ปูน-ธนพัฒน์ : การต่อสู้อาจจะนานและเจ็บปวดแต่ถ้ายังสู้อยู่ก็จะไม่แพ้

วันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 -17.00 น. ไอลอว์จัดกิจกรรม Stand together ส่งใจให้ผู้ต้องหา ก่อนเผชิญคำพิพากษา 112 ในเดือนมี.ค. 67  โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนหลักสามคน ได้แก่ ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ฟังคำพิพากษาคดีปราศรัยใน #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์  วันที่ 25 มี.ค. 67 ปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง ฟังคำพิพากษาคดีเผารูป ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม  วันที่ 26 มี.ค. 67 และไมค์-ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์ ฟังคำพิพากษาคดีโพสต์ #ราษฎรสาส์น ถึงร. 10 บนเฟซบุ๊ก วันที่ 28 มี.ค. 67 

ปูนเล่าถึงประสบการณ์การถูกจับกุมครั้งแรกว่า  เขาถูกจับกุมในที่ชุมนุมและทราบว่า มีหมายจับอีกสองคดี หนึ่งในคดีที่มีหมายจับคือ คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำคลองเปรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เวลานั้นก็อยู่กับเพื่อนที่มาคอยให้กำลังใจ

“ตอนนั้นถามว่า รู้สึกกลัวไหม ก็กลัวแต่ว่าต่อหน้าคนอื่นก็บอกว่า ไม่กลัว อันนี้คือแอบไปร้องไห้ด้วยตอนนั้นหน้ากระจกในห้องน้ำคนเดียวแต่ก็รู้สึกว่า คิดตอนนั้นมันก็เครียดแต่มาดูตอนนี้มันก็ตลก…เราควรกังวลไหมกับแค่เรื่องจะได้ประกันตัวไม่ประกันตัว สิทธิในการประกันตัว ทุกคนควรได้รับหมด เรารู้สึกว่า การออกไปเรียกร้อง การออกไปแสดงออกอะไรถึงผู้มีอำนาจ ถึงรัฐบาล  ถึงคนที่ผู้ปกครองประเทศ เรารู้สึกว่ามันสามารถกระทำได้ สิทธิการประกันตัวถือว่า เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่ว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรา มันชัดเจนมากเลยว่า ทุกวันนี้ค่อนข้างที่ไม่ยุติธรรม เอนเอียงไปในทางสองมาตรฐานมากกว่าด้วยซ้ำ เราก็เลยตอนนั้นค่อนข้างจะเครียด

ถามว่า ทุกวันนี้เครียดไหม ก็เครียดนะ แต่รู้สึกในเมื่อเครียดแล้วมันจะทำอะไรได้กับการเครียดไปเฉยๆ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมมันสองมาตรฐานมากกว่านี้ก็รู้สึกว่าทำอะไรได้ก็ทำ ในตอนนี้มันก็ 50:50 ไม่รู้ว่าจะติดเมื่อไหร่ แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าสู้อยู่ยังไงก็ไม่แพ้แน่นอน อาจจะรู้สึกว่า นานหน่อย เจ็บหน่อย เหนื่อยหน่อย แต่ว่าพี่อานนท์ นำภาก็ยังอยู่ข้างในก็คือว่า ไม่ได้ประกันก็แค่เข้าไปเจอเพื่อน”

เขาเล่าว่า ในการถูกดำเนินคดีการเมือง สิ่งที่เขาต้องสูญเสียไปคือ เสียเวลาที่ต้องใช้ชีวิตวัยรุ่นหรือใช้ชีวิตธรรมดากับเพื่อนแต่ก็ไม่ได้เสียดายเวลาที่เสียไป และทำให้มีปัญหากับครอบครัวตอนแรกการมาร่วมการชุมนุมทำให้เขาต้องย้ายออกจากบ้านของย่า “ถ้าไปม็อบนะไม่ต้องมาอยู่บ้านย่าเลยเราก็เลยบอกว่าได้ไม่อยู่ก็ได้ เราก็เลยเก็บของจากบ้านย่าไปนอนบ้านยายแล้วก็บอกยายว่าถ้าหนูจะไปม็อบยายต้องให้ตังค์หนูนะ หลังจากนั้นยายก็สนับสนุนมาจนเรามาอยู่กับพี่[ทะลุฟ้า]เราก็เลยรู้สึกว่า พอเรามาอยู่กับพี่ที่บ้านเราก็ค่อนข้างที่จะไม่ยุ่งละแบบตามใจแล้วกัน… จนสองสามปีที่ผ่านมาที่บ้านกลับมาคุยกับเราทักมาเห็นสิ่งที่เราทำแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ทำไปเพราะความฉาบฉวย…ก็เลยรู้สึกว่า สิ่งที่ทำกันมาไม่ว่ามันจะสำเร็จไม่สำเร็จแต่ว่าถ้าเราทำต่อไปก็ยังไงซักวันนึงมันก็จะเห็นผลแน่นอน”

ในตอนท้ายปูนกล่าวว่า ในวันนัดพิพากษาครั้งนี้เขาคงจะไปพร้อมกันกับเพื่อนๆ ไม่อยากให้ครอบครัวไปด้วยเพราะไม่อยากให้เป็นห่วง แต่คุยกับเขาอยู่ทุกวัน แม่ก็จะเป็นห่วงตลอดแล้ว ยังรู้สึกว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดในเมื่อเราเลือกแล้ว