สว. ชุดพิเศษ เห็นชอบรับร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระหนึ่ง เหลือพิจารณาต่อวาระสอง-สาม

2 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระหนึ่ง โดยเป็นการพิจารณาต่อจากสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระสามเมื่อ 29 มีนาคม 2567

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งยังคงรับรองสิทธิการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ให้รับรองสิทธิสมรสสำหรับบุคคลสองฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ และเปลี่ยนอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี การรับรองสิทธิสมรสโดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง จะส่งผลให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง กระบวนการต่อไปคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน ซึ่งจะเป็นการพิจารณาเชิงรายละเอียด หลังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภา วาระสอง ลงมติรายมาตรา และการพิจารณาเห็นชอบในวาระสามต่อไป

หาก สว. แก้ไขร่างกฎหมาย กระบวนการพิจารณาจะยิ่งช้าขึ้น

เมื่อวุฒิสภารับร่างกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ก็จะพิจารณาร่างกฎหมายโดยแบ่งเป็นสามวาระเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ หากไม่เสร็จภายในเวลาจะถือว่าวุฒิสภาได้เห็นชอบร่างกฎหมายนั้นแล้ว โดยมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ร่างกฎหมายทั่วไปต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สามารถลงมติขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษได้ไม่เกิน 30 วัน

โดยกระบวนการพิจารณาต่อไปหลังวุฒิสภารับหลักการในวาระหนึ่ง คือการพิจารณารายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ หากกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องส่งเข้ามาให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง ตามด้วยการลงมติเห็นชอบทั้งฉบับในวาระสาม

อย่างไรก็ดี ในวาระสาม หากวุฒิสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร

  • ถ้า สส. เห็นชอบด้วยกับการแก้ไข ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

อ่านขั้นตอนการพิจารณากฎหมายได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667

สว. เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม ตั้งข้อห่วงกังวลรายละเอียดกฎหมาย

ในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่ง ชั้นวุฒิสภา มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย โดยภาพรวม สว. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความละเอียดรอบคอบในการยกร่างกฎหมาย

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ย้ำสนับสนุนร่างกฎหมาย แต่ในฐานะคนออกกฎหมาย จะต้องดูให้รอบคอบ ไม่ให้มีปัญหากับการนำกฎหมายไปใช้ต่อไป

พล.อ.ตรี เฉลิมชัย เครืองาม สว. ระบุว่าหากร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ผ่าน ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แต่ตั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิ สิทธิประโยชน์ สวัสดิการของคู่สมรสที่กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับหลายฉบับอาจจะกำหนดโดยใช้คำว่า “สามี-ภริยา” “ชาย-หญิง” ขอให้รัฐบาล หน่วยงานรัฐ พิจารณาและทบทวนว่ากฎหมายใดที่สมควรจะแก้ไขและสอดคล้องกับการรับรองสิทธิสมรสระหว่างบุคคลสองคน และฝากอีกเรื่อง คือการอุ้มบุญ (พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558) ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ