นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนเมษายน 2567

จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 134 คดีจากทั้งหมด 301 คดี สิทธิการประกันตัวยังเป็นประเด็นสำคัญ มีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี และหลังมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยประสงค์อุทธรณ์คดีแต่ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างการสู้คดีในศาลสูง มีผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำอย่างน้อย 45 คน ในจำนวนนี้เป็นจำเลยในคดี มาตรา 112 27 คนโดย 17 คนยังอยู่ระหว่างการสู้คดี  กรณีล่าสุดคือ ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักกิจกรรม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญาและไม่ได้ประกันตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

คดีมาตรา 112 เป็น “คดีการเมือง” การวิจารณ์หรือเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์เป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเป็นความผิดต่อกฎหมายใดตั้งแต่แรก นอกจากนี้ปริมาณการบังคับใช้มีความสัมพันธ์กับการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งการปราบปรามหลังการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 ส่งผลให้มีจำนวนคดีมากที่สุดนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 และจำเลยบางคนอาจต้องเผชิญโทษชนิดที่ลมหายใจไม่ได้พบพานกับอิสรภาพนอกเรือนจำอีกแล้ว

เดือนเมษายน 2567 มีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อยสามคดี ขอเชิญชวนประชาชนไปร่วมสังเกตการณ์คดีหรือให้กำลังใจจำเลย “คดีการเมือง” ได้ที่ศาล หรือหากไม่สะดวกสามารถผูกโบว์ขาวให้กำลังใจในวันที่มีคำพิพากษาได้

คดีพรชัยโพสต์เฟซบุ๊กสี่ข้อความหมิ่น ร. 10

วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 22 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพรชัย วิมลศุภวงศ์ ชาวปกาเกอะญอวัย 38 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เขาถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความสี่ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และเชิญชวนให้ไปร่วมการชุมนุม คดีนี้มีเจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส. เป็นผู้กล่าวหา  โดยพรชัยต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง เนื่องจากเฟซบุ๊กของตนถูกแฮ็กในช่วงดังกล่าว ทั้งพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ปรักปรำเขาก็ไม่มีน้ำหนักมั่นคง เพราะการพิมพ์จากภาพบันทึกหน้าจอ ไม่ใช่เป็นการพิมพ์จากเว็บเบราเซอร์ที่จะมี URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ติดมาด้วย ทั้งยังเป็นการใช้โทรศัพท์บันทึกวิดีโอเพียงบางส่วนมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล

ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาพิเคราะห์แต่ละข้อความตามฟ้อง เห็นว่า มีเจตนากล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีการใช้สรรพนามไม่เหมาะสมและนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งยังชักชวนผู้อ่านข้อความให้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนข้อต่อสู้เรื่องการถูกโจรกรรมเฟซบุ๊กศาลเห็นว่า จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวถูกโจรกรรม โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีบุคคลได้นำภาพของจำเลยไปตัดต่อหรือใช้แทน หากมีผู้โจรกรรมเฟซบุ๊กจริง จำเลยน่าจะต้องแจ้งความหรือดำเนินการอย่างไรเพื่อหาตัวผู้กระทำ แต่จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งเชื่อว่าโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

เมื่อจำเลยรับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีคลิปวิดีโอที่จำเลยไลฟ์แนะนำตนเองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน จึงเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความตามฟ้อง เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นคนละวันและเวลา ต่างกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป โดยให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักสุด ได้แก่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกระทงละสามปี รวมสี่กระทง รวมจำคุก 12 ปี

พรชัยยังมีคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีคือ ที่ศาลจังหวัดยะลาจากการถ่ายคลิปวิดีโอตัวเองลงบนเฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความอีกสองข้อความ คดีนี้มีวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ ชาวอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นผู้ริเริ่มแจ้งความไว้ที่สภ.บันนังสตา ในชั้นศาลพรชัยรับว่า คลิปวิดีโอเป็นของเขาจริง แต่อีกสองโพสต์เขาไม่ได้เป็นคนโพสต์และหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ฟ้องคดีไม่น่าเชื่อถือ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ศาลพิพากษา ให้มีความผิดหนึ่งกรรมจากการโพสต์คลิปไลฟ์ ในขณะที่อีกสองกรรมให้ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่ปรากฏ URL จึงไม่สามารถตรวจสอบไปยังต้นโพสต์ได้

คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลจังหวัดยะลาวางแนวทางต่างกัน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่รับฟังข้อต่อสู้เรื่องการถูกโจรกรรมและพยานหลักฐานอิเลกทรอนิกส์ โดยมองว่า มีคลิปวิดีโอที่จำเลยไลฟ์แนะนำตนเองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความและภาพทั้งสี่โพสต์ตามฟ้อง ในขณะที่ศาลจังหวัดยะลาลงโทษเฉพาะคลิปไลฟ์ และยกฟ้องโพสต์ที่เป็นข้อความและภาพอีกสองโพสต์เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าภาพถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

แอมมี่-ปูน กรณีเผารูป ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม

วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญานัดแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็งฟังคำพิพากษา สืบเนื่องจากแอมมี่และปูน ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นำสู่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 หลังเกิดเหตุวันที่ 3 มีนาคม 2564 แอมมี่ถูกจับกุมและไม่ได้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จึงได้รับการประกันตัวในการร้องขอครั้งที่แปด รวมระยะเวลาคุมขังในชั้นสอบสวนของตำรวจ 69 วัน 

ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ช่วงกลางคืนไชยอมร ธนพัฒน์ กับพวกอีกคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันวางเพลิงโดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ ซึ่งประดิษฐานที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และเป็นทรัพย์สินของเรือนจำกลางคลองเปรม จนไฟได้ลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงสร้างไม้ เหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหาย รวมทั้งสิ้นหกรายการ และค่าติดตั้งหนึ่งรายการ รวมเป็นความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 60,000บาท ซึ่งเรือนจำกลางคลองเปรมได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่สิบ

ต่อมาไชยอมรได้โพสต์ภาพที่ไฟกำลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และมีการพิมพ์ข้อความว่า “สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่า เมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้ พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา ///” ในบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อว่า “The Bottom Blues” ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นบัญชีสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ประกอบการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งจำเลยมีการแสดงออกโดยมีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการมัวหมองในระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

แอมมี่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งภายหลังถูกจับกุม แอมมี่โพสต์ข้อความว่า เหตุดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเขาต่อกรณีนักกิจกรรมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว  ส่วนปูนถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และวางเพลิงเผาทรัพย์

ส่วนปูน จำเลยร่วมคดีนี้ ขณะเกิดเหตุมีอายุ 18 ปีกับอีกเก้าวัน ทำให้เขาไม่ได้ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัว  แม้ทนายจะพยายามต่อสู้ให้ได้ย้ายไปพิจารณาคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัวตามคำวินิจฉัยพฤติกรรมของแพทย์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ศาลให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยของแพทย์ใช้เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจแต่เพียงเท่านั้น ในชั้นศาล จำเลยทั้งสองรับว่า เป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรมจริงตามที่อัยการฟ้อง แต่การกระทำของทั้งคู่ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการเผาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

พิพากษาทนายอานนท์คดีที่สาม เหตุปราศรัย #ม็อบแฮรีพอตเตอร์2

วันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษา คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบแฮรีพอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564  คดีนี้มีนพดล พรหมภาสิต  เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา 

ตามคำฟ้องอานนท์ปราศรัยมีเนื้อหาทำนองว่า การชุมนุมในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมาผู้ชุมนุมถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวได้มีการสื่อสารถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายแสดงว่า พระองค์ทรงมีพฤติกรรมไม่ชอบในทางทรัพย์สิน หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนพระองค์เป็นสำคัญ กล่าวคือ พฤติการณ์การถ่ายโอนเอาทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไปเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวในทํานองการยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นของหลวงของแผ่นดิน อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติและภาพลักษณ์ของพระองค์

การกล่าวถึงการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและการที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสยามไบโอไซน์ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายแสดงว่า รัชกาลที่สิบทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับรัฐบาล หรือมุ่งใส่พระทัยในผลประโยชน์โดยมิชอบในทางทรัพย์สินส่วนพระองค์ ร่วมกันกับรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงภายในประเทศ โดยมิได้ใส่พระทัยในความเป็นอยู่ที่ยากลําบากหรือการเจ็บป่วยล้มตายของประชาชน แม้เป็นการกล่าวในลักษณะว่าร้ายโดยเจาะจงแก่นายกรัฐมนตรี แต่ด้วยการกล่าวถึงเหตุผลประกอบต่างๆ แล้ว การกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงลักษณะของการใช้สํานวนโวหารเพื่อให้บรรลุความประสงค์แท้จริงในการใส่ความพระมหากษัตริย์ของจําเลยเท่านั้น อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติ และภาพลักษณ์ของพระองค์

คดีนี้ถือเป็นคดีที่สามจากทั้งหมด 14 คดีของอานนท์ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทำนองว่า หากมีการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวพระมหากษัตริย์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ระหว่างการชุมนุม #คณะราษฎร63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นอกจากนี้อานนท์ยังถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่นๆด้วย ได้แก่ ความผิดฐานชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดฐานกีดขวางการจราจร ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงความผิดฐานทำลายทรัพย์สินจากกรณีที่เขาบอกให้ผู้ชุมนุมย้ายกระถางต้นไม้ของกรุงเทพมหานครออกจากฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลพิพากษาว่า อานนท์มีความผิดตามมาตรา 112 และฐานร่วมกับผู้อื่นฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกตามมาตรา 112 เป็นเวลาสี่ปี และปรับเงิน 20,000 บาท ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา

คดีที่สอง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ศาลอาญาพิพากษาว่า เขามีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกสี่ปี ไม่รอลงอาญา เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 1-5 มกราคม 2564 อานนท์โพสต์ข้อความลงบนบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” สามข้อความมีรายละเอียดดังนี้ โพสต์ตั้งคำถามถึงการดำเนินคดีมาตรา 112 กับกรณีผู้ที่เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์ โพสต์ถึงการที่ตำรวจบอกว่า การทำให้ผู้เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิดตามมาตรา 112 พร้อมยกตัวอย่างการวิจารณ์กษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงจาก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ว่า หากวิจารณ์ในลักษณะดังกล่าวจะต้องมีโทษจำคุก 3-15 ปีตามมาตรา 112 หรือไม่ และย้ำว่า เรื่องสาธารณะควรเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และโพสต์ตั้งคำถามถึงจุดยืนของฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์และการใช้ทรัพย์สินของกษัตริย์

สองคดีนี้ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้วแปดปี ไม่ลดสักวันเดียว และหลังจากการศาลมีคำพิพากษาชั้นต้นในคดีแรกเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้น จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 อานนท์ถูกคุมขังระหว่างการสู้คดีแล้ว 189 วัน