ใกล้คลอด! ร่างยุทธศาสตร์ชาติเผยโฉม ตั้งเป้าหมายสูงพาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่เห็นวิธีการ

ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามปฏิทินของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561 ร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้วทั้งหกด้านจะถูกนำเสนอต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน รับไปพิจารณา ซึ่งเท่ากับเลยช่วงเวลาการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆ แล้ว

ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า “ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านจัดทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2561 และถูกนำไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสี่จังหวัดในสี่ภูมิภาค คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา แม้จะมีการเปิดฟังความคิดเห็นจากช่องทางอื่นด้วย เช่น เปิดให้ส่งความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ แต่ประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่ทราบข่าวสารและช่องทางการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เลย จึงไม่อาจเข้าร่วมแสดงความเห็นได้ทัน”

สำหรับเนื้อหาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำลังจะถูกเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในวันจันทร์ที่ 9 เมษายนนี้มีจุดร่วมคล้ายกัน คือ การวาดภาพฝันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีหลังจากนี้ไป ซึ่งเป้าหมายหลายอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่ดี น้อยคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้จริง เช่น เป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40 ขณะที่ข้อมูลปัจจุบัน ระบุว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 7.10 หรือเป้าหมายการนำประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ที่ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,800 บาทต่อคนต่อปีไปจนถึงปี 2579 หรือการตั้งเป้าให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของโลกตามดัชนีชี้วัดความสุขของประชากร ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศแคนาดากับออสเตรเลีย เหล่านี้เป็นเพียงเป้าหมายลอยๆ ที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติเองก็ไม่ได้กำหนดวิธีการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

“ความน่ากังวล คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้จะมีหน้าที่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณให้สอดคล้องกัน โดยมี ส.ว. ที่ คสช. เลือกเอาไว้เป็นคนติดตาม กำกับการทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเป้าหมายแต่ละด้านตั้งไว้สูง โดยไม่ได้เขียนวิธีการไว้ หากรัฐบาลชุดหน้าทำไม่สำเร็จ ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อไปได้”

“น่าดีใจที่หลายพรรคการเมืองประกาศว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. อย่างไรก็ตาม หากร่างฉบับนี้ถูกประกาศใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับพรรคการเมืองที่จะยกเลิก เพราะต้องผ่านด่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน เป็นอย่างน้อย ดังนั้น ช่วงเวลานี้พรรคการเมืองหรือประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการปฏิรูปด้านต่างๆ จึงควรช่วยกันติดตามร่างยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เพื่อเตรียมความพร้อมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือเพื่อปรับเปลี่ยนและเสนอให้ยกเลิก บรรดาสิ่งที่เขียนไว้แล้วแต่เป็นไปไม่ได้” ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

เมื่อคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติทุกด้านเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปร่างทุกด้านจะถูกส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติชาติพิจารณา (สนช.) เห็นชอบตามลำดับ ทั้งนี้หาก ครม. ขอแก้ไข ร่างก็จะถูกส่งกลับไปให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง แต่หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ก็ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 9 เดือนหลังจากวันที่พิจารณาไม่เห็นชอบ แต่หากทุกขั้นตอนผ่านฉลุย ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2561 นายกรัฐมนตรีจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช. ให้ความเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ต่อไป

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น