ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา

นอกจากอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมาย การให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ รวมถึงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรรัฐที่กฎหมายกำหนด เช่น อัยการสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยังมีหนึ่งในอำนาจหน้าที่สำคัญ คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผ่านการตั้งกระทู้ถาม หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มาชี้แจง

วันที่ 25 มีนาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ มีวาระสำคัญ เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ หากย้อนดูการทำงานของ สว. ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. ในรอบห้าปี พบว่า สว. ชุดพิเศษ “ไม่เคย” ใช้กลไกเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักฟอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่กลับใช้กลไกนี้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เพื่ออภิปรายรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน

รัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจ สว. อภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติได้

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ปีกของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ผ่านการ

1) อภิปรายไม่ไว้วางใจครม. หรือรัฐมนตรีรายบุคคล (มาตรา 151) หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (มาตรา 170 (3))

2) อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อครม. โดยไม่มีการลงมติ (มาตรา 152)

สำหรับวุฒิสภา จะไม่มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเหมือนสภาผู้แทนราษฎร แต่สิ่งที่สามารถทำได้เหมือนสภาผู้แทนราษฎร คือการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 153 กำหนดให้ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ กระบวนการนี้จะไม่มีผลให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งแต่อย่างใด

การเปิดอภิปรายทั่วไป จะสามารถทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น (มาตรา 154 วรรคหนึ่ง)

ซักฟอกรัฐบาล 7 ประเด็น ทิ้งท้ายก่อนปิดสมัยประชุม-หมดอายุ สว.

สว. ชุดพิเศษ จะมีอายุถึง 11 พฤษภาคม 2567 นอกจากนี้ สมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ก็กำลังจะปิดในวันที่ 10 เมษายน 2567 การเปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จึงเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ สว. ชุดพิเศษจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป และ สว. ชุดพิเศษนี้ จะไม่มีโอกาสกลับมาเป็น สว. ชุดใหม่ที่มีที่มาจากการเลือกกันเองได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ข. (9) กำหนดให้ลักษณะต้องห้าม สว. 2567 ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้

เสรี สุวรรณภานนท์ และ สว. อีก 98  คน เสนอเปิดอภิปรายรัฐบาลเศรษฐาเจ็ดประเด็น ได้แก่

  1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ-ปากท้อง เช่น ประเด็นนโยบาย Digital Wallet
  2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ปัญหาการปฏิบัติกับผู้ต้องขังที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
  3. ปัญหาด้านพลังงาน
  4. ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม เช่น ความล่าช้าในการการผลักดันกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เข้ารัฐสภา
  5. ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว เช่น ปม “จีนเทา” และความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
  6. ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในการทำประชามติ
  7. ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอญัตตินี้ ระบุว่า การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาครั้งนี้ไม่ใช่การล้มรัฐบาล แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลควรทำตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและหาเสียงไว้กับประชาชน เชื่อว่าจะมีผลทางบวกในทางปฏิบัติที่รัฐบาลจะทำงานเพื่อประชาชน

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ