ยกฟ้อง ม. 112 ‘สมพล’ คดีปาสีแดงใส่รูป ร. 10 แต่จำคุก 8 เดือนฐานทำให้เสียทรัพย์

วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.507/2565 เขาถูกกล่าวหาว่าปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และยังถูกกล่าวหาว่าถ่ายรูปพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนลงไปในกลุ่มไลน์  ข้อหาตามคำฟ้องได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา358 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ

คดีนี้ศาลยกฟ้องมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และลงโทษจำคุกฐานทำให้เสียทรัพย์หนึ่งปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือจำคุกแปดเดือน โดยศาลให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี

‘สมพล’ ถูกกล่าวหาจากกการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์รวมหกคดี  โดยห้าคดีเป็นการปาสีแดงและอีกหนึ่งคดีเป็นการใช้สเปรย์พ่นข้อความ สรุปรวมแล้วมีสี่คดีศาลยกฟ้องมาตรา 112 แต่ลงโทษจำคุกและปรับในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และอีกหนึ่งคดีศาลลงโทษตามมาตรา 112 

สำหรับบรรยากาศในนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ สมพลเดินทางมาศาลคนเดียวด้วยรถจักรยานยนต์ โดยยังไม่รับประทานอาหารเช้า เวลา 9.33 น. เขามาถึงห้องพิจารณาคดีและเล่าให้ผู้สังเกตการณ์ฟังว่า เช้านี้รู้สึกอึดอัด คิดอะไรไม่ออก พร้อมกับบอกว่าไม่มีใครควรที่จะถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงคดีของเขาเช่นกัน วันที่ 9.57 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และเวลา 10.14 น. จึงเริ่มฟังคำพิพากษา โดยสรุปดังนี้

จำเลยเป็นผู้ก่อเหตุจริง โดยปรากฏภาพหลักฐานกล้องวงจรปิดที่ติดตามรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่แวะจอดเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งและชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ เมื่อตรวจค้นบ้านของผู้ก่อเหตุ พบสีชนิดเดียวกันกับที่พบในที่เกิดเหตุ และเมื่อตรวจสอบโทรศัพท์มือถือพบรูปที่จำเลยถ่ายที่เกิดเหตุส่งในกลุ่มไลน์ เมื่อหลักฐานทุกอย่างสอดคล้องกันจึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้สาดสีจริง การปาสีของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เขียนข้อความ ทำเครื่องหมาย หรือแสดงพฤติการณ์ใด ๆ อันเป็นการแสดงกิริยาท่าทาง พูดหรือเขียน เป็นเชิงดูถูกเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ 

เห็นว่า ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่ถือว่า เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษบทหนักที่สุดคือ ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกหนึ่งปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์เป็นเหตุให้บรรเทาโทษหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุกแปดเดือน