พรุ่งนี้ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี 112 ของแอมมี่ – ปูน กรณีเผารูป ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1199/2564 ทั้งสองถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำคลองเปรม

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องในคดีนี้กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ช่วงกลางคืนไชยอมร ธนพัฒน์ กับพวกอีกคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันวางเพลิงโดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ ซึ่งประดิษฐานที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และเป็นทรัพย์สินของเรือนจำกลางคลองเปรม จนไฟได้ลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงสร้างไม้ เหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหาย รวมทั้งสิ้นหกรายการ และค่าติดตั้งหนึ่งรายการ รวมเป็นความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 60,000 บาท ซึ่งเรือนจำกลางคลองเปรมได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่สิบ

ต่อมาไชยอมรได้โพสต์ภาพที่ไฟกำลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และมีการพิมพ์ข้อความว่า “สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่า เมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้ พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา ///” ในบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อว่า “The Bottom Blues” ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นบัญชีสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ประกอบการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งจำเลยมีการแสดงออกโดยมีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการมัวหมองในระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

โดยแอมมี่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งภายหลังถูกจับกุม แอมมี่โพสต์ข้อความว่า เหตุดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเขาต่อกรณีนักกิจกรรมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว  ส่วนปูนถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และวางเพลิงเผาทรัพย์ 

ย้อนสามเหตุการณ์ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ทั้งสองรับเป็นคนเผาแต่ไม่ผิดมาตรา 112

  • ขอโอนคดีของปูนไปพิจารณาที่ศาลเยาวชน

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ปูนมีอายุ 18 ปีกับอีกเก้าวัน ทำให้เขาไม่ได้ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัว (ศาลเยาวชนฯ)  ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ทนายความยื่นต่อศาลอาญา ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งโอนคดีของปูนไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 พร้อมกับข้อเท็จจริงทางคดี และอุปนิสัยของปูน อย่างไรก็ตามศาลยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้โอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ แม้แพทย์ได้ลงความเห็นว่า ปูนมีอาการวู่วาม คล้อยตามความเห็นเพื่อน รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตั้งใจได้แค่บางส่วน และวินิจฉัยว่า จำเลยนั้นมีพฤติกรรมและนิสัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชน

  • จำเลยรับเผาจริง แต่ไม่เข้าข่ายมาตรา 112

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สืบ ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112

ฝ่ายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เบิกความว่า จากการค้นคว้าของพยานในประเด็นการประท้วงเผาเชิงสัญลักษณ์พบว่า ประเทศที่มีคดีคล้าย ๆ กันในลักษณะนี้ คือประเทศสเปน โดยเกิดในช่วงปี 2540 มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอาญา และศาลพิพากษาลงโทษ อย่างไรก็ตาม ประเทศสเปนเป็นรัฐภาคีอยู่ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป ดังนั้น ผู้เสียหาย คู่ความโจทก์ จำเลยต่าง ๆ หลังจากพิพากษาแล้วก็สามารถร้องต่อไปยังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ ซึ่งคดีนี้พอไปถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดีนั้นเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ มีคำอธิบายว่า เป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง  ศาลเห็นว่าการแสดงออกทางการเมืองแม้จะกระทบกระทั่งผู้คนอื่นอยู่บ้าง ทำให้สังคมสะเทือนใจอยู่บ้าง แต่ในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องอดทนอดกลั้นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบทางกฎหมาย ในกรณีนี้ พยานไม่เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 112

  • ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

สืบเนื่องจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 ระหว่างการสืบพยานทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ข้อความที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ไม่ได้บัญญัติถ้อยคำอันแสดงถึงคุณธรรมที่เป็นมูลฐานที่กฎหมายต้องการคุ้มครอง คือ อันตรายต่อประชาชนทั่วไปอย่างชัดแจ้ง บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” แต่ไม่ได้บัญญัติว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป”  บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีความแน่นอน เปิดช่องให้ตีความเป็นผลร้ายต่อจำเลยทั้งสอง เนื่องจากมีบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะคุ้มครองทรัพย์ของบุคคลไว้อยู่แล้วตามมาตรา 358 ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดจะเป็นความผิดตามกฎหมายบทใด เมื่อพิจารณาประกอบกับการเผาทรัพย์ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงเรียกร้อง เป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ 34 ยิ่งทำให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุ 

นอกจากนี้สัดส่วนโทษระหว่างมาตรา 217 มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ 10,000-140,000 บาท ขณะที่มาตรา 258 ซึ่งเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียไปเช่นเดียวกัน กลับมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและยังเป็นความผิดฐานยอมความได้ ดังกล่าวจึงเป็นเหตุโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 26 และ 34 หรือไม่ วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ