหมือนกับขนุนไปไกลสุดในทางการเมืองแล้ว หลังจากนั้นมันเหมือนกับว่าขนุนค่อยๆถอยตัวเองออกมา ไม่ได้ถอยในเรื่องความคิดความเชื่อ แต่เป็นการปรับในเรื่องของวิธีการเคลื่อนไหว ขนุนรู้แล้วว่าวิธีการแสดงออกหรือการจัดการกับความโกรธที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองมันมีหลายวิธี”

“ก่อนหน้าที่ขนุนจะต้องเข้าฟังคำพิพากษา บีมีโอกาสแชทคุยกับเขาอีกครั้งหนึ่ง พอดีเห็นข่าวว่าจะมีพิพากษาก็เลยทักไปคุยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขนุนก็เล่าถึงความเป็นไปได้ต่างๆว่าจะมีทางไหนบ้าง ขนุนยังถามแบบติดตลกด้วยว่าตอนนี้อาจารย์ทำวิจัยเรื่องอะไรอยู่ อยากให้ไปช่วยเก็บข้อมูลอะไรไหม บีก็บอกว่าไม่ต้องหรอกขอให้ได้ออกมา แล้วก็ไม่ได้คุยอะไรกันต่อ ก่อนที่จะมารู้ข่าวว่าขนุนไม่ได้ประกันออกมา”

การคุมขังระหว่างพิจารณาคดี กับคำถามถึงประโยชน์สูงสุดของสังคม

“ตามหลักแล้วคนที่ถูกพิจารณาคดีจะต้องได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน ถ้าจะมีการเอาคนที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินถึงที่สุดไปคุมขัง ก็จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและพิจารณาว่าการเอาคนเหล่านั้นไปคุมขังจะเกิดประโยชน์อะไรกับสังคม”

“ในกรณีของไทยหลายๆครั้งอาจจะไม่ได้มีการพิจารณาถึงความจำเป็นและประโยชน์สูงสุดอย่างถี่ถ้วน กลายเป็นว่าการเอาคนไปขังมักจะทำให้เรื่องเงียบ สังคมก็สบายใจ ไม่มีใครออกมาพูดอะไร รัฐเลยมักเลือกใช้วิธีนี้เพื่อเก็บสิ่งที่รัฐคิดว่าเป็นปัญหา”

“พอคนที่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องถูกคุมขังถูกเอาไปเก็บไว้ในเรือนจำมากเข้า จำนวนของเรือนจำในประเทศที่มีก็เลยไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ การจำแนกประเภทผู้ต้องขังตามหลักที่ควรเป็นระหว่างผู้ต้องขังที่ตัดสินแล้วกับผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกตัดสินก็เลยทำไม่ได้จริง ทำให้ในเรือนจำมีความหลากหลายมาก จนไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วการเข้าไปอยู่ท่ามกลางความหลากหลายนั้นมันจะทิ้งรอยอะไรไว้ให้กับคนที่เข้าไปอยู่ในนั้นบ้าง”

“กระบวนการยุติธรรมมันไม่ใช่เรื่องปกติในชีวิตของคนเรา เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เตรียมที่จะรับมือกับมันในชีวิตปกติ เราไม่เคยถูกสอนว่าโตขึ้นมาจะได้หมายศาล มันไม่เหมือนกับที่เราเคยถูกสอนว่า โตขึ้นจะต้องเสียภาษี”

“คนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะในสถานะอะไร มันเหมือนชีวิตของเราจะไม่ปกติอีกต่อไปแล้ว ยิ่งคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย กระบวนการยุติธรรมจะทิ้งรอยบางอย่างไว้กับชีวิตของพวกเขา คนที่ไม่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีก็อาจจะแค่เสียเวลา เสียโอกาสในการหารายได้ในวันที่ต้องไปตามนัด แต่ถ้าเป็นคนที่ถูกคุมขังสิ่งที่เสียไปมันมากกว่าแค่เสียเวลาแน่ๆ อย่างที่บอกไปว่าผู้คนในเรือนจำมันมีความหลากหลาย เราไม่รู้เลยว่าคนที่เข้าแต่ละคนต้องพบเจอกับอะไรบ้าง”

“สำหรับกรณีของขนุน ความจำเป็นและประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการเอาตัวของเขาไปคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นสิ่งที่ควรถูกตั้งคำถาม อย่างเรื่องของความจำเป็น ตอนนี้ตัวของขนุนก็ไม่ได้มีบทบาทอย่างในช่วงปี ‘63 แล้วและสถานการณ์ในประเทศก็ไม่ได้เหมือนกับช่วงนั้นแล้ว ส่วนประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการเอาตัวขนุนไปคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ถึงวันนี้ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าสังคมได้อะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือตัวของขนุนได้เสียเวลา เสียโอกาสในชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญคือเมื่อถึงวันที่ขนุนได้ออกมา ก็บอกไม่ได้เลยว่าการเข้าไปในเรือนจำครั้งนี้จะทิ้งรอยอะไรไว้ให้ขนุนบ้างและท้ายที่สุดจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นฟูสภาพจิตใจและจัดการกับรอยที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ในเรือนจำ”